คณะแพทย์ มช.ยืนยันพร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 พัฒนางานมาตรฐานสากล“โรงเรียนแพทย์ในดวงใจเพื่อยกระดับสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน”

คณะแพทย์ มช.ยืนยันพร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 พัฒนางานมาตรฐานสากล“โรงเรียนแพทย์ในดวงใจเพื่อยกระดับสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน”

คณะแพทย์ มช. แถลงข่าวประจำปี 2566 ยืนยันพร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 พัฒนางานมาตรฐานสากล ด้วยวิสัยทัศน์ “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจเพื่อยกระดับสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.66 ที่ชั้น 15 อาคารสุจิณฺโณ คณะแพทย์ มช. ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. นำคณะผู้บริหารแถลงข่าวประจำปี 2566 ในการสรุปภารกิจด้านต่างๆ รวมทั้งความก้าวหน้าด้านงานและวิจัยสำคัญ โดยกล่าวว่า ในปี 2566 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการจัดอันดับที่ 251-300 ของโลกด้านการแพทย์ (QS Ranking by Medicine) โดยมีผลงานวิจัยระดับนานาชาติที่ใช้ต่อยอดในการรักษาพยาบาล เพิ่มขึ้นเป็น 800 ฉบับต่อปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผ่านการประเมินคุณภาพจากองค์กรภายนอก ทั้งด้านการศึกษา การวิจัย การบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการผ่านการประเมินรับรองคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาลขั้นก้าวหน้า (Advanced HA หรือ AHA) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) เป็นครั้งที่ 2 รวมถึงมีกลุ่มโรคที่ผ่านการประเมินรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค (Disease Specific Certification – DSC) เพิ่มขึ้นตามลำดับ

โดยในปี 2566 มีโรคสำคัญที่ผ่านการประเมินนี้เพิ่มขึ้น 5 โรค และอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจ คือ ทีมทรัพยากรบุคคลได้รับรางวัล Thailand HR Innovation Award 2023 ระดับ Silver Award ในโครงการ Modernized Workforce : Empowering Associate Instructors for Unparalleled Impact ซึ่งเป็นโครงการอาจารย์ระบบใหม่ของคณะฯ รวมถึงมี 2 หน่วยงานที่ผ่านการประเมินการสอบเทียบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ของห้องปฏิบัติการทดสอบ และสอบเทียบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ และผ่านการรับรองมาตรฐานสากล ด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISO/IEC 27001 : 201)ด้านการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยชั้นนำด้านสุขภาพหลายศูนย์ เช่น ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย(CMUTEAM) เพื่อการวิจัยเชิงลึกด้านพันธุกรรม, ศูนย์โรค Thalassemia ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยโรคประจำถิ่นของภาคเหนือ, ศูนย์วิจัย Global Health ซึ่งมีความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก(WHO Collaboration) ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด, ศูนย์ทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์นี้มีผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวในหญิงวัยหมดประจำเดือน(FROL) และผลิตภัณฑ์ Coffogenic Drink ปลายปี 2566 ศูนย์วิจัยภาวะแวดล้อมและโรคจากการทำงาน(RCEOM) และศูนย์วิจัยพื้นฐานอายุยืนอย่างมีสุข(FLOW) จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพตามพันธกิจหลักของคณะฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ​สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายัง คณะแพทยศาสตร์ ได้ทรงทอดพระเนตรเยี่ยมศูนย์และกิจกรรมต่าง ๆ ที่โดดเด่นของคณะฯ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พวกเราชาวสวนดอกมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

ในด้านของการรักษาภิกษุสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลสงฆ์แห่งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้เปิดดำเนินการมากว่า 5 ปี ขณะนี้มีพระภิกษุสงฆ์มารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสถิติพระสงฆ์ที่เข้ารับการรักษาจำนวนมากกว่า 10,000 รูปต่อปี ในปีนี้มีการต่อยอดการบริการในโครงการ กุฏิชีวาภิบาล ณ วัดศรีโสดา เพื่อดูแลพระภิกษุสงฆ์อาพาธที่วัด โดยมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่นอกจากนี้ ในปี 2566 คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้มีการแถลงข่าวกิจกรรมสำคัญ จำนวน 6 ครั้ง ประกอบด้วย โครงการแพทย์ทางไกล Telemedicine, ความสำเร็จในการเปลี่ยนตับอ่อนครั้งแรกในภาคเหนือ, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรบำรุงผิวในหญิงวัยหมดประจำเดือน (FROL), ห้องฉุกเฉินระบบdigital ครบวงจร, ระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย Wheel-B และห้องสวนและตรวจหัวใจ MRI ที่ห้องฉุกเฉินใหม่


ในปีนี้มีการปรับปรุงอาคารต่าง ๆ ของคณะฯ หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” ซึ่งขณะนี้หลายชั้นได้ดำเนินการปรับปรุงเสร็จแล้ว และคาดว่าจะเสร็จทั้งหมดกลางปี 2567 หลังการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” จะเป็นอาคารผู้ป่วยที่มีความทันสมัยตามมาตรฐานสากล อีกทั้งมีการปรับปรุงห้องฉุกเฉินระบบ Digital ครบวงจร พร้อมกับการติดตั้งห้องสวนและตรวจหัวใจ MRI ในห้องฉุกเฉิน การปรับปรุงห้องผ่าตัดชั้น 2 และชั้น 3 รวมถึงห้องคลอด ซึ่งโครงการที่กล่าวมาจะแล้วเสร็จทั้งหมดกลางปีหน้า ส่วนงานปรับปรุงที่ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย หอผู้ป่วยสังเกตอาการ, ห้องตรวจผู้ป่วยนอกจิตเวช,ห้องแรงดันลบ ณ อาคารนิมมานเหมินทร์, ห้องปลูกถ่ายไขกระดูก, ห้องผ่าชันสูตรศพ, ห้องแพทย์ทางไกล (Telemedicine) รวมถึงสวน 60 ปี สวนดอก ที่สร้างความสดชื่นให้กับผู้ป่วยและบุคลากรชาวสวนดอกอีกด้วย


ส่วนโครงการบ้านพักญาติผู้ป่วยสวนดอก ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก เริ่มเปิดให้บริการได้ประมาณ 2 ปี พบว่า มีญาติผู้ป่วยมารับบริการเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ญาติผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อการรับบริการระดับสูงมาก อีกทั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก ทำงานประสานงานกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในโครงการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จำนวนหลายครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามคำปฏิญาณของมูลนิธิในการช่วยเหลือสังคมในถิ่นทุรกันดาร ในส่วนโครงการที่คณะแพทยศาสตร์ มช. จะได้ดำเนินการในปี 2567 สืบเนื่องจากมลภาวะ PM2.5 ทางคณะฯ มีนโยบายที่จะทำให้อาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” เป็นอาคารนำร่อง ที่ทำระบบปราศจาก PM2.5 ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยเริ่มโครงการที่ชั้น 5 และจะขยายจนครบทุกชั้นในอนาคต

ในโอกาสจะครบ 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มช. จะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งคอนเสิร์ตการกุศล “สวนดอกร้อยดวงใจ 65 ปี แพทย์เชียงใหม่” ซึ่งบรรเลงโดยวง Thai Symphony Orchestra ณ สนามฟุตบอล คณะแพทยศาสตร์ มช. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในการก้าวสู่ปีที่ 65 อย่างมั่นคงของเรา จะเป็นไปตามคำสอนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง”ทั้งนี้จึงพร้อมก้าวสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจของประชาชนทุกคน บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มช. ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ในการเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจของคณะแพทยศาสตร์ มช. ในโอกาสครบ 65 ปี ในครั้งนี้.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้