ทีเส็ปเดินหน้าผลักดันเชียงใหม่ ไมซ์โมเดลผนึกหน่วยงานและพื้นที่ดึงไมซ์สู่ชุมชน

ทีเส็ปเดินหน้าผลักดันเชียงใหม่ ไมซ์โมเดลผนึกหน่วยงานและพื้นที่ดึงไมซ์สู่ชุมชน

ทีเส็ปขานรับนโยบายกระจายรายได้ของรัฐบาล สร้างแนวทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่การเป็นศูนย์กลางไมซ์ซิตี้ภาคเหนืออย่างครบวงจร ผสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่และชุมชนส่งเสริมสหกรณ์ชุมชนเป็นสถานที่จัดงานไมซ์หวังสร้างโอกาสและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน คาดปี 61 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 1 แสนล้านบาท

วันที่ 29 พ.ย.61 ที่สโมสรยิมคานา จังหวัดเชียงใหม่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่พร้อมด้วยนายจิรุตม์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน)หรือทีเส็ปและนายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมกันแถลงข่าว “เชียงใหม่ ไมซ์โมเดล…แนวทางการพัฒนาเมืองสู่การเป็นไมซ์เพื่อชุมชน”โดยมีสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บมีแนวทางในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาล โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2561-2564) ในยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจนั้น มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกของไทยในการประกาศแผนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์การพัฒนาไมซ์ระดับจังหวัด

“เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาในระดับสูง มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการลงทุน ตลอดจนมีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ จากการจัดอันดับการประชุมของ International Congress and Convention Association (ICCA) ในด้านสถิติการจัดอันดับเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวงที่มีการประชุมมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พบว่าในปี พ.ศ. 2559 เชียงใหม่มีการจัดประชุมนานาชาติเป็นอันดับที่ 2 โดยมีการประชุมถึง 20 ครั้ง ส่วนตัวเลขนักเดินทางกลุ่มไมซ์และรายได้ในปี พ.ศ. 2560 เชียงใหม่มีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศจำนวน 50,881 คน สร้างรายได้ 4,700.38 ล้านบาท และมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศไทยเดินทางไปจัดกิจกรรมหรือเข้าร่วมจำนวน  2,210,000 คน สร้างรายได้ 4,914.53 ล้านบาท “ผอ.ทีเส็ป กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ในปีนี้ได้มีการยกระดับงานไมซ์ของจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นระดับนานาชาติมากขึ้น ขยายขอบเขตของผู้เข้าร่วมงานและรูปแบบกิจกรรมที่จะส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจได้เพิ่มขึ้น อาทิ งาน Chiang Mai Bloom 2018 มีผู้เข้าร่วมงาน 183,569 คน และงาน Lanna Expo มีผู้เข้าร่วมงาน 253,504 คน นอกจากนี้ยังมีการประมูลสิทธิ์การจัดงานในระดับนานาชาติเข้ามาจัดที่เชียงใหม่อย่างต่อเนื่องทุกปี อาทิ งาน World Robot Olympaid 2018 จัดในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีผู้เข้าร่วมงาน 10,000 คน งาน Chiangmai Design Week 2018 จัดเดือนธันวาคม 2561 คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงาน 400,000 คน งาน Endoscopic and Laparoscopic Surgeons of Asia 2019 คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงาน 1,500 คน และงาน Route Asia 2020 คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงาน 1,200 คน

ภายใต้วิสัยทัศน์ “นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม จุดหมายปลายทางของกิจกรรมไมซ์ในเอเชีย” ของเชียงใหม่นั้น ทีเส็บได้กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาเชียงใหม่สำหรับการเป็นไมซ์ซิตี้ไว้ 4 ด้าน ได้แก่ (1) ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาดไมซ์แบบมุ่งเป้าตลาดเอเชีย (2) ยกระดับการบริการ พัฒนาสินค้าท่องเที่ยว สร้างโอกาสในกิจกรรมไมซ์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม (3) พัฒนา ยกระดับบุคลากรที่มีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ และ (4) ยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการจัดกิจกรรมไมซ์

จากแผนงาน จะดำเนินการสร้างโปรแกรมหลังการประชุมที่เป็นมาตรฐาน ตลอดจนการพัฒนากิจกรรมและการบริการที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ถือเป็นรูปแบบสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้เป้าหมายการกระจายรายได้ผ่านอุตสาหกรรมไมซ์นั้นบรรลุผล ซึ่งเชียงใหม่ได้มีการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไมซ์ใหม่ในพื้นที่เมืองไมซ์ใน 6 เส้นทางหลัก ได้แก่ (1) เส้นทางกิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ อาทิ สหกรณ์นิคมแม่แตงจำกัด อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก และการเปิดประสบการณ์ผู้เข้าร่วมประชุมให้ได้สัมผัสกับวิถีชุมชนท้องถิ่น ณ ชุมชนบ้านออนใต้ ซึ่งได้รับการพัฒนาให้เป็น “ต้นแบบโครงการหมู่บ้าน CIV” ถือว่าเป็นการนำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิม มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ โดยการออกแบบ สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ตลอดจนบริการต่างๆ ในชุมชน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เรียนรู้ ชมการสาธิตขั้นตอนการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่างๆ และทดลองลงมือทำด้วยตนเอง (2) เส้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การเยี่ยมชมสถานที่ที่มีประวัติความเป็นมาและมีความผูกพันทางจิตใจของคนรุ่นหลัง อาทิ บ้านถวาย กิจกรรรมบวชต้นยางนา อ. สารภี ซึ่งเป็นประเพณีโบราณของชาวจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันเหลือต้นยางนาตั้งแต่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ไปถึงบ้านปากกองประมาณ 900 กว่าต้นเท่านั้น และการประดิษฐ์โคมและทดลองประดิษฐ์โคมโดยปราชญ์ชาวบ้าน “แม่ครูโคมล้านนา” หรือ“แม่ครูบัวไหล คณะปัญญา” แห่งชุมชนเมืองสาตรหลวง ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มงานหัตถกรรมการทำโคมล้านนาโดยประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุพื้นบ้าน  (3) เส้นทางการสร้างทีมเวิร์ค ผ่านกิจกรรมที่ระดมความคิด แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อาทิ ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า และปันผลฟาร์ม เป็นต้น (4) เส้นทางการผจญภัย ที่มีกิจกรรมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก (5) เส้นทางกิจกรรมนำเสนออาหารไทย ในทุกการจัดงานที่หลากหลาย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเดินทาง อาทิ บ้านหัวฝาย ชุมชนบ้านดงบัง เป็นต้น และ (6) เส้นทางการจัดงานและกิจกรรมหรูหรามีระดับ ซึ่งเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังเพื่อมอบประสบการณ์สุดพิเศษในกับนักเดินทางกลุ่มไมซ์

นอกจากนี้ในด้านมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย Thailand MICE Venue Standard หรือ TMVS ที่ใช้เป็นเกณฑ์การประเมินสถานประกอบการไมซ์นั้น ในเชียงใหม่มีสถานประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าวในประเภทห้องประชุมและประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้าจำนวนถึง 18 แห่ง รวม 51 ห้อง

ทางด้านนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การเกษตรและหัตถอุตสาหกรรม การบริการสุขภาพ การศึกษา บนพื้นที่ 12.56 ล้านไร่ ประชากร 1.74 ล้านคน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) จำนวน 222,434 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากภาคบริการถึงร้อยละ 70.3 และกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาจังหวัด โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเป็น “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง” และกำหนดตำแหน่งการพัฒนา (Positioning) ให้เป็นเมืองศูนย์กลาง

การท่องเที่ยวและบริการสากล : MICE CITY, Wellness City โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2560 จำนวน 95,899.6 ล้านบาท นักท่องเที่ยว จำนวน 10,084,521 คน โดยคาดการณ์ในปี 2561 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 104,820.36 ล้านบาท ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัด และการสนับสนุนการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวให้เกิดแรงดึงดูดในการท่องเที่ยวจึงสำคัญและต้องได้รับการสนับสนุน

โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม MICE จังหวัดเชียงใหม่ (2561 – 2564)  เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง จังหวัดเชียงใหม่ /สสปน./คณะกรรมการส่งเสริมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรม MICE จังหวัดเชียงใหม่/ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และได้กำหนดวิสัยทัศน์เป็น “เชียงใหม่ นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม จุดหมายปลายทางของกิจกรรมไมซ์ในเอเชีย” (Chiang Mai The Splendid City of Culture and Destination for MICE in Asia)

ขณะที่นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในขณะนี้มีชุมชนสหกรณ์จำนวน 35 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้เป็นจุดหมายปลายทางใหม่รองรับการจัดงานไมซ์ในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นที่มีความพร้อมได้พัฒนาสู่การรองรับธุรกิจการจัดงานไมซ์ โดยเฉพาะในเรื่องของการเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชุมชน หรือจัดกิจกรรมพิเศษตามวาระโอกาสขององค์กรธุรกิจต่างๆ ด้วยจุดแข็งด้านความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานทรัพยากรและอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ซึ่งจะสามารถเป็นช่องทางใหม่ด้านรายได้แก่สหกรณ์ได้ โดยในเชียงใหม่มีสหกรณ์ที่มีความพร้อมดำเนินงานดังกล่าว ได้แก่ สหกรณ์นิคมแม่แตงจำกัด และสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ที่จะเป็นพื้นที่นำร่องในการนำเอางานเพื่อสังคมของภาคเอกชนเข้าไปจัดกิจกรรมได้ 

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวด้วยว่า การส่งเสริมให้เกิดการศึกษาดูงานในชุมชน นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีสหกรณ์การเกษตรเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นตัวกลางประสานงานรวบรวมสินค้าพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทั้งสินค้าประเภทอาหาร ขนมพื้นบ้าน สินค้าเกษตรแปรรูปและอื่น ๆ ที่ชุมชนภาคภูมิใจมาเล่าสู่ผู้ที่เข้าไปศึกษาดูงาน ขณะเดียวกันจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแข็งแกร่ง นับว่าเป็นการส่งเสริมให้การพัฒนาเชียงใหม่เป็นเมืองไมซ์ซิตี้ศูนย์กลางของภาคเหนืออย่างเต็มรูปแบบ สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้