รมว.เกษตรฯเปิดถนนพาราดินซีเมนต์ ถนนต้นแบบสายแรกของอบจ.เชียงใหม่ “บ้านหัวฝายเชื่อมสะลวงนอก”

รมว.เกษตรฯเปิดถนนพาราดินซีเมนต์ ถนนต้นแบบสายแรกของอบจ.เชียงใหม่ “บ้านหัวฝายเชื่อมสะลวงนอก”

- in headline, รอบรั้วทั่วเหนือ

รัฐมนตรีฯเกษตรเปิดถนนพาราดินซีเมนต์ ถนนต้นแบบสายแรกของอบจ.เชียงใหม่ “บ้านหัวฝายเชื่อมสะลวงนอก” เผยข้อดีถนนมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นทนต่อน้ำท่วมขัง รับแรงอัดได้สูง ทนทาน ประหยัดกว่าคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 เท่าและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง

วันที่ 16 ม.ค.62 ที่บริเวณถนนสายบ้านหัวฝายหมู่ 5 ต.ห้วยทราย เชื่อมบ้านสะลวงนอก หมู่ 3 ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการปรับปรุงถนนต้นแบบพาราดินซีเมนต์ในการใช้ยางพาราก่อสร้างถนนตามนโยบายรัฐบาล โดยมีนาย   วิรุฬ พรรณเทวี รองผวจ.เชียงใหม่และนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่ให้การต้อนรับ

นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่ครม.มีมติเมื่อ 19 ธ.ค.60 เห็นชอบการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำในสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยกำหนดนโยบายเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศและส่งมอบให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและชาวสวนยางพารา และแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงการก่อสร้าง ปรับปรุงถนนที่มีส่วนผสมของยางพาราหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นลำดับแรก

ทั้งนี้อบจ.เชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้คัดเลือกถนนต้นแบบพาราดินซีเมนต์ในการใช้ยางพาราก่อสร้างถนน บ้านหัวฝายหมู่ 5 ต.ห้วยทราย เชื่อมบ้านสะลวงนอก หมู่ 3 ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขนาดกว้าง 6 เมตรยาว 1,100 เมตร โดยการใช้น้ำยางพาราสดเพื่อสาธิตและให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการบูรณาการวิชาการ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการใช้ยางพาราตามนโยบายรัฐบาล และสร้างองค์ความรู้การบริการวิชาการอันเกี่ยวกับการปรับปรุงชั้นโครงสร้างถนนให้มีความมั่นคงแข็งแรง ยืดอายุการใช้งานและเป็นการกระจายรายได้สู่ภาคเกษตร

สำหรับถนนพาราดินซีเมนต์เส้นนี้เป็นถนนท้องถิ่นต้นแบบสายแรกของจังหวัดเชียงใหม่ มีสภาพเป็นดินลูกรัง+ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์+ยางพาราสดบวกสารผสม ข้อดีคือทำให้ถนนมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นทึบน้ำทนต่อน้ำท่วมขังและรับกำลังอัดได้สูง รับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่น้อยกว่า 15 ตัน นอกจากนี้ยังใช้น้ำยางพาราในประเทศซึ่งช่วยให้ราคายางสูงขึ้นเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง รักษาสิ่งแวดล้อมในการใช้ดินลูกรังนพื้นที่เดิม ลดการใช้หินคลุกและมีความทนทานมากกว่า 5 ปี สามารถใช้ฐานทำถนนต่อยอดโดยลาดยางเปซีลหรือแอสฟัลท์ติกคอนกรีตได้เมื่อมีงบประมาณ

“ถนนเส้นนี้กว้าง 6 เมตรยาว 1.1 กิโลเมตร หนา 0.15 เมตร ใช้งบประมาณ 1,150,000 บาท และใช้ยางพาราสด DRC30% 16.60 ตัน โดยใช้ยางพาราสดจากเกษตรกรในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง ซึ่งทำให้ราคาก่อสร้างถูกกว่าถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 เท่า โดย ปี 2562 อบจ.เชียงใหม่จะจ่ายยอดเงินสะสม22 มกราคม 2562 นี้ในการดำเนินการก่อสร้างถนนพาราดินซีเมนต์จำนวน 56.38 ล้านบาท ในความยาว 49.45 กิฏโลเมตรและใช้ยางพาราสดทั้งหมด 735.18 ตัน

ด้านนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ถนนลูกรังอัดแน่นธรรมดาจะต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซมทุกปี แต่ถ้าหากใช้เปลี่ยนเป็นพาราซอยก็จะมีอายุการใช้งานได้ถึง 3 ปี ในช่วงหน้าแล้งถ้าหากอัดแน่นดีๆ ก็จะทำให้มีฝุ่นน้อยกว่าถนนลูกรังอัดแน่นธรรมดา และเวลาหน้าฝนก็จะแน่นดีกว่าลูกรังธรรมดา ซึ่งจะเห็นว่าประโยชน์ของของยางพารามหาศาลต่อเกษตรกร จึงเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานนำไปพิจารณา ก็มีอบจ.7 แห่งที่ได้เริ่มทำ โดยก่อนที่จะมีการนำเอายางพาราไปเป็นส่วนผสมในการทำถนนราคาน้ำยางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 32 บาท แต่ปัจจุบันราคายางฯขยับเป็น 39 บาท ซึ่งรัฐบาลได้แนะนำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซื้อน้ำยางจากเกษตรกรในพื้นที่ที่องค์การยางรับรองไม่ใช่ซื้อจากพ่อค้าคนกลาง เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ราคายางพาราในปี 2562 รัฐบาลมีนโยบายที่จะเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางในประเทศเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ครม.ได้อนุมัติให้องค์การยางแห่งประเทศไทยดูแลสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพเพื่อให้เป็นผู้ส่งออกยางพาราได้โดยตรงจากเดิมที่มีบริษัทส่งออกรายใหญ่เพียง 5 บริษัท จะได้เพิ่มเป็น 7 ราย และขณะนี้ก็มีแนวคิดอีกว่าจะให้นำเอายางพาราไปผลิตเป็นกันกระแทกกับโค้งแทนวัสดุแข็งต่างๆ โดยให้สถาบันการศึกษาและการยางแห่งประเทศไทยไปทำการศึกษาวิจัยซึ่งคาดว่าภายในอีก 3 เดือนก็จะได้ตัวอย่างการใช้ยางพาราแทนที่วัสดุกันกระแทกในบริเวณทางโค้งบนทางหลวงต่างๆ

“นอกจากนี้ในเรื่องของการพยุงราคายางนั้น ก่อนหน้านี้รัฐบาลก็ได้ช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรชาวสวนยางไปแล้วครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งได้เริ่มไปประมาณ 1 เดือนแล้ว และตอนนี้ก็ให้นโยบายไปแล้วว่าในส่วนของทางเท้าในเขตกรุงเทพฯ เขตเทศบาลและหัวเมืองใหญ่ๆ จากที่เคยใช้อิฐปูนซีเมนต์ปู ก็อยากให้เปลี่ยนมาใช้ยางพาราแทน ซึ่งทางเท้า 1 ตารางเมตรจะใช้ยางพาราถึง 130 กิโลกรัม ส่วนถนน 1 กิโลเมตรจะใช้น้ำยางฯ 14-16 ตันหรือ 1,400-1,600 กิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลก็ตั้งเป้าไว้ว่าในปีหนึ่งจะมีการนำน้ำยางพาราไปใช้ในการทำถนนประมาณ 4 หมื่นกิโลเมตร และใช้น้ำยางสดปีละ 8 แสนตันทั่วประเทศ”นาย กฤษฎา กล่าวในที่สุด.

You may also like

ม้งดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้านประกาศปิดป่าตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ พร้อมทำแนวกันไฟตั้งแต่ 5-15 ก.พ.68

จำนวนผู้