ชี้ปัญหาฝุ่นควันทวีความรุนแรงเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ชี้ปัญหาฝุ่นควันทวีความรุนแรงเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

วช.ร่วมกับศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มช.และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้จัดงานประชุมวิชาการขึ้นในหัวข้อ “ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะสร้างความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันซึ่งเป็นปัญหามลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อมเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะระหว่างภาควิชาการและภาคประชาชนที่ให้ความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันซึ่งเป็นปัญหามลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่โรงแรมแคนทารี ฮิลส์ เชียงใหม่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ภายใต้โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้จัดงานประชุมวิชาการขึ้นในหัวข้อ “ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” (Transboundary Impact of Climate Change and Haze Pollution) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะระหว่างภาควิชาการและภาคประชาชนที่ให้ความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันซึ่งเป็นปัญหามลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อันมีสาเหตุปัจจัยมาจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ดร.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไม่เพียงแต่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิทธิขั้นพื้นฐาน และผลกระทบข้ามพรมแดนในภูมิภาค ที่ประชาชนจะต้องให้ความตระหนัก

โดยเวทีวิชาการนี้ให้ความสำคัญในประเด็นปัญหาฝุ่นควันที่หลากหลายที่จะเปิดมุมมองของผู้เข้าร่วมให้เห็นถึงสภาพของปัญหาที่มีมิติที่ซับซ้อน ช่วยให้ผู้เข้าร่วมและสาธารณะได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงในประเด็นที่กว้างขึ้น โดยการจัดงานครั้งนี้จะเป็นเนื้อหาในการบรรยายและแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมเป็น 2 ช่วง เช้าและบ่ายโดยในภาคเช้า เป็นการบรรยาย 2 หัวข้อหลักคือ 1)“Climate Change and Haze Resilience in Southeast Myanmar” และ 2) “Transboundary Haze Pollution in Northern Thailand and ASEAN” โดยบรรยายภาคภาษาอังกฤษและมีล่ามแปลเป็นภาษาไทยและเมียนมา

ในส่วนของภาบ่าย เป็นการบรรยาย 5 ประเด็นหลักคือ 1) ฝุ่นควันข้ามแดน ปัญหาทางอุตุนิยมวิทยาที่สัมพันธ์ต่อการเกิดปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือของไทย, 2) การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพด ร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ (burn scar) และจุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่ 3 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว, 3) ข้าวโพด ปัญหาการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดินของภาคการเกษตรและมลพิษข้ามพรมแดน, 4) มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม, 5) มลพิษฝุ่นละเอียด PM 2.5 ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ, 6) นโยบายสาธารณะและมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน

“เวทีในครั้งนี้เราอยากให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจถึงปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนและปัญหาโลกร้อน ซึ่งในส่วนของฝุ่นควันข้ามแดนก็ต้องไปพูดถึงบทบาทของธุรกิจที่ไปลงทุนส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งปัจจุบันกระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาและลาว ซึ่งเราไม่ได้โทษบริษัทเอกชนแต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรที่จะเห็นมิติของการเปลี่ยนแปลงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรหรือทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าแล้วมีความรับผิดชอบมากขึ้น นอกจากนี้จะเห็นว่าปัญหาฝุ่นควันก็ยังเกิดจากกลไกของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าในบางพื้นที่ไม่ได้มีการเผาแต่ฝุ่นควันก็วิกฤตทั้งนี้เพราะฝุ่นควันจากการเผาในบางพื้นที่ถูกลมพัดหอบเข้ามา ขณะที่สภาพอากาศก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ฝุ่นควันไม่กระจายตัวด้วย”ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวและว่า

การจัดประชุมลักษณะนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะทำให้เราได้มองเห็นปัญหาได้กว้างมากขึ้น ซึ่งมีนักวิชาการและนักวิจัย รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งก็มีทั้งนักวิชาการสายวิทยาศาสตร์และที่ทำงานเกี่ยวกับการเมืองในเมียนมา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของหลายรัฐในเมียนมาและทำวิจัยเกี่ยวกับสภาพความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ มีนักวิจัยสมทบอีกหลายส่วนที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในครั้งนี้

ด้านรศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาเรื่องเมืองและนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า เป็นที่ยอมรับว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในหลายพื้นที่สร้างปัญหาในเรื่องฝุ่นควันที่มีการเผาตอซัง แต่ก็น่าเห็นใจว่าไม่ได้มีทางเลือกอื่นให้คนในพื้นที่เหล่านั้นปลูกทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะทำให้เขามีรายได้ในการเลี้ยงครอบครัว เพราะในอดีตที่ผ่านมามีการเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดทดแทนการปลูกฝิ่น แต่มาอีกยุคสมัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กลายเป็นปัญหาในอีกรูปแบบและทำให้มองเห็นว่าการแก้ปัญหาลดพื้นที่ปลูกฝิ่นไปปลูกข้าวโพดเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืน

“ในเรื่องนี้จึงอยากสะท้อนและให้มองถึงนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแบบนี้ จะมองเฉพาะพื้นที่ไม่ได้ แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้การผลักดันหรือการส่งเสียงจากประชาชนไปถึงหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนัก ในฐานะที่เราเป็นประชากรของโลกจำต้องส่งเสียงให้พร้อมกัน เพราะตอนนี้ทางสหประชาชาติเองก็มีนโยบายว่าในการลงทุน ทำอย่างไรให้บริษัทเอกชนมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าก็จะมีเวทีพูดคุยกันในเรื่องนี้อีกที”

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาเรื่องเมืองและนโยบายสาธารณะ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามาตรการว่าด้วยข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยปัญหามลพิษทางอากาศยังไม่ได้ผล ซึ่งการผลักดันในระดับอาเซียนและภูมิภาคจะต้องดำเนินการให้บรรลุผลให้ได้ โดยเฉพาะมาตรการที่ทุกประเทศจะต้องนำไปปฏิบัติเหมือนกัน และในอนาคตก็จะมีการหารือกับทางกองกำลังของเมียนมาเช่น กลุ่มของเจ้ายอดศึกหรือKNU ซึ่งพบว่ามีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นบริเวณกว้างว่าจะทำอย่างไร แต่ติดปัญหาตรงขณะนี้ยังไม่มีกรณีตัวอย่างของพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จว่าเมื่อไม่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว ในสภาพพื้นที่แบบนั้นจะส่งเสริมอาชีพอะไรที่ทำให้เขามีรายได้มาทดแทน

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการจัดประชุม ฯ ครั้งนี้ ได้มีการกล่าวสรุปถึงสถานการณ์และความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือโดยสภาลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงสถานการณ์ของปัญหาฝุ่นควันในปัจจุบันให้ประชาชนได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ด้วย.

You may also like

นบ.ยส.35วางมาตรการเข้มช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลังสถานการณ์ยาเสพติดเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จับตากลุ่มขบวนการแฝงมาในรูปแบบนักท่องเที่ยว

จำนวนผู้