“กฤษฎา”บี้ 2 บริษัทรับเหมาก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ “แม่แตง-แม่งัดฯแม่กวง”ปรับแผนเร่งงาน หลัง 2 ปีผลงานล่าช้ากว่าแผนถึง 30%

“กฤษฎา”บี้ 2 บริษัทรับเหมาก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ “แม่แตง-แม่งัดฯแม่กวง”ปรับแผนเร่งงาน หลัง 2 ปีผลงานล่าช้ากว่าแผนถึง 30%

“กฤษฎา”บี้ 2 บริษัทรับเหมาก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ “แม่แตง-แม่งัดฯแม่กวง”ปรับแผนเร่งงาน หลัง 2 ปีผลงานล่าช้ากว่าแผนถึง 30% สั่งกรมชลประทานเรียกผู้รับเหมามาคุย พร้อมตั้งรองอธิบดีฯควบคุมติดตามอีกชุด เผยอีก 3 เดือนมาดูผลงานอีกรอบ ยอมรับแค่ส่งสัญญาณเตือนครั้งแรก ย้ำขยายสัญญาดูเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

วันนี้(20 กรกฎาคม 2561) ที่สำนักก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และคณะได้รับฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แต่ง-แม่งัดฯ-แม่กวง จากนั้นได้นำคณะพร้อมสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด บริเวณอุโมงค์ส่งน้ำเข้า – ออก หมายเลข 2 บ้านทับเดื่อ ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แต่ง-แม่งัดฯ-แม่กวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นโครงการที่กรมชลประทานดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในลุ่มน้ำปิงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมของการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเข้า – ออก หมายเลข 2 เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำระยะที่ 2 ช่วงลำน้ำแม่แตง(ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน) – เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร ระยะทาง 25.624 กิโลเมตร ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 28.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมอาคารประกอบ ขณะนี้สามารถขุดเจาะได้ระยะทางประมาณ 1,264 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้า ร้อยละ 14       หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถผันน้ำส่วนเกินจากลำน้ำแม่แตง ประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ก่อนจะส่งต่อไปยังอ่างเก็บน้ำ   เขื่อนแม่กวงอุดมธาราตามลำดับ

ในส่วนของความคืบหน้าการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำระยะที่ 1 ช่วงเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล – เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.20 เมตร ระยะทางประมาณ 22.975 กิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านอุโมงค์สูงสุด 26 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมอาคารประกอบ ปัจจุบันสามารถขุดเจาะได้ระยะทางประมาณ 6,319 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้า ร้อยละ 33.577 ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูฝน ที่มีปริมาณน้ำเกินความต้องการเฉลี่ยได้ประมาณ   ปีละ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทั้ง 2 ระยะ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามกำหนด ในปี 2564 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160     ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ประมาณ 175,000 ไร่ ส่วนในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่

นอกจากนี้ ยังสามารถสนับสนุนการใช้น้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ได้อีกประมาณ 14,550 ไร่ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จากปีละ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งกรมชลประทาน ได้นำระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเตือนภัยจากน้ำหลากที่เกิดขึ้นล่วงหน้า เพื่อบรรเทาอุทกภัยและลดความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อีกด้วย

ทางด้านนายกฤษฎา บุญราช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างที่อุโมงค์ส่งน้ำระยะ 2 บ้านทับเดื่อ ว่า โครงการก่อสร้างนี้ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปลายปี 2558 และจะสิ้นสุดโครงการในปี 2564 สาเหตุที่ต้องมาติดตามในครั้งนี้ก็เนื่องจากว่าตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนผ่านมาเกือบ 2 ปีผลงานโดยรวมควรได้ร้อยละ 53  แต่ปรากฏว่าผลงานรวมที่ได้จริงเพียงร้อยละ 24  ซึ่งมีความล่าช้าอย่างมากถึง 30%

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า สาเหตุที่การก่อสร้างล่าช้า ทราบว่ามีปัญหาในช่วงระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการขอใช้พื้นที่ จึงส่งผลให้ผลงานในงวดงานที่ผ่านยังล่าช้ากว่าแผน ทั้งนี้ได้กำชับไปยังกรมชลประทาน ในฐานะผู้ควบคุมงานแล้ว โดยขอให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามอีกชุดหนึ่ง โดยมอบหมายให้รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายก่อสร้างเป็นประธานกรรมการฯ เพื่อประเมินว่าหลังจากนี้ไปจนถึงปี 2564 จะมีอะไรบ้างที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้ก่อสร้างไม่ทัน และให้ดูสาเหตุแห่งความล่าช้าด้วยว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคหรือเรื่องของการบริหาร การประสานงาน และเกิดในพื้นที่หรือข้ามกระทรวง ติดขัดตรงไหนทางกระทรวงฯจะได้ช่วยเป็นผู้ดูแลประสานให้

“ผมสั่งให้อธิบดีกรมชลประทานในฐานะผู้ว่าจ้างกระตุ้นเตือนผู้รับจ้างทั้ง 2 บริษัท โดยให้ใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อผลักดันโครงการที่ล่าช้าให้เสร็จทันในปี 2564  ส่วนเรื่องการที่จะขยายเวลาออกไปหรือไม่จะดูเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น โดยให้ประชุมเร่งด่วนภายใน 3 วัน  ส่วนการตั้งคณะทำงานติดตามให้ดำเนินการภายใน 7 วัน”นายกฤษฎา กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ถ้าหากโครงการอุโมงค์ผันน้ำแห่งนี้สำเร็จ จะถือเป็นอุโมงค์ผันน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ที่รัฐก่อสร้างลอดทั้งใต้ดิน ใต้น้ำ ใต้ภูเขาและผืนป่า  โดยมีการศึกษาออกมาแล้วว่าไม่มีผลกระทบ และจะได้เป็นตัวอย่างของโครงการของภาครัฐที่เป็นโครงการขนาดใหญ่แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้หากโครงการฯสามารถดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนได้ เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงน้ำของชาวบ้านใน 2 จังหวัด

นายกฤษฎา บอกด้วยว่า ในส่วนของการก่อสร้างที่อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนาที่ต้องรอให้มีการเพิกถอนก่อนนั้น เรื่องนี้ไม่ต้องรอมติคณะรัฐมนตรีแล้ว รอเพียงแต่ให้คณะกรรมการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติ ซึ่งทราบว่าทางกระทรวงฯกำลังเร่งพิจารณาให้ในเร็วๆนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงผู้รับจ้างเหตุที่ทำงานล่าช้าหรือไม่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรบอกว่าในวันนี้ทั้งรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงได้ ลงพื้นที่มาติดตามงานด้วยตัวเอง จากนี้ไปอีก 3 เดือนจะมาดูอีกรอบว่ามีความคืบหน้าแค่ไหน ซึ่งการมาครั้งนี้จะถือว่าเป็นการมาเตือนครั้งแรกก็ย่อมเป็นได้ไปได้ อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกฝ่ายใช้ความสามารถให้เต็มกำลัง ซึ่งจะมีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่จะช่วยการกำกับดูแล .

 

 

 

You may also like

ม้งดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้านประกาศปิดป่าตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ พร้อมทำแนวกันไฟตั้งแต่ 5-15 ก.พ.68

จำนวนผู้