จี้แขวงทางหลวงเชียงใหม่ 2 ปรับแบบก่อสร้างตั้งแต่แยกรินคำ-วัดเจ็ดยอดใหม่ชี้แบบเดิมไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยต่อผู้สัญจร

จี้แขวงทางหลวงเชียงใหม่ 2 ปรับแบบก่อสร้างตั้งแต่แยกรินคำ-วัดเจ็ดยอดใหม่ชี้แบบเดิมไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยต่อผู้สัญจร

เครือข่ายภาคประชาชนทำหนังสือขอผอ.แขวงทางหลวงฯ 2 วอนแก้ไขปรับปรุงแบบก่อสร้างช่วงสี่แยกรินคำ-วัดเจ็ดยอดตามข้อตกลง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชน ประหยัดงบฯและสอดคล้องกับความเป็นชุมชนหนาแน่น ชี้การออกแบบให้มีทางขนานคั่นแยกทางเท้ากับทางจักรยาน และพื้นที่สีเขียวทำให้สูญเสียศักยภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่สำหรับประชาชน ไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งต่อผู้สัญจร

ผศ.ดร.วสันต์  จอมภักดี ผู้ประสานงาน คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม  (คอปส.) ได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 เพื่อขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงแบบก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 ช่วงสี่แยกรินคำ – วัดเจ็ดยอด  โดยกล่าวว่า ตามที่สำนักงานทางหลวงที่ 1 และแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ได้ทำการออกแบบก่อสร้างปรับปรุงถนนทางหลวงหมายเลข 11 ช่วงสี่แยกรินคำ – วัดเจ็ดยอด ระยะทางประมาณ 800 เมตร ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ได้นำเสนอรูปแบบต่อที่ประชุมซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารของเทศบาลตำบลช้างเผือก ชุมชน ภาคประชาชนและสื่อมวลชน ณ วัดเจ็ดยอด ไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561  แล้วนั้น

ภาคประชาชน ชุมชนและองค์กรภาคีทุกเครือข่าย (รวมทั้งเครือข่ายคนพิการ เครือข่ายจักรยาน เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายวัฒนธรรมและเครือข่ายพุทธศิลป์) ได้มีการประชุมร่วมกันหลายครั้งเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ รวมทั้งได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทางหลวงและด้านภูมิสถาปัตยกรรม พิเคราะห์แล้วมีความเห็นและข้อเสนอควรให้มีการปรับปรุงแบบก่อสร้างบางส่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชน ประหยัดงบประมาณ และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่น มีทั้งคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวนานาชาติ มีวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ คือ วัดเจ็ดยอดมหาโพธาราม โบราณสถาน โรงเรียน สถานพยาบาล ร้านค้า โรงแรม หอพัก อาคารบ้านเรือน ลำน้ำห้วยแก้ว ลำน้ำห้วยช่างเคี่ยน ทางน้ำธรรมชาติ ลำเหมือง ประตูระบายน้ำ พื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่ของเดิม

ทั้งนี้ภาคประชาชน ชุมชนและองค์กรภาคีทุกเครือข่ายเห็นด้วยกับแนวคิดที่แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 เสนอต่อที่ประชุม ให้ถนนช่วงที่ 1 (จากชุมชนสนสวย – ประตูน้ำห้วยช่างเคี่ยน) และช่วงที่ 2 (จากประตูน้ำห้วยช่างเคี่ยน – วัดเจ็ดยอด) ประกอบด้วย (1) ทางเท้าขนาด 3.45 เมตรและ 2.00 เมตร (2) ทางขนาน ขนาด 3.25+3.25+2.50 เมตร (3) ทางจักรยาน ขนาด 3.00 เมตร (4) พื้นที่สีเขียวขนาด 7.00-8.00 เมตร (5) มีการรักษาสภาพร่องน้ำเปิดของเดิมและต้นไม้ไว้ตลอดแนวถนน

แต่อย่างไรก็ตาม การออกแบบให้มีถนน (ทางขนาน) มาคั่นแยกทางเท้าออกจากทางจักรยาน และพื้นที่สีเขียวนั้น จะทำให้สูญเสียศักยภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่สำหรับประชาชน (place for people) เกิดความไม่สะดวกและความไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งต่อผู้สัญจรทางเท้าซึ่งมีปริมาณมากทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ใช้จักรยาน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การที่ต้องย้ายต้นไม้ใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น และมีคุณค่าทางจิตวิญญาณของคนเมืองเชียงใหม่ นอกจากจะทำให้สูญเสียพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ ยังเกิดกระแสคัดค้านและไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ของประชาคมเชียงใหม่

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มีการปรับจัดวางรูปแบบและตำแหน่งองค์ประกอบของถนนใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และเกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชนผู้สัญจรทางเท้า ซึ่งรวมถึงคนพิการ คนป่วย ผู้สูงอายุ เด็กนักเรียนนักศึกษา พระภิกษุสามเณร นักท่องเที่ยวและคนใช้จักรยาน และต้นโพธิ์ใหญ่สามารถอยู่ที่เดิมได้อย่างสง่างามและปลอดภัย รวมทั้งเป็นการสนองแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ได้ให้ไว้ ณ จังหวัดเชียงใหม่ คือ “จะให้มีการสร้างถนนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) และความปลอดภัย (Safe)” ด้วย

โดยถนนช่วงที่ 1 ให้รวมทางเท้า (3.45 เมตร) ทางจักรยาน (3.00 เมตร) เข้าด้วยกันเป็น 6.45 เมตร มีทางขนาน (3.25+3.25+2.50 เมตร) และรักษาต้นไม้ตามแนวสองฝั่งของทางน้ำที่มีอยู่เดิมไว้ทั้งหมด สำหรับถนนช่วงที่ 2 ให้เบนทางขนาน (ขนาด 3.25+3.25+2.50 เมตร) สำหรับรถยนต์ออกไปอยู่ชิดกับทางหลัก และให้รวมทางเท้า ทางจักรยานและพื้นที่สีเขียวให้อยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน มีขนาดความกว้างรวมกันประมาณ 14-16 เมตร (ซึ่งมีขนาดความกว้างใกล้เคียงกับที่ภาคเอกชน/ห้างสรรพสินค้าเมญ่า ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่เขตทางหลวง และใกล้เคียงกับขนาดของทางเท้าฝั่งตรงกันข้ามของถนนสายนี้ ช่วงตั้งแต่ซอยโรงแรมฟูรามา-แยกรินคำ) ทั้งนี้ให้แบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ของทางเท้าออกเป็นสัดส่วน

โดยปรับใช้ตัวเลขขนาดตามที่แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ได้เสนอต่อที่ประชุม คือ     ทางเท้าสำหรับคนทั่วไป 3.45 เมตร  ทางเท้าสำหรับคนพิการ (คนตาบอด คนใช้รถเข็น สามารถสัญจรสวนทางกันได้) 2.00 เมตร         ทางจักรยาน (สวนทางกันได้) 3.00 เมตร พื้นที่สีเขียว 7.00-8.00 เมตร และขอให้มีการจัดสร้างทางลาดสำหรับผู้ใช้ทางเท้าบริเวณเชื่อมต่อกับถนนให้ได้มาตรฐานเป็นสากลด้วย ขอให้มีการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาทดแทนของเดิมที่ถูกตัดไปและปลูกเพิ่มใหม่บนพื้นที่สีเขียว ตั้งแต่ประตูระบายน้ำและจากต้นโพธิ์ขนานไปกับแนวถนนจนถึงวัดเจ็ดยอดและขอให้ติดไฟสัญญาณจราจรโดยเฉพาะสำหรับผู้เดินข้ามถนนและจักรยาน (pedestrian and cyclist crossing lights) ตรงบริเวณสี่แยกรินคำ เนื่องจากมีผู้ใช้ทางข้ามถนนเป็นจำนวนมาก และมักมีความสับสนระหว่างสัญญาณของคนกับรถ จนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง.

ณัชชา  อุตตะมัง ข่าว.

You may also like

กกท. จัดการแข่งขันกรีฑาระดับโลก “Golden Fly Series Qualifier Chiang Mai 2024 presented by SAT”หวังสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่น

จำนวนผู้