บีโอไอเผยภาพรวมการลงทุนภาคเหนือปี 60 มูลค่าลงทุนกว่า 12,917 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานเกือบ 9 พันคน ขณะที่พื้นที่การลงทุนยังกระจุกส่วนใหญ่ยังอยู่ในเชียงใหม่และลำพูน
นางอรพิน สวัสดิ์พานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 เชียงใหม่ หรือบีโอไอเชียงใหม่ เปิดเผยถึงภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนภาคเหนือ ในปี 2560 ว่า บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ปี 2560 จำนวน 1,456 โครงการ เงินลงทุน 641,978 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 105,721 คน สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ในปี 2560 มีจำนวน 88 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน 12,917 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 8,880 คน
สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมรวมทั้งประเทศ ในปี 2560 มีการอนุมัติให้ทั้งสิ้น 1,227 โครงการ เงินลงทุน 625,080 ล้านบาท สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ในปี 2560 มีการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น 93 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน 11,299 ล้านบาท ส่วนการออกบัตรส่งเสริมทั้งประเทศในปี 2560 มีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 1,294 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน 732,030 ล้านบาท ในส่วนของภาคเหนือมีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 87 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน 13,466 ล้านบาท
ผอ.บีโอไอเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในภาคเหนือ ปี 2560 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 88 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 12,917 ล้านบาท อุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 51 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 58 ของโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน และมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 5,378 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน หากพิจารณาในแง่ของจำนวนโครงการพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร จำนวนโครงการและมูลค่าของเงินลงทุนสูงสุด โดยมีรายละเอียดดังนี้
อุตสาหกรรมดิจิทัล มีคำขอรับการส่งเสริม 11 โครงการ เงินลงทุน 19 ล้านบาท ได้แก่ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมการเกษตร มีคำขอรับการส่งเสริม 33 โครงการ เงินลงทุน 2,415 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตแป้งแปรรูป กิจการผลิต Oil Spa กิจการอบพืชไซโลและอาหารสัตว์ กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร กิจการผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ กิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ กิจการผลิตน้ำมันหรือไขมันจากพืช กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร กิจการชำแหละสัตว์ กิจการคัดคุณภาพ พืช ผัก ผลไม้ และกิจการเลี้ยงปศุสัตว์
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม มีคำขอรับการส่งเสริม 7 โครงการ เงินลงทุน 2,944 ล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร มีคำขอรับการส่งเสริม จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 209 ล้านบาท
สำหรับการขอรับการส่งเสริมในพื้นที่ภาคเหนือแยกรายหมวดพบว่า หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร ได้รับความสนใจลงทุนมากที่สุดในภาคเหนือในปี 2560 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการผลิตหรือถนอมอาหาร กิจการคัดคุณภาพ บรรจุ เก็บรักษา พืช ผัก ผลไม้ ผลิตน้ำมันหรือไขมันจากพืช กิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ เป็นต้น มีคำขอรับการส่งเสริม 33 โครงการ มูลค่ารวม 2,415 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19 ของจำนวนโครงการทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีคำขอรับการส่งเสริม 25 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 6,626 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28 ของจำนวนโครงการทั้งหมด
โดยเป็นโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวน 47 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด เงินลงทุน 3,915 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดและโครงการต่างชาติลงทุนทั้งสิ้น มีจำนวน 36 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41 ของจำนวนโครงการ ที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด เงินลงทุน 8,743 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด
ในส่วนของที่ตั้งโครงการลงทุน ยังพบว่าการลงทุนกระจุกตัวในภาคเหนือตอนบนมากที่สุด ซึ่งในปี 2560 คำขอรับการส่งเสริมกระจุกตัวในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด โดยจังหวัดเชียงใหม่มี 31 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 35 ของจำนวนโครงการทั้งหมด เงินลงทุน 6,007 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 47 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด และการลงทุนในจังหวัดลำพูนมีมากเป็นอันดับที่ 2 โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 15 โครงการ เงินลงทุน 3,750 ล้านบาทและ
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน ปี 2560 มีการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ดังนี้ พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม มีคำขอรับการส่งเสริม 9 โครงการ เงินลงทุน 3,227 ล้านบาท คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ ในภาคเหนือในปี 2560โครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กิจการผลิตซอฟต์แวร์ จำนวน 7 โครงการ เงินลงทุน 294 ล้านบาท โครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเครื่องจักร จำนวน 6 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 100 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิต Modified starch กิจการผลิต Rice Grading
โดยโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมในภาคเหนือ ปี 2560 มีการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวน 93 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 11,299 ล้านบาท อุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 65 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 70 ของโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน และมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 2,783 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตัวอย่างโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมที่สำคัญและสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในปี 2560 อาทิ
อุตสาหกรรมดิจิทัล มีจำนวน 40 โครงการ เงินลงทุน 507 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตซอฟต์แวร์ 40 โครงการ เงินลงทุน 663 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกษตร มีจำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 1,870 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตอาหารกึ่งพร้อมรับประทานจากธัญพืช กิจการผลิตพืชผักอบแห้งบรรจุภาชนะผนึก กิจการเมล็ดพันธุ์ ข้าวโพด กิจการคัดคุณภาพเมล็ดกาแฟ กิจการผลิตน้ำผลไม้สกัดเข้มข้น กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ กิจการผลิตน้ำมัน หรือไขมันจากพืช กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร กิจการผลิต Oil Spa กิจการอบพืชไซโลและอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม มีจำนวน 4 โครงการ เงินลงทุน 406 ล้านบาท
ส่วนการอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการพิเศษ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเครื่องจักร จำนวน 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ และชิ้นส่วนเหล็กกลึงแต่ง (MACHINING) ที่หล่อขึ้นรูปเองตั้งโครงการอยู่ที่ จังหวัดลำพูน โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบคลัสเตอร์ กิจการผลิตซอฟต์แวร์และ Digital Content กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง(High Value – added Software) ศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม(Innovation Incubation Center) รวมจำนวน 10 โครงการ เงินลงทุน 87 ล้านบาท ตั้งโครงการอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่
โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น จำนวน 6 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 72 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตพืชผักอบแห้งบรรจุภาชนะผนึกแห้ง ตั้งโครงการอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปางและจังหวัดอุทัยธานี โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กิจการผลิตซอฟต์แวร์ จำนวน 28 โครงการ เงินลงทุน 532 ล้านบาท ตั้งโครงการอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดนครสวรรค์.