นักวิชาการชี้ขบวนการชาวนาชาวไร่ภาคเหนือสร้างจุดเปลี่ยนสู่สังคมไทย

นักวิชาการชี้ขบวนการชาวนาชาวไร่ภาคเหนือสร้างจุดเปลี่ยนสู่สังคมไทย

เชียงใหม่ (23 ธ.ค.60) / ถกขบวนการเคลื่อนไหวชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือ นักวิชาการชี้เป็นบทสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายคือเครื่องมือของผู้มีอำนาจ แต่ก็ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทย จึงเป็นภาระที่ต้องร่วมผลักดันกันต่อไป แม้จะอยู่ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

เมื่อเวลา 13.00-16.30 น. วันที่ 23 ธ.ค.60 กลุ่มลานยิ้ม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับโครงการสหวิถีเพื่อชุมชนยั่งยืน มูลนิธิไชยวนา จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อขบวนการเคลื่อนไหว ชาวนา ชาวไร่ ในภาคเหนือ ที่หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ ภายในบ้านสวนอัญญา ของมูลนิธิไชยวนา ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย Dr.Tyrell Haberkorn ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนศึกษา Wisconsin-Madison University. USA. และ ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มช. ดำเนินรายการโดย นายชัยพงษ์ สำเนียง นศ.ปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มช. โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2ช่วงคือ ในช่วงเช้าเป็นพิธีทางศาสนาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อดีตสหาย ที่เสียชีวิต และในภาคบ่าย เริ่มกิจกรรมด้วยการแสดงละครของกลุ่มลานยิ้ม จากนั้นเป็นการการเสวนาหัวข้อ “ขบวนการเคลื่อนไหว ชาวนา ชาวไร่ ในภาคเหนือ”

Dr.Tyrell กล่าวถึงงานวิจัยของตนเองว่า มาจากความสนใจพื้นที่ จ.เชียงใหม่และภาคเหนือ เนื่องจากมีโอกาสได้ศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 จึงเกิดความสงสัยว่าในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะภาคเหนือมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ ซึ่งการทำวิจัยนั้นเริ่มต้นศึกษาจากเอกสารท้องถิ่น เช่นสื่อสิ่งพิมพ์ในสมัยนั้น และสิ่งที่ได้พบคือการต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ใน จ.ลำพูน และเชียงใหม่ ที่เรียกร้องให้เจ้าของที่ดินและเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามกฎหมายควบคุมการเช่านา ที่นับเป็นเรื่องที่แปลกมาก และจากนั้นกลายเป็นกระบวนการต่อสู้ของชาวนา อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความรุนแรงต่อผู้นำชาวนา และเมื่อประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลสมัยนั้นออกมาปกป้องประชาชนที่ถูกสังหาร แต่กลับกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไปจับกุมผู้นำชาวนาแทนที่จะไปจับมือสังหาร และอีก 1 ปีหลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 กล่าวโดยสรุปกฎหมายยังคงเป็นเครื่องมือของผู้ที่มีอำนาจหรือคนกลุ่มหนึ่งไม่ใช่เป็นของประชาชน การลุกขึ้นปฏิวัติของชาวนาในช่วงนั้นจึงกลายเป็นการปฏิวัติที่ถูกตัดตอน

ด้าน ศ.ดร.อรรถจักร กล่าวว่า อดีตของพวกเราที่เคยเคลื่อนไหวระหว่าง ปี พ.ศ. 2516 – 2523 จะไม่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการ แต่สิ่งสำคัญคือความทรงจำของพวกเราที่เคยทำร่วมกัน และยังเป็นความทรงจำของสังคมด้วย ซึ่งอดีตเหล่านั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์กล่าวตรงกันว่าสังคมไทยไม่มีวันย้อนกลับไปก่อนปี พ.ศ. 2516 ได้อีกแล้ว    การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2516 – 2523 ยังได้เปลี่ยนระบบความคิดของสังคมไทยและเปลี่ยนจากราษฎรเป็นพลเมือง และสถานะพลเมืองนี้ถูกลดไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้สร้างจินตนาการใหม่ของรัฐต่อชนบท ซึ่งภายหลังทำให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับชนบทไปอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังได้เห็นพหุวัฒนธรรมในสังคมมากขึ้น ทั้งเรื่องการแต่งกายของสตรี สิทธิ เพศ เป็นต้น

ทั้งนี้ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ไม่มีการยุติ ดังนั้นจึงเป็นภาระของพวกเราที่จะผลักดันต่อไปและสืบทอดต่อคนรุ่นใหม่ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไพศาลและลึกซึ้ง แม้ในวันนี้เราจะถูกพลังบางอย่างเหนี่ยวรั้งให้กลับไปอยู่ยุคของประชาธิปไตยครึ่งใบก็ตาม.

You may also like

ครึ่งเดือนแรกม.ค.เชียงใหม่อนุมัติคำร้องชิงเผากว่า 1 พันไร่อีกเกือบ 2 หมื่นไร่จ่อคิว

จำนวนผู้