24 ปีกับการเข้าร่วมก่อตั้งกลุ่มรักษ์เชียงของ 21 ปีกับการทำงานอย่างต่อเนื่องกับการปกป้องแม่น้ำโขง ทำให้นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และครูใหญ่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำซึ่งเกิดจากการพัฒนา คือ เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานตอนบน เป็นระยะเวลาร่วม 20 ปี จากเขื่อนตัวที่1ถึงตัวที่ 11 และอีก 2 เขื่อนตอนล่าง ไซยะบุรี และดอนสะโฮง ผลกระทบสะสมเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนหนัก ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ตามฤดูกาล ซึ่งเกิดจากการควบคุมด้วยผลประโยชน์ของเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้า การเดินเรือพาณิชย์ในฤดูแล้งตรรกะหรือความคิดของผู้สร้างเขื่อน ให้เหตุผลและประโยชน์ของเขื่อนจีนมาตลอดว่าการกักน้ำในฤดูน้ำหลาก และการปล่อยน้ำในฤดูแล้ง คือการช่วยเหลือประเทศท้ายน้ำ เป็นการป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน และภัยแล้งในฤดูแล้ง ความคิดและการกระทำเช่นนี้ จึงทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและผู้คนตลอดสายน้ำโขงธรรมชาติแม่น้ำโขงการขึ้นลงของระดับน้ำจะเป็นไปตามฤดูกาล น้ำจะเริ่มยกระดับเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน ฝนใหม่มาเดือนพฤษภาคม สีของแม่น้ำจะเริ่มขุ่นขึ้นจากตะกอน น้ำยกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน น้ำจะถึงระดับสูงสุดในรอบปี ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่แม่น้ำโขงจะไหลย้อนเข้าไปในแม่น้ำสาขา บางปีน้ำมากแม่น้ำโขงจะไหลย้อนเข้าไป 30 ถึง 40 กิโลเมตร (แม่น้ำอิง สาขาแม่น้ำโขง) เมื่อแม่น้ำโขงเอ่อไหลเข้าไปแม่น้ำสาขาทำให้น้ำเข้าไปท่วมพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ หรือ Wetland ปลาจำนวนมากมายจากแม่น้ำโขงจะอพยพเข้าไปวางไข่ ขยายพันธุ์ และเจริญเติบโตในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากตามแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง และปริมาณน้ำจำนวนมากมายที่ไหลย้อนเข้าไปก็จะถูกเก็บกักอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำในหนองน้ำธรรมชาติ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นและรักษาระบบนิเวศน์ของแม่น้ำจากการที่เขื่อนกักน้ำในฤดูน้ำหลาก ทำให้น้ำต้นทุนจากฝน และการละลายของหิมะที่เคยไหลลงมาตลอดหายไป ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจึงต่ำกว่าที่เคยเป็นมาแต่ในอดีต เมื่อน้ำไม่ไหลเข้าไปยังแม่น้ำสาขา ปลาไม่สามารถเข้าไปวางไข่ พื้นที่ชุ่มน้ำน้ำไม่ท่วมเกิดความแห้งแล้ง มีปัญหากับปริมาณน้ำในแม่น้ำสาขา การปล่อยน้ำในฤดูแล้งก็เป็นเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้า และการเดินเรือ การปิด-เปิดเขื่อน ทำให้เกิดการผันผวนของระดับน้ำ มีผลกระทบกับระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิต เช่น นกท้องถิ่น นกอพยพจากตอนเหนือจำนวนมากที่อาศัยและวางไข่ตามหาด ดอนเมื่อเขื่อนปล่อยน้ำรังนกที่วางไข่ตามหาดดอนก็ถูกน้ำท่วม ตลอดสายน้ำโขง“การผันผวนของระดับน้ำ การหายไปของตะกอนปรากฏการณ์แม่น้ำโขงเป็นสีฟ้า ทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่งแม่น้ำโขง จึงเกิดการก่อสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งตลอดชายแดนแม่น้ำโขง เป็นระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร กิโลเมตรละประมาณ 120 ล้านบาท หมดเงินจากภาษีประชาชนเกือบแสนล้านบาท ทั้งยังเกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศริมฝั่งอีก และสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งจากการศึกษา ของเอ็มอาร์ซี พูดถึงตะกอนจะหายไปจากปากแม่น้ำโขง 97 เปอเซนต์ หากมีการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตามแผน นี่คือหายนะของแม่น้ำโขงกำลังคืบคลานเข้ามา” ครูตี๋ กล่าวย้ำปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงต้องได้รับการแก้ไข ด้วยการมองแม่น้ำโขงคือแม่ของพวกเรา ไม่ว่า จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชาเวียดนาม เราดื่มน้ำสายเดียวกัน ประชาชนต่างได้รับผลกระทบ แต่การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย นับตั้งแต่อดีตยังไม่เคยมี อำนาจและการควบคุมแม่น้ำโขงคงอยู่แต่ในกลุ่มรัฐ และกลุ่มทุนเท่านั้น การทำให้เกิดความเป็นธรรมกับแม่น้ำโขงและคนลุ่มน้ำโขงประเทศที่เข้าร่วมพัฒนาแม่น้ำโขงต้องมองเห็นประชาชน มองเห็นแม่น้ำคือชีวิต คือการแบ่งปันการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม่น้ำโขงหาใช่เป็นของกลุ่มทุน หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง.