ในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด การเฝ้าระวัง และดูแลสุขภาพของตัวเอง ตลอดจนคนในชุมชนให้แข็งแรง เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น ถือเป็นหลักปฏิบัติสำคัญ จึงนับเป็นความโชคดี ที่ชาวบ้านนาล้อม หมู่ 10 ตำบลป่าแดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการบริโภคผักปลอดสารเคมีในชุมชน จึงมีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง ทำให้รับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีชุม แสนทน ผู้ใหญ่บ้านนาล้อม เล่าว่า เดิมชาวบ้านซื้อผักจากรถพุ่มพวง ที่มีต้นทางมาจากต่างจังหวัด เช่น อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ขณะเดียวกันก็พบว่าแนวโน้มผู้ป่วยมะเร็งจากโรงพยาบาลชาติตระการ สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการกินอยู่ของคนในชุมชน ที่บริโภคผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี ดังนั้นจึงน่าจะหลีกเลี่ยง หันมากินผักผลไม้ที่ปลอดสารแทน เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
“ประชุมหารือกันในหมู่บ้าน ขอให้มีการปลูกผักปลอดสารเคมี ให้ทุกครัวเรือนรู้ถึงพิษภัยของยาหรือสารเคมี ทำให้มีครัวเรือนสมัครใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการบริโภคผักปลอดสารเคมีในชุมชนเกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั้งหมด จากนั้นจึงทำกติกาชุมชน ห้ามใช้ยาฆ่าแมลง หรือปุ๋ยเคมี และครัวเรือนที่ร่วมโครงการต้องปลูกผักอย่างน้อย 7 ชนิด เช่น ต้นหอม ผักชี ถั่วฝักยาว แตงกวา คะน้า ก็พบว่าสุขภาพของชาวบ้านโดยรวมดีขึ้น ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ไม่ต้องซื้อผักจากข้างนอก อยากกินผักแค่ลงบันไดบ้านก็ได้แล้ว แถมยังเก็บได้หลายชนิด ต่างจากไปตลาด” ผู้ใหญ่บ้านนาล้อม กล่าวชารียา กันอยู่ สมาชิกในโครงการ ย้ำว่า เป็นครอบครัวใหญ่ที่อยู่ร่วมกัน 10 กว่าคน จึงมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ เฉพาะค่าซื้อผักก็วันละร่วม 100 บาท เมื่อปลูกกินเองก็ประหยัดได้มาก โดยเน้นปลูกผักที่กินบ่อย เช่น คะน้า กวางตุ้ง และพืชผักอื่นๆ อีก 20 กว่าชนิด ทำร่องน้ำจากที่อาบน้ำสู่แปลงผัก เมื่อคนในบ้านอาบน้ำก็จะไหลไปที่แปลงผัก ส่งผลให้ผักงอกงามอยู่ตลอด ตอนนี้จึงซื้อเฉพาะน้ำปลา ปลาร้า บางครั้งผักมีมากก็แบ่งขาย นำเงินมาซื้อของใช้ในครัวเหล่านี้ได้
คณิตา พรมภาพ พี่เลี้ยงโครงการ อธิบายว่า หมู่บ้านนาล้อมมีศักยภาพชุมชน และวิถีที่สอดคล้องกับธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องจัดระบบความคิดให้เขา จากเดิมเคยปลูกเพื่อกิน ไล่เรียงได้ถึง 20 กว่าชนิด และต้องให้รู้ว่าในการบริโภค ผักอะไรที่ซื้อ ผักใดสามารถปลูกลดค่าใช้จ่ายได้ ซ้ำยังลดความเสี่ยงจากสารพิษ และโรคภัยข้างนอกได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันโรคจากไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 กำลังระบาด การพึ่งพาตนเองแบบพอเพียง จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อไล่เรียงข้อมูลได้แล้ว ก็ช่วยกันออกแบบ ให้สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ 74 ครัวเรือนจัดเก็บข้อมูลว่าแต่ละวันเก็บอะไรกิน จะมีการจดบันทึกในสมุดที่เป็นแบบฟอร์มเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการสรุป และดึงข้อมูลมาใช้ เรียกว่าเขามีความร่วมมือ มีทักษะ เป็นทุนเดิม เพียงแค่ยังไม่ได้ร้อยเรียงเท่านั้น เมื่อมีคนเข้ามาเติมข้อมูล และช่วยในการร้อยเรียง จึงนำไปสู่การปฏิบัติ คือปลูกผักไว้บริโภคเองในครัวเรือน และมองเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม.