จาก“ต้นกาแฟของพ่อ” สู่สวนของคนร่ำรวยความสุข

จาก“ต้นกาแฟของพ่อ” สู่สวนของคนร่ำรวยความสุข

“นี่คือกาแฟสายพันธุ์อราบิก้าต้นแรก ที่ได้รับพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากทรงมีพระราชดำริให้ชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าม้ง ปลูกกาแฟทดแทนฝิ่น อันเป็นสารเสพติดให้โทษ ซึ่งเมื่อนำมาปลูกแล้ว ผมก็ประคบประหงมอย่างดี จนสามารถขยายพันธุ์ปลูกได้ทั้งสวน เก็บเมล็ดสดขายทุกปี ประมาณปีละ 3 ตันเป็นอย่างต่ำ สร้างรายได้ให้ครอบครัว จนสามารถดำรงชีพได้อย่างสบาย แม้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกจะตกต่ำ” พ่อหยั่ว ถนอมรุ่งเรือง ม้งวัย 70 ปี เจ้าของสวน พื้นที่ 7 ไร่ ที่มีชื่อว่า “สวนขี้จุ๊” ในบ้านแม่สาใหม่ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บอกเล่าด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้เหนือศีรษะ ก่อนอธิบายต่อไปว่านับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ทำให้พวกเราที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มีโอกาสลืมตาอ้าปาก และได้อยู่อาศัยอย่างสงบสุขบนผืนแผ่นดินไทยปัจจุบัน สวนขี้จุ๊ของพ่อหยั่ว นอกจากจะมีต้นกาแฟ เป็นพืชหลักแล้ว ยังปลูกพืชอื่นๆ เช่น อโวคาโด ลิ้นจี่ พลับ พืชสมุนไพร ไผ่ชนิดต่างๆ ผสมผสานกันไป แบบป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวทางที่ ร.9 ทรงแนะนำไว้ นั่นคือมีทั้งไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ แถมยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ สร้างสมดุลของระบบนิเวศภายในสวนได้เป็นอย่างดีพ่อหยั่ว ย้ำว่าใช้เวลามากกว่า 40 ปี กว่าจะมาถึงวันนี้ ตั้งแต่ลูกชายคนโตยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ ช่วยหิ้วถุงต้นกาแฟขึ้นมาที่สวนได้แค่ทีละถุงเพื่อให้พ่อปลูก ตอนนี้ลูกชายอายุ 40 ปีเศษแล้ว ถ้าถามถึงผลลัพธ์จากการทำสวนว่ารวยไหม ตอบได้เลยว่าไม่รวย แต่มีความสุขในทุกๆ วัน ที่ได้เข้ามาในสวนเกษตรธรรมชาติแห่งนี้ เพราะเดิมชาวบ้านบอกว่าเป็น “สวนขี้จุ๊” คือทำแล้วไม่ได้อะไร เป็นการลงทุนลงแรงที่สูญเปล่า แต่กาลเวลาที่ผ่านมา ย่อมเป็นบทพิสูจน์ความเพียร ที่ทำให้กลุ่มคนแปลกใจ ก่อนจะหันมาให้ความสนใจปฐมบทของการทำสวน เนื่องจากเป็นพื้นที่ภูเขา มีความลาดชัน จึงต้องเคี่ยวกรำขนหินทีละก้อนขึ้นมาเรียงเป็นขั้นบันได เช่นเดียวกับพื้นที่สวนที่ถูกวางหินกั้นเป็นชั้นๆ ป้องกันน้ำหลากลงมากัดเซาะหน้าดิน และทำให้ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาทับถม กลายเป็นปุ๋ยอย่างดีให้กับต้นไม้ ทั้งยังรักษาความชุ่มชื้นของผิวดิน จนอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี หากตอนแรกไม่เพียงแค่ชาวบ้านที่ส่ายหน้าหัวเราะ แม้แต่คุณแม่ของพ่อหยั่วเองก็ปรามาสว่ามัวแต่เรียงหิน ต่อไปจะไม่มีอะไรกิน ทว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็เห็นได้ชัดว่าสวนแห่งนี้มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ จนสามารถดำรงชีวิตประจำวันแบบสบายๆ แทบไม่ต้องใช้เงินซื้ออาหาร เกือบทุกอย่างมาจากในสวน ยกเว้นเนื้อกับไข่สวนขี้จุ๊ในวันนี้ จึงเป็นตัวอย่างของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เกิดความมั่นคงทางอาหารต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ที่จะนำไปเป็นแบบอย่างที่ดีอีกด้วย.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้