อุตุฯเตือนฝนฟ้าคะนอง 60-70% ให้ระวังน้ำป่าไหลหลาก “รองฯอุ้ย”สั่งนายอำเภอห้ามปิดมือถือหากมีปัญหาในพื้นที่ติดต่อไม่ได้ดำเนินการทางวินัย ย้ำให้ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นอันดับแรก ขณะที่ชลประทานเผยขยาย One Map เชื่อมหางดงส่งผลให้แก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้รวดเร็ว ด้านผู้ว่าฯสั่งตั้งทีมแก้ปัญหาน้ำท่วมขังกรณีบ้านจัดสรรและทางหลวงขวางทางระบายน้ำ
นายเมธี มหายศนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว โดยในช่วงระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561 หย่อมความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนไปปกคลุมประเทศเมียนมาตอนบนทำให้ภาคเหนือ จะยังคงมีฝนตกได้ต่อเนื่อง โดยในระหว่างวันที่ 30พ.ค.-4 มิ.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และระหว่างวันที่ 5-7 มิ.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ช่วงปลายเดือน มิ.ย. ถึงต้นเดือน ก.ค. ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงและขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซาก นอกเขตชลประทาน เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง
ส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ และในเดือน ต.ค. ภาคเหนือจะมีฝนลดลงและเริ่มมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออก นอกจากนี้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมแทน
ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามข้อควรระวัง เกี่ยวกับพายุฤดูร้อนโดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนและสวนไร่นาได้ ในบางช่วงจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันหลายวัน อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และอุทกภัยได้ โดยเฉพาะในช่วงช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวอากาศประจำวันอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วยและช่วงที่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าใกล้หรือเคลื่อนผ่านประเทศไทย จะมีลักษณะพายุลมแรง ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ติดต่อข่าวอากาศอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มีพายุหมุนเขตร้อนด้วย
ทางด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกอำเภอตื่นตัวและเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์ บุคลากรและการแจ้งเตือนภัยประชาชนในช่วงฤดูฝน โดยขอให้อย่าวางใจกับการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เพราะล่าสุดที่มีฝนตกหนักบนดอยสุเทพถึง 110 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงนั้น ทางเรดาร์ของอุตุฯยังไม่ตรวจพบกลุ่มเมฆ แต่ปรากฏว่ามีเมฆมีการก่อตัวอย่างรวดเร็วและเกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก แต่นับว่าเป็นความโชคดีที่ปีที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีการใช้แผนที่บูรณาการหรือ One Map จึงทำให้การประสานงานสั่งการและแก้ไขปัญหาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในการระบายน้ำที่ท่วมขังได้ภายใน 2 ชั่วโมง
“ขอทางอุตุฯในห้วงเวรประจำวันในการตรวจจับพบกลุ่มเรดาร์นั้น ช่วยรายทั้ง 25 อำเภอ เพื่อที่ทางอำเภอจะได้แจ้งเตือนประชาชนได้ ในบางจุดที่หากมีฝนตกหนักต่อเนื่องก็ต้องวางแผนหรืออพยพราษฎรไปอยู่ในที่ปลอดภัย ขอให้นายอำเภอตื่นตัวตลอดเวลาในช่วงฤดูฝนนี้และสั่งห้ามปิดมือถือเด็ดขาด หากติดต่อไม่ได้และมีปัญหาในพื้นที่จะดำเนินการทางวินัย เพราะผมถือว่าชีวิตของราษฎรสำคัญที่สุด ต้องดูแลชีวิตของราษฎรไว้ก่อนส่วนทรัพย์สินให้ความสำคัญเป็นอันดับ 2 อาจจะมีราษฎรที่ห่วงบ้านและทรัพย์สินไม่ยอมอพยพไปอยู่ที่ปลอดภัยก็ต้องพยายามเกลี้ยกล่อมให้ได้”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าว
ขณะที่นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง อย่างกรณีที่อ.สันทรายหรือหางหง สันป่าตอง ที่มีหมู่บ้านจัดสรรและถนนมาขวางหรือปิดกั้นทางน้ำ ก็ขอให้ทางอำเภอตั้งทีมงานไปหารือกับตัวแทนกรมทางหลวงว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และขอให้แต่ละพื้นที่ไปดูว่าในกรณีที่มีถนนวงแหวนหรือทางหลวงและมีหมู่บ้านจัดสรรล้อมรอบ มีทางระบายน้ำหรือไม่ ขอให้แต่ละอำเภอไปดูจุดเสี่ยงในพื้นที่ว่าจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร ขอให้ไปวิเคราะห์กันด้วย
ส่วนทางด้านนายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของชลประทานเชียงใหม่ได้มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุและแผนปฏิบัติการโดยใช้แผนที่บูรณาการหรือ One Map อย่างกรณีหากมีฝนตกหนักที่บนดอยสุเทพก็จะมีการเปิดประตูระบายน้ำลงคลองชลประทาน ผ่านคลอง แอล 1 ไปลงคลองแม่ข่าและดันลงสู่แม่น้ำปิง ซึ่งปีนี้ที่มีการระบายน้ำได้เร็วเพราะการสั่งการเป็นซิงเกิ้ลคอมมาน และยังมีการใช้แผนที่บูรณาการขยายไปยังอำเภอหางดง ซึ่งทำให้ทราบเส้นทางน้ำ การระบาย และผู้ที่รับผิดชอบประจำจุดด้วย
หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวนั้น ขณะนี้กรมชลประทานกำลังดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่แตง-แม่กวง ผลงานรวมปัจจุบันอยู่ที่ 23.26% ซึ่งแยกเป็น 2 ช่วง โดยในส่วนของอุโมงค์แม่งัด-แม่กวง ปัจจุบันผลงานก่อสร้างได้ 33.916% และช่วงแม่แตง-แม่งัด ผลงานได้ 12.603% .