“ลุงป้อม”สั่งผู้ว่าฯ8 จังหวัดเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ “ซินลากู”

“ลุงป้อม”สั่งผู้ว่าฯ8 จังหวัดเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ “ซินลากู”

รองนายกรัฐมนตรีกำชับผู้ว่าฯ 8 จังหวัดตั้งคณะทำงานติดตามช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ขณะที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 3 สรุปผลกระทบ”ซินลากู”เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากในภาคเหนือมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 8 จังหวัด 32 อำเภอ และ 82 ตำบล

วันที่ 6 ส.ค.63 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมติดตามการดำเนินงานด้านสถานการณ์อุทกภัยและและความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย พร้อมมอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับและสรุปสถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า สถานการณ์ความเดือดร้อนจากอุทกภัยในวันนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมมูลค่า 231,726 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเชียงใหม่เฉลี่ยต่อคนมูลค่า 135,991 ต่อหัว รายได้ส่วนหนึ่งมาจากภาคการเกษตร โดยพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือการปลูกลำไย  ในปี 2563 มีพื้นที่ปลูกลำไย 318,291 ไร่ มีปริมาณผลผลิตกว่า 144,631 ตัน คิดเป็นผลผลิตครึ่งหนึ่งในภาคเหนือ ภาคการผลิตของจังหวัดเชียงใหม่จะส่งออกไปยังประเทศจีน

ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับสถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ในจังหวัดทางภาคเหนือ รวมถึงเส้นทางขนส่งคมนาคมได้รับความเสียหาย โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในทันทีแล้ว

ด้านพ.อ. เทอดศักดิ์ งามสนอง รองเสนาธิการกองทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้ตรวจความพร้อมการบรรเทาสาธารณภัย ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังพล และยุทโธปกรณ์ รวมทั้งเป็นการวางแผนการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงาน เพื่อความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามฤดูกาล และในห้วงวันที่ 2 – 4 สิงหาคม2563 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุซินลากู และได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากในภาคเหนือมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 8 จังหวัด 32 อำเภอ และ 82 ตำบล

ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดกำลังพล และยุทโธปกรณ์ พร้อมชุดแพทย์เคลื่อนที่ ดำเนินการเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ โดยการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง, จัดตั้งโรงครัวสนาม, จัดกำลังพลสนับสนุนการสร้างสะพานแบริ่งชั่วคราว, การขนย้ายสิ่งของจำเป็นและประชาชนที่ไม่สามารถสัญจรเส้นทางเดิมได้ตามปกติ, กำจัดสิ่งกีดขวางบริเวณประตูน้ำคอสะพาน ไม่ให้น้ำกัดเซาะทำให้เกิดความเสียหาย, ทำความสะอาดล้างดินโคลนที่เข้าไปในบ้านเรือนประชาชน,จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ และมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน

ทั้งนี้พบว่า ความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดน้ำไหลหลากตัดเส้นทางและสะพานเสียหาย มณฑลทหารบกที่ 33 จัดกำลังพล  104 นาย พร้อมยานพาหนะ จัดรถครัวสนามทำอาหารให้กับผู้ประสบภัย (จำนวน 1,000 กล่อง), ขนย้ายสิ่งของให้กับประชาชน, สนับสนุนหน่วยงานในการซ่อมแซมถนน จำนวน 5 จุด และสะพานอีก 1 จุด ในพื้นที่ อำเภอดอยสะเก็ด และมอบสิ่งของอุปโภคบริโภค ให้กับประชาชน

ในส่วนของจังหวัดเชียงราย เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร มณฑลทหารบกที่ 37 จัดกำลังพล 110 นาย ช่วยทำความสะอาดล้างดินโคลนที่เข้าไปในบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่ อำเภอเวียงป่าเป้า และ อำเภอแม่สรวย พร้อมชุดแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพให้กับประชาชน

ที่จังหวัดน่าน เกิดน้ำไหลหลาก มีดินสไลด์ขวางเส้นทาง มณฑลทหารบกที่ 38 จัดกำลังพล (10 ชุดปฏิบัติการ) 96 นาย พร้อมยานพาหนะ ให้การช่วยเหลือเหตุดินสไลด์ที่ อำเภอบ่อเกลือ และ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 4 จุด ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่เปิดเส้นทางให้รถสัญจรได้ และเข้าช่วยเหลือทำความสะอาดล้างดินโคลน ที่เข้าไปในบ้านเรือนราษฎร, สนับสนุนสร้างสะพานชั่วคราว พร้อมทั้งจัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพให้กับประชาชน และจัดรถครัวสนามทำอาหารให้กับผู้ประสบภัย จำนวน 500 กล่อง มอบถุงยังชีพ ในพื้นที่ อำเภอสันติสุข, อำเภอเวียงสา, อำเภอเมือง, อำเภอภูเพียง และ อำเภอนาหมื่น

ส่วนที่จังหวัดลำปาง มีน้ำหลากท่วมบ้านเรือนราษฎร มณฑลทหารบกที่ 32 จัดกำลังพล  42 นาย ทำความสะอาดล้างดินโคลนที่เข้าไปในบ้านเรือนประชาชนผู้ประสบภัย พร้อมชุดแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพ และมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ อำเภอแจ้ห่ม, อำเภอวังเหนือ และ อำเภอเมืองปาน

จังหวัดอุตรดิตถ์ มีน้ำไหลหลากตัดเส้นทางสัญจร และท่วมบ้านเรือนราษฎร มณฑลทหารบกที่ 35 จัดกำลังพล 3 ชุดปฏิบัติการ 3o นาย พร้อมยานพาหนะ เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง, ขนย้ายสิ่งของจำเป็น และประชาชนที่ไม่สามารถสัญจรเส้นทางเดิมได้ตามปกติ, กำจัดสิ่งกีดขวางบริเวณคอสะพาน ไม่ให้น้ำกัดเซาะทำให้เกิดความเสียหาย และมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน ในพื้นที่ อำเภอบ้านโคก, อำเภอฟากท่า และ อำเภอน้ำปาด

สำหรับที่จังหวัดแพร่ มีน้ำล้นตลิ่งท่วมเส้นทาง และบ้านเรือนราษฎร มณฑลทหารบกที่ 35 จัดกำลังพล 16 นาย ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง พร้อมชุดแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพให้กับประชาชน ในพื้นที่ อำเภอเมือง

ส่วนที่จังหวัดพิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 ได้สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ 72 ในการค้นหาผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเฮี้ย อำเภอนครไทย จนกระทั่งพบศพในเวลาต่อมา

จังหวัดพะเยา มีน้ำล้นตลิ่งท่วมเส้นทางบ้านเรือนราษฎรบางพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 ได้สั่งการให้ มณฑลทหารบกที่ 33 จัดเตรียมกำลังพล และยุทโธปกรณ์ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง กรณีที่มวลน้ำจากที่อื่นไหลมาสมทบในพื้นที่การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้หน่วยทหารในพื้นที่ สนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ

ทั้งนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการทั้ง 8 จังหวัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำการสำรวจและเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้