“บ้านสวย เมืองสุข” ที่ป่าตาลประชาสันติ เปลี่ยนวิถีชีวิตให้ปลอดภัยจากสารเคมี

“บ้านสวย เมืองสุข” ที่ป่าตาลประชาสันติ เปลี่ยนวิถีชีวิตให้ปลอดภัยจากสารเคมี

ปัจจุบันการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ได้มีการพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างเช่นที่บ้านป่าตาลประชาสันติ หมู่ 2 ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาการใช้สารเคมีจำนวนมาก เพราะประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทั้งไร่ นา และสวน โดยเฉพาะปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ถือเป็นสารเคมีหลักที่ทุกๆ ครัวเรือนต้องใช้“ถ้าเรายังเป็นแบบนี้ต่อไป สารเคมีเหล่านี้ก็จะทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม และทำลายชีวิตเรา”  ประหยัด รักประชา ผู้ใหญ่บ้านป่าตาลประชาสันติ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านให้เลิกใช้สารเคมี

โดยสิ่งแรกที่ทำ คือส่งเสริมชาวบ้านปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคในครัวเรือน ช่วยลดรายจ่ายและได้รับประทานอาหารที่สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ใหญ่บ้านป่าตาลประชาสันติ กล่าวว่า ความเจ็บป่วยของชาวบ้าน ทั้งโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน ล้วนเกี่ยวข้องกับการบริโภคทั้งนั้น เพราะพืชผักที่นำมาบริโภคเต็มไปด้วยสารเคมีตั้งแต่การเริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว สารเคมีเหล่านั้นก็ตกค้างในร่างกายของเราทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้ตระหนักในการบริโภคพืชผักปลอดสาร กระทั่งทราบข่าวว่าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจในเรื่องการส่งเสริมปลูกผักปลอดสาร จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการและชักชวนผู้นำชุมชนและชาวบ้านร่วมกันทำภายใต้ชื่อโครงการ ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักในครัวเรือน บ้านป่าตาลประชาสันติ” เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีแหล่งอาหารปลอดภัยซึ่งชาวบ้านเป็นคนปลูกเองกับมือ ช่วยลดรายจ่าย อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนได้ตระหนักและลดใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมอื่นๆ อีกด้วยเมื่อถามว่าชาวบ้านน่าจะคุ้นเคยและปลูกผักไว้กินเองหรือไม่ ผู้ใหญ่ประหยัด บอกว่า เมื่อก่อนคนก็จะคิดแค่ว่า อยากกินผักก็หาจอบมาขุดดิน เอาเมล็ดผักหยอดลงไป แล้วรดน้ำ รอผักโตก็เก็บกินได้ แต่ความเชื่อนั้นไม่น่าจะใช้ได้ เพราะมีทั้งที่ออกบ้าง ไม่ออกบ้าง หรือผักโตแล้วไม่สวยไม่งาม โครงการนี้จะทำให้ชาวบ้านรู้ถึงวิธีการปลูกผักที่ถูกต้อง เรียกได้ว่า ถ้าทำตาม ปลูกอะไรก็ได้กินแน่นอน“เราจัดอบรมการปลูกผักแบบครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมดิน การทำปุ๋ยชีวภาพ การดูแล การเก็บเกี่ยว เป็นต้น  ชาวบ้านต้องดูแลดิน หมักดินก่อนการปลูก  ถ้าดินดี ผักก็จะดี แล้วจะต้องดูแลอย่างไร ใช้น้ำหมักชีวภาพตอนไหนอย่างไร และที่สำคัญการเรียนรู้ธรรมชาติของผักว่าจะขึ้นดีในหน้าไหน นั่น คือ ปลูกผักให้เหมาะสมกับฤดู เช่น กะหล่ำ ผักชี ผักกาด ขึ้นดีในหน้าหนาว ส่วนถั่วฝักยาว หรือผักเลื้อย เหมาะกับฤดูแล้ง เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านละเลย ปลูกแบบตามมีตามเกิดกันมาตลอด ผลผลิตจึงไม่เป็นดั่งใจคิด” ผู้ใหญ่ประหยัด เล่านอกจากนี้ทางกรรมการหมู่บ้านป่าตาลประชาสันติ ยังได้ตกลงร่วมกันที่จะนำพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ทำเป็นแปลงปลูกผักสาธิตให้ชาวบ้านได้มาเรียนรู้ และให้ชาวบ้านทำเสวียนไว้ในบ้าน เพื่อเก็บใบไม้ เมื่อครบ 3-4 เดือนก็จะนำมารวมกัน เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักนำไปใช้ในแปลงเกษตรต่อไป เพราะทุกขั้นตอนของการปลูกผักจะต้องปลอดสารเคมี ดังจะเห็นได้จากป้าย “เขตปลอดยาฆ่าหญ้า! ในหมู่บ้าน” ซึ่งติดทั่วหมู่บ้านหลังจากดำเนินโครงการมาได้ระยะหนึ่ง ขณะนี้ความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านป่าตาลประชาสันติเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม ทุกครัวเรือนจะปลูกผักทั้งในบ้านและหน้าบ้าน เปลี่ยนที่รกร้างให้เป็นแปลงผัก ซึ่งจะมีการส่งเสริมให้ปลูกไม่น้อยกว่า 5 ชนิด มีการคัดเลือกครัวเรือนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงและหน้าบ้านน่ามอง 10 ครัวเรือน ใครไปใครมาก็ชมว่าหน้าบ้านสวยงาม สองข้างถนนเต็มไปด้วยสีเขียวของพืชผัก และอนาคตคาดหวังให้บ้านป่าตาลประชาสันติเป็นแหล่งผลิตผักปลอดสารส่งให้โรงแรมต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่ง“ความเปลี่ยนแปลงนี้มาพร้อมกับความสามัคคีที่ชาวบ้านร่วมใจกันทำ เขาเกิดความภาคภูมิใจ ผักที่ปลูกกินเขาก็แลกเปลี่ยนกัน ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องขาย ช่วยลดรายจ่ายไปได้เยอะ ขณะเดียวกันสุขภาพก็ดีขึ้น ลดอัดตราการป่วยที่มาจากการบริโภคไปได้ส่วนหนึ่ง แค่ทุกๆ เช้า เย็น เขาได้ลุกขึ้นมารดน้ำผัก มันก็เป็นความสุขแล้ว” ผู้ใหญ่บ้านป่าตาลประชาสันติ กล่าวส่วน สุพรรณ ไชยราช ชาวบ้านป่าตาลประชาสันติ ซึ่งเป็นช่างซ่อมแอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในลูกบ้านที่เข้าร่วมโครงการ และได้กันพื้นที่รอบบ้านประมาณ 1 ไร่ เพื่อปลูกผักปลอดสารเคมีไว้บริโภคเองในครัวเรือน

“ผักที่ปลูกเช่น กะหล่ำ บล็อกโคลี่ ผักชี และอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งล้วนแล้วเป็นผักที่สามารถเก็บกินได้ทุกวัน ช่วงหน้าแล้งก็ดูแลยากหน่อยเพราะผักไม่ค่อยโต  แต่เป็นผักที่เราปลูกเอง เวลากินก็รู้สึกสบายใจไม่ต้องกังวล เรื่องสารเคมี  หากเหลือก็เอาไปขาย หรือเอาไปแบ่งกันกิน” เขา บอกด้วยตระหนักถึงสุขภาพบวกกับพลังความสามัคคี ที่ชาวบ้านป่าตาลประชาสันติร่วมแรงร่วมใจกัน การส่งเสริมปลูกผักปลอดสารจึงประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อวันนี้มีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการมากถึง 100 ครัวเรือน จากที่ตั้งเป้าเพียง 85 หลังคาเรือน

เป้าหมาย “บ้านสวย เมืองสุข” ของชาวบ้านป่าตาลประชาสันติ คงไม่เกินไกลเอื้อม

You may also like

ม้งดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้านประกาศปิดป่าตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ พร้อมทำแนวกันไฟตั้งแต่ 5-15 ก.พ.68

จำนวนผู้