ผู้ว่าการแบงก์ชาติชี้ปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ ส่งผลให้ต้องปรับลดGDPลงเหลือร้อยละ 3.3 แนะผู้ประกอบการส่งออก Code ขายสินค้าเป็นสกุลเงินบาทเพื่อลดความเสี่ยง ชี้ค่าเงินยังมีความผันผวนสูง แจงพบข้อมูลส่อเกิดปัญหาฟองสบู่ จำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.62 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “โลกเปลี่ยน หมู่เฮาปรับ รุกรับให้ทัน” ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือจัดขึ้นประจำปี 2562 และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมถึงสภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังว่า ต้องยอมรับว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีความไม่แน่นอนและน่ากังวลมากขึ้น จากที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีที่แล้วโตร้อยละ 3.6 ลดลงปีนี้กองทุนระหว่างประเทศประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกเหลือร้อยละ 3 ซึ่งชะลอลง แต่ก็ไม่ได้แย่หรือน่าตกใจ เพราะเศรษฐกิจอเมริกายังเติบโตได้ดี อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 50 ปี ตลาดแรงงานยังไปได้ดี
แต่ปัญหาใหญ่ที่กระทบเศรษฐกิจโลกคือสงครามทางการค้า ทำให้ปริมาณการค้าโลกลดลง การส่งออกได้รับผลกระทบหมด ปัจจัยนอกประเทศ ยังมีเรื่องข้อขัดแย้งประเทศสำคัญ อย่างอเมริกากับประเทศตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มอาจจะรุนแรงได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเกาหลีเหนือกับอเมริกาที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย(GDP)ปีนี้จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 3.8 ลงเหลือร้อยละ 3.3 และปี 63 อาจจะโตได้ร้อยละ 3.6
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ในช่วงครึ่งปีหลังปัจจัยในประเทศอย่างการจัดตั้งรัฐบาลก็มีความชัดเจนแล้ว จากที่นักลงทุนต่างประเทศชะลอดูความชัดเจนหลังจากที่มีการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีความต่อเนื่องของโครงการสำคัญที่รัฐบาลจะสานต่อ แม้ว่างบประมาณปี 2563 จะชะลอไป 1 ไตรมาสก็ตาม แต่ต่อไปก็จะมีการขับเคลื่อนในเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมทั้งถ้าหากมีความจำเป็นรัฐบาลก็อาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้
สำหรับเรื่องค่าเงินบาทแข็งนั้น การที่แบงก์ชาติจะมีมาตรการใดออกมาเพื่อรักษาเสถียรภาพก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินด้วย ซึ่งก็มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศที่สำคัญที่ทำให้ค่าบาทผันผวนคือ ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักมีการเปลี่ยนทิศทาง ก่อนหน้านั้นคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯซึ่งมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องปีนี้ถึงปีหน้า แต่ด้วยสงครามการค้า ผลกระทบการลงทุนในประเทศ ทำให้ทิศทางปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ปรับขึ้นและอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีนี้ ทำให้มุมมองตลาดต่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และเมื่อเทียบกับหลายสกุลของตลาดเงิน
ส่วนของประเทศไทยก็มีปัจจัยเกี่ยวกับดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ถ้าดูจากการขายสินค้าไปต่างประเทศ หรือนักท่องเที่ยวเข้ามาและจากที่คนไทยใช้เงินในการท่องเที่ยวต่างประเทศ เรายังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ค่อนข้างมาก และปีนี้คาดว่าจะเกินดุลฯถึง 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือร้อยละ 5-6 ของGDP ซึ่งอยู่ในอัตราที่สูง โดยช่วง 4-5 เดือนของปีนี้ไทยเกินดุลฯประมาณ 12,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศที่เข้ามาแลกเป็นเงินไทย ทำให้ทิศทางค่าเงินบาทไทยแข็งหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หลายประเทศยังขาดดุลสะพัด โดยเอาเงินในประเทศแลกเงินต่างประเทศเข้ามา
ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ มีทั้งเงินสั้น โดยช่วง 5 เดือนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรร้อยละ 10 หากเทียบกับเงินบัญชีเดินสะพัดที่มี 12.9 ล้านสหรัฐฯ การที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้นในช่วงดังกล่าวเพราะความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งต่างประเทศมองว่าเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย หลายกองทุนจึงเข้ามาลงทุนได้ นอกจากนี้ดัชนีมาตรฐานตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับเพิ่มน้ำหนักของประเทศไทยขึ้น จึงทำให้ตลาดหุ้นมีการซื้อขายสูงภายในวันเดียว เช่นเดียวกับพันธบัตรไทยที่มาจากการลงทุนในตลาดเงิน ซึ่งสะท้อนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สะท้อนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และพวกที่พักเงินระยะสั้นก็มีบ้าง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะไม่อยากเงินระยะสั้นมากระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนและกระทบกับผู้ประกอบการ
ในส่วนของการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน แบงก์ชาติเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เข้าไปซื้อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งก็เพิ่มสูงขึ้น และที่ต้องระมัดระวังมากคือการปั่นค่าเงิน โดยเฉพาะประเทศที่เกินบัญชีเดินสะพัด 3 ปีที่ผ่านมาก็มีการเจรจาไปมากโดยยืนยันว่าแบงก์ชาติไม่เคยเข้าไปจัดการค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า เราใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวตามกลไกตลาด ผู้ประกอบการส่งออกควรจะมีการ Code เป็นเงินบาทให้มากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการส่งออกที่ Code เป็นเงินบาทประมาณร้อยละ 10 ของผู้ส่งออกทั้งหมด
ดร.วิรไท ยังกล่าวด้วยว่า การ Code เงินบาทยังได้นำไปใช้ในการส่งออกสินค้าชายแดนด้วย โดยขณะนี้การส่งออกสินค้าไปยังเมียนมามีการ Code ราคาเป็นเงินบาทร้อยละ 50 ส่วนส่งออกไปลาว Code ราคาเป็นเงินบาทร้อยละ 70 นอกจากนี้ยังมีการเจรจากับทางจีน ซึ่งธนาคารกลางจีนให้สามารถ Code ราคาเป็นเงินบาทได้ ซึ่งเมื่อการค้าขายส่งออกมีการ Code ราคาเป็นเงินบาทอยู่แล้วก็จะทำให้ต้นทุนของผู้ส่งออกถูกลงคือไม่จำเป็นต้องเอาเงินสกุลประเทศที่ส่งออกมาแลกอีก และผู้ที่จะรับความเสี่ยงจากค่าบาทแข็งก็ยังเป็นผู้ซื้อไม่ใช่ผู้ส่งออกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ หรือสินค้าเกษตรแต่ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์จะต้องดีมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับด้วย
“ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทมีแต่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งทิศทางไม่สามารถคาดเดาได้ แต่เราพยายามทำให้มีกันชนที่ดี ไม่ให้มีความเปราะบางในประเทศ”ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว.