เชียงใหม่ / เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ จับมือสภาลมหายใจ และนักวิชาการ มช. ยื่นศาลปกครอง ฟ้อง “นายกฯ ตู่” – กก.วล.-ก.ล.ต. ไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินแก้ไขวิกฤติ PM 2.5เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 เม.ย.66 กลุ่มต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่ ประมาณ 40 คน ได้แก่ เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และประชาชน ได้เดินทางไปรวมตัวบริเวณข้างศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ และทำกิจกรรมชูป้าย เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 รวมทั้งแสดงละคร เรียกร้องความสนใจจากผู้สัญจรผ่านไปมาต่อมาได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ ก่อนที่ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มช. จะเป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำอะไร ทำไมปอดถึงพัง : ประชาชนภาคเหนือฟ้องนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤติฝุ่น PM 2.5” เนื้อหาโดยสรุป คือเครือข่าย และองค์กรต่างๆ ข้างต้น ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤติฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้เปิดให้ประชาชนลงชื่อสนับสนุนการฟ้องตั้งแต่วันที่ 7-9 เม.ย.66 ที่คณะนิติศาสตร์ มช. ซึ่งมีผู้มาร่วมลงชื่อ 727 คน และลงชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนประเด็นการแก้ไขวิกฤติฝุ่นจากเกษตรพันธะสัญญาอีก 980 คน ขณะเดียวกันยังได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมอื่นๆ เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และกรีนพีซ ประเทศไทย เป็นต้นโดยการฟ้องร้องครั้งนี้ มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลัก คือ 1. ฟ้องนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เมื่อนายกฯ ไม่ได้ใช้อำนาจนี้ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์ 2.ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 แต่ 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบไม่เห็นความคืบหน้า และปัญหายังคงรุนแรงอยู่ ถือเป็นความผิดปกติที่ไม่อาจยอมรับได้3. ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ที่มีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยทั้งนี้การใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศสะอาด คือสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และสิทธินี้ได้รับการรับรองผ่านกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่รัฐละเลยที่จะทำตามกฎหมายนั้น การฟ้องร้องในครั้งนี้จึงเรียกร้องสิ่งที่เรียบง่ายและเป็นพื้นฐาน ร่วมทางคืนสิทธิขั้นพื้นฐาน ทวงคืนปอดให้ประชาชนร่วมกัน.