ภาคเหนือยังครองแชมป์ฆ่าตัวตายสูงสุดในประเทศสาเหตุจาก “รักษาหน้า ไม่กล้าเปิดเผย”

ภาคเหนือยังครองแชมป์ฆ่าตัวตายสูงสุดในประเทศสาเหตุจาก “รักษาหน้า ไม่กล้าเปิดเผย”

เผยปัญหาการฆ่าตัวตายในภาคเหนือยังสูง พบส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น ทั้งจากปัญหาผัวเมียทะเลาะกัน อกหัก คนติดสุรา พบผู้ที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือเชียงใหม่ รองลงมาคือเชียงราย และลำปาง ขณะที่สมาคมสะมาริตันส์เชียงใหม่จัดกิจกรรมเนื่องในวันป้องกันฆ่าตัวตายโลก “ปิ๊ง..เปลี่ยนชีวิต”เลือกที่จะก้าวด้วยใจใหม่ เจ๋งกว่าที่เป็น

วันที่ 4 ก.ย. 61 ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ทั้งนี้ ผศ.ดร.สมบัติ สกุลพรรณ์ ผอ.สมาคมสะมาริตันส์เชียงใหม่ ได้แถลงข่าวเรื่องปัญหาการฆ่าตัวตายและการจัดประชุมวิชาการ “ปิ๊งเปลี่ยนชีวิต”ซึ่งเป็นโครงการสะมาริตันส์เพื่อชุมชน ครั้งที่ 4 ว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่สำคัญและมีความรุนแรงความซับซ้อนอย่างมากของสังคมไทยและสังคมโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยพบว่าทุกๆ 30 – 40 วินาที จะมีคนในโลกนี้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน หรือทุกๆ 1 ชั่วโมง ฆ่าตัวตายสำเร็จ ประมาณ 90 -120 คน หรือวันละประมาณ 2,160 – 2,880 คน ฉะนั้นทุกๆ ปี จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 788,400 – 1,051,200 ล้านคน

ทั้งนี้สถานการณ์ และแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organiztion : WHO, 2018) และสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายสากล (International Association for Suicide Prevention : IASP) รายงานว่า การที่ปัญหาดังกล่าวยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นนั้นเป็นเพราะสังคมยังให้ความตระหนักในปัญหาน้อย ความร่วมมือในการแก้ปัญหายังมีไม่เพียงพอ และพบว่าคนที่มีอายุในช่วง 15 – 29 ปี มีอัตราการตาย จากการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับสอง ผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ผู้มีปัญหาจากการใช้สุรา ผู้ป่วยที่มีอาการป่งบเรื้อรังและผู้ที่มีปัญหาความเครียดแล้วจัดการไม่ได้ รวมทั้งผู้มีปัญหาทางเศรษฐกิจ จะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิงมีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ชายประมาณ 4 เท่า แต่ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่าเช่นเดียวกัน โดยมีการประมาณการว่า ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายจะมีจำนวนประมาณ 20 เท่า ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ จึงอนุมานได้ว่าแต่ละปีซึ่งมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 800,000 คนนั้น จะมีผู้พยายามฆ่าตัวตายประมาณ 16 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ทำให้มองเห็นว่าปัญหาการฆ่าตัวตายของคนในโลกนี้มีความรุนแรงและต้องช่วยกันจัดการ

ผอ.สมาคมสะมาริตันส์เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา IASP ได้กำหนให้ทุกวันที่ 10 กันยายน เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก โดยมีการรณรงค์ให้นานาชาติร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมสำหรับการป้องกันการฆ่าตัวตายมากมายและในแต่ละปีจะมีการกำหนดสโลแกนเพื่อใช้สำหรับเป็นประเด็นหลักในการร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหา ให้สอดคล้องกัน เช่น พ.ศ.2560 ใช้สโลแกนว่า “เพียงเสี้ยววินาทีก็อาจเปลี่ยนชีวิตคุณและคนใกล้ชิดได้ (Take a Minute, Change your Life) ซึ่งมีความหมายว่า หากเราให้เวลาแก่คนใกล้ชิดในครอบครัว เพื่อนร่วมงานเพียงเล็กน้อยสำหรับสังเกตเขา รับฟังเขาอย่างเข้าใจก็จะช่วยให้ความคิดของเขา ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ และในปี พ.ศ.2561 นี้ ได้ใช้สโลแกนว่า “ฆ่าตัวตายป้องกันได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน” (Working Together to Preveent Sulclde) เพราะปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ทั้งนี้ WHO และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดให้ตั้งแต่ พ.ศ.2546 เป็นต้นมา โดยให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก เพื่อให้ทั่วโลกได้ร่วมกันในการจัดการแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายให้มีอัตราการฆ่าตัวตายลดลงเรื่อยๆ

ผศ.ดร.สมัติ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับประเทศไทยมีคนตายจากการฆ่าตัวตายวันละ 12 คน หรือประมาณปีละมากกว่า 4,000 คน เฉลี่ย 6.35 ต่อแสนประชากร โดยในเขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน และแพร่ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดของประเทศคือ 10.88 – 14.20 ต่อแสนประชากร สำหรับจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงในภาคเหนือ จากสถิติของปี 2560 พบว่าจังหวัดเชียงใหม่ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงทั้งชายและหญิง โดยผู้ชายจำนวน 778,314 คน ผู้หญิง 832,105 คน รองลงมาคือ จ.เชียงราย ผู้ชาย จำนวน 572,662 คน ผู้หญิง 593,799 คน และ จ.ลำปาง ผู้ชาย 364,745,121 คน เมื่อดูสถิติจำนวนตามสถานที่เกิดเหตุ ก็ยังพบว่าจังหวัดเชียงใหม่, จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง ตามลำดับ

“ปัญหาของการฆ่าตัวตายมาจาก การมีความทุกข์ ไม่เปิดเผย พบได้ยาก ผัวเมียทะเลาะกัน, อกหักของคู่รัก , คนติดสุรา มีอัตรา 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับการเข้าถึงการบริการบำบัดมากขึ้น กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ โดยปี 2561 มีคนเข้ารับการปรึกษามากขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ธรรมชาติ และกรมสุขภาพจิตตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2564 จะลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเหลือไม่เกิน 6.0 ต่อแสนประชากร  แต่เบื้องต้นที่ยังไม่ได้สรุปตัวเลขพบว่าในพื้นที่ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายถึง 16 ต่อแสนประชากรซึ่งยังเป็นตัวเลขที่สูงมาก และสาเหตุที่คนภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงอาจเป็นเพราะรักษาหน้า ไม่กล้าเปิดเผย เมื่อมีความทุกข์จึงไม่กล้าระบายกับใคร และเป็นที่มาของอัตราการเพิ่มขึ้นของการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าภาคอื่นๆ ในประเทศ”ผอ.ศูนย์สะมาริตันส์เชียงใหม่ กล่าว

ด้านนายณัฏฐ์ธนัน แดงเสริมศิริ อาจารย์ฝ่ายกิจกรรม สมาคมสะมาริตันส์เชียงใหม่ กล่าวว่า ในวันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2561 นี้ทางสมาคมสะมาริตันส์เชียงใหม่ จัดโครงการสะมาริตันส์เพื่อชุมชน ครั้งที่ 4 เรื่อง ปิ๊ง…เปลี่ยนชีวิต ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ตึกจิตสันติ โรงพยาบาลสวนปรุง เพื่อเป็นการร่วมรณรงค์เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก โดยช่วงเช้าจะมีการสนทนาชวนคิด 4.0 กับพลังชีวิตที่ถดถอย เพิ่มพลัง Start up My Mind ปลุกยิ้มปันมิตรและบทเรียนเปิดมุม..ปิ๊ง เปลี่ยนชีวิตโดยศ.ดร.ดาราวรรณ ต๊ะปินตา ส่วนภาคบ่ายมีกิจกรรมเรียนรู้ รหัสสุขภายใน 5 ภาษารัก ก้าวย่างหัวใจยิ้มใส และสะท้อนการเรียนรู้ผ่าน Padlet Application

ทั้งนี้สมาคมสะมาริตันส์เป็นองค์กรนานาชาติ ที่มีพันธกิจสำคัญคือป้องกันการฆ่าตัวตาย มีสาขาทั่วโลกประมาณ 357 สาขา สำหรับประเททศไทย มีสองแห่งคือ สะมาริตันส์แห่งประเทศไทย สำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ และสมาคมสะมาริตันส์เชียงใหม่ ซึ่งผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพหรือปัญหาที่อาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ขอให้มาพูดคุยกับทางสมาคมฯ เพื่อจะได้คิดหาทางออกของปัญหาแทนการฆ่าตัวตายได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 053 – 255977 และ 053 – 225978 ทุกวันยกเว้นวันศุกร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 19.00 – 22.00 น.

You may also like

ม้งดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้านประกาศปิดป่าตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ พร้อมทำแนวกันไฟตั้งแต่ 5-15 ก.พ.68

จำนวนผู้