เชียงใหม่ (22 มี.ค.60) /“ประจักษ์” ชี้ช่วง 10 ปี รัฐประหาร-ความเหลื่อมล้ำจากโลกาภิวัตน์ ทำประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย ขณะที่ไทยแม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองถึง 85 ปี แต่สลับกับเผด็จการมาตลอด แนะหากต้องการพัฒนา ปชต.ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ให้มีสิทธิเสรีภาพ-ปลอดภัย ในการใช้ชีวิตเมื่อเวลา 13.30-16.30 น. สำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “โลกแปรปรวน ประชาธิปไตยปรวนแปร (จริงหรือไม่?)” ที่ห้อง PSB 1101 อาคารเรียน คณะรัฐศาสตร์ฯ มช. โดยมี ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร และนางมานิตา หนูสวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ฯ มช. ร่วมเสวนา ซึ่งมีนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังประมาณ 200 คน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิชาการพัฒนาประชาธิปไตย (Democratization)ผศ.ประจักษ์ กล่าวว่า ระบอบการเมืองการปกครองในโลกมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการ ทั้งยังแบ่งออกเป็นหลายสาขา หลายรูปแบบ ประชาธิปไตยในการเมืองมีส่วนประกอบมาจากหลายองค์ประกอบ ประชาธิปไตยในการศึกษานั้นมีหลากหลายมิติ และมีการคิดค้นพัฒนาทฤษฎีประชาธิปไตยอยู่เรื่อยๆภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เผด็จการเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้นนักวิชาการได้คาดเดากันว่าระบอบประชาธิปไตยจะขยายสาขาไปทั่วโลก แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานั้น (ตั้งแต่ 2547) เกิดการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ระบอบประชาธิปไตยเริ่มถดถอยจนเข้าขั้นวิกฤติ และถูกท้าทายจากระบอบเผด็จการมากขึ้น ประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตย อัตราผู้ไปเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองลดลง หลายประเทศเกิดการรัฐประหาร และอีกสาเหตุหนึ่งคือปัจจัยโลกาภิวัตน์ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดความเหลื่อมล้ำ ส่งผลให้องค์กรระหว่างประเทศ เข้ามามีบทบาทต่อรัฐบาลในการบริหาร และกำหนดนโยบาย ประชาชนจึงต้องการผู้นำนโยบายประชานิยม แต่ถึงแม้ช่วงดังกล่าวจะเกิดการรัฐประหารหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ก็มีความแตกต่างที่ปัญหาและเงื่อนไขเช่น ประเทศไทยมีความพิเศษกว่าประเทศอื่นคือ ไทย มีการรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 8 ปี โดยกองทัพ แต่ไทยไม่ใช่ประเทศโลกที่ 3 และยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่เกิดรัฐประหาร ขณะเดียวกันเมื่อมองอย่างถี่ถ้วน แม้ไทยจะมีประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ.2475 – 2560 แต่ไทยอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพียงไม่กี่ปี ตลอด 85 ปีมีความเปลี่ยนแปลงตลอด บางช่วงเป็นประชาธิปไตย สลับกับบางช่วงที่เป็นเผด็จการ หรือมีประชาธิปไตยเพียงครึ่งใบ
การคงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการในไทยนั้น เปรียบเหมือนดังการแกว่งของลูกตุ้มซึ่งจะผลัดกันอยู่ไม่นาน และเชื่อว่าไทยจะไม่มีเผด็จการยาวนานเหมือนดังประเทศอื่น เพราะส่วนหนึ่งการเปลี่ยนแปลงเกิดจากความขัดแย้งของชนชั้นนำเอง ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มประชาชนที่คิดว่าการรัฐประหาร หรือระบอบเผด็จการจะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยได้ การแปรปรวนของประชาธิปไตยในไทยจึงค่อนข้างจะซับซ้อน “ระบอบการปกครองทางการเมือง ก็เหมือนซอฟต์แวร์ที่รัฐบาลแต่ละประเทศเลือกใช้ ซึ่งหัวใจสำคัญในหลักประชาธิปไตยคือ ประชาชนสามารถตรวจสอบและควบคุมรัฐบาลได้ในแนวตั้ง และมีหลักการถ่วงดุลอำนาจจากองค์กรต่างๆ ในแนวนอน ทำให้รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำอยู่เสมอ เพราะผู้นำอาจถูกลงโทษได้ แต่ทั้งนี้ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด หากเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด และไม่ได้รับรองว่าจะได้คนดีเข้ามาปกครองประเทศ แต่ถ้าระบบการตรวจสอบถ่วงดุลล้มเหลว ผู้นำใช้อำนาจในทางที่ผิดระบอบประชาธิปไตยก็จะไม่ต่างจากระบอบเผด็จการ” ผศ.ประจักษ์ กล่าวอย่างไรก็ตามแม้ระบอบประชาธิปไตยจะสร้างความเท่าเทียมในทางการเมือง แต่ไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมทางด้านเศรษฐกิจได้ การพัฒนาประชาธิปไตย จึงควรให้ความสนใจกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนด้วย และยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจน สร้างกฎกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เพราะทุกระบอบการปกครองทางการเมืองในโลก จะประสบผลสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ทั้งด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจ กับการทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และความปลอดภัย ในการใช้ชีวิต.