สร้างสุข”สามเณร”ร.ร.พระปริยัติธรรม ปลูกผักสร้างอาหาร-ลดหวานมันเค็ม

สร้างสุข”สามเณร”ร.ร.พระปริยัติธรรม ปลูกผักสร้างอาหาร-ลดหวานมันเค็ม

ยากได้บุญเวลาทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ต้องจัดหนักจัดเต็ม อร่อยๆ หรือหากจะส่งผลบุญให้ผู้ล่วงลับก็ต้องถวายแบบเดียวกับที่ผู้ล่วงลับนั้นชอบ ถือเป็นค่านิยมและความเชื่อของพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ที่อาจยึดถือและปฏิบัติมา เพราะเชื่อว่าผลบุญนั้นจะส่งถึงแก่ผู้ล่วงลับอย่างที่ตั้งใจ

แต่รู้หรือไม่ว่า ค่านิยม ความเชื่อนี้อาจจะไม่เป็นผลดีนัก เพราะภัตตาหารที่นำมาถวายนั้น หากมี รสหวาน มันเค็ม เช่นเดียวกับวัตถุดิบที่นำมาปรุงนั้นมีคุณค่าสารอาหารไม่ครบถ้วน ก็จะส่งผลต่อสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์“คนเข้าใจว่าเวลาจะถวายภัตตาหาร เช่น ถวายเพล จะต้องทำมาถวายหลายๆ เมนู รสชาติก็อาจจะหวาน มัน เค็มบ้าง เพราะกลัวตัวเองและผู้ที่ล่วงลับจะไม่ได้บุญ เราเข้าใจในเจตนา แต่บางครั้งก็มากเกินไป พระก็ฉันไม่หมดอีก” พระมหาอินสอน คุณวุฒโท วัดปทุมสราราม ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ย้ำถึงความเชื่อผิดๆ ในการทำบุญ

ปัญหาสุขภาพอันมาจากโภชนาการที่ไม่เหมาะสมในพระภิกษุสงฆ์อาจจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ข้อมูลทางสาธารณสุขชี้ชัดว่า พระภิกษุสงฆ์ เสี่ยงต่อการป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรัง หรือ NCDs อันเป็นผลมาจากการฉันภัตตาหาร ขณะเดียวกันข้อจำกัดในการออกกำลังกาย ทำให้พระภิกษุสงฆ์เกิดปัญหาสุขภาวะได้ง่ายพระมหาอินสอน เผยอีกว่า เดี๋ยวนี้โรค NCDs เกิดขึ้นกับสามเณรแล้ว ไม่ได้เกิดกับพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น  สาเหตุก็มาจากการฉันไม่ถูกวิธี  ไม่มีการควบคุม ฉันอาหารเกินที่ร่างกายต้องการ ไม่ได้ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน พอกพูนไปเรื่อยๆ จนเกิดโรค จะให้พระสงฆ์ออกกำลังกายก็ไม่ได้ เพราะพระต้องครองเสขิยวัตร หรือข้อพึงปฏิบัติ ว่าด้วยวัตรและจรรยามารยาท การจะออกกำลังกายด้วยท่าทางต่างๆ แม้จะไม่ผิดพระวินัยแต่ก็ไม่ควรทำ

“ดังนั้นเราต้องมาคิดใหม่เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการฉัน ที่ต้องลดหวาน มันเค็ม กินแต่พอควร ซึ่งทางคณะสงฆ์ตำบลเชิงดอย ได้มุ่งเน้นมาโดยตลอด แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องขอความร่วมมือญาติโยมเวลาถวายภัตตาหารก็ให้คำนึงโภชนาการจากปัญหาด้านสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ประจำวัดทั้ง 13 แห่งของ ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด เกิดเป็นข้อปฏิบัติเมนูชูสุขภาพสำหรับพระภิกษุที่ชาวบ้านต้องยึดถือ ซึ่งจะบอกว่าอะไรบ้างที่ควรถวายและไม่ควรถวายให้พระ

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนรูปแบบการถวายภัตตาหารสามารถช่วยได้เช่นกัน อย่างเช่นที่โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ (วัดปทุมสราราม) ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โดยมีพระมหาอินสอนเป็นผู้อำนวยการ บอกถึงแนวทางในโรงเรียนใช้สำหรับญาติโยมผู้ใจบุญ ว่า ปกติแล้วคนจะทำอาหารมาจากที่บ้านแล้วค่อยมาถวาย ซึ่งบางครั้งอาจจะขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง เพราะคำนวณไม่ได้ ว่าพระจำนวนเท่านี้ ต้องฉันเท่าไหร่ดังนั้นทางพระมหาอินสอนจึงบอกว่าให้ถวายปัจจัยเป็นเงิน แล้วให้แม่ครัวของทางโรงเรียนจัดทำตามงบประมาณ ซึ่งแม่ครัวจะคำนวณอาหารให้พอดีกับจำนวนพระ- เณร ปริมาณอาหารไม่เหลือ แถมถูกต้องตามหลักโภชนาการ ถ้าเงินเหลือก็จะเข้าส่วนกลางต่อไป

อย่างไรก็ตามรูปแบบนี้ก็อาจจะเหมาะสำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรม แต่ถ้าเป็นวัดทั่วไป มีจำนวนพระไม่เยอะ ไม่มีแม่ครัว ก็ทำไม่ได้ ต้องเป็นหน้าที่ญาติโยมที่จะทำมาจากที่บ้านตามเหมาะสม

การสร้างโภชนาการเหมาะสมเพื่อสุขภาพป้องกันโรค NCDs ในพระภิกษุ ส่วนอาจจะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เป็นเณร อย่างเช่นที่ ร.ร.ดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ ส่งเสริมให้สามเณรทั้ง 160 รูป หันมาบริโภคผักและผลไม้ให้มากขึ้น และได้ลงมือปลูกผักสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยให้กับโรงเรียน และเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนพระมหาอินสอน บอกว่า เนื่องจากสามเณรส่วนใหญ่ทั้งก่อนและหลังบวชคุ้นเคยชื่นชอบกับการฉันอาหารประเภทเนื้อ ไขมันก็สะสมในร่างกายเพราะมีภาวะอ้วนร้อยละ 20 และจากการสังเกตใน 10 เมนูที่เซ็ตในแต่ละเดือน เมนูผักมีน้อยมากที่ชอบ และวันไหนมีเมนูผักจะเหลือเยอะมาก

“หากเราพยายามควบคุมหรือลดเมนูประเภทเนื้อลง แล้วออกกำลังกายเพิ่ม ดูแล้วมันปลายเหตุก็แก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องแก้ที่สุขนิสัย และการจัดทำโครงการ “ส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียน” คือการตอบโจทย์นั้น โดยรับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีกิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้การบริโภคผักและผลไม้ มีแปลงผักให้สามเณรช่วยกันปลูกผักปลอดสารเคมีเพื่อนำมาเป็นอาหารเพล มีการทำปุ๋ยหมักมาใช้บำรุง” พระมหาอินสอน กล่าวนอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือแม่ครัวปรุงจากที่เคยปรุงอาหารตามปาก ก็ไม่ให้มีรสหวาน มัน เค็มมากเกินไป และลดสัดส่วนเนื้อเพิ่มปริมาณผักให้มากขึ้น อย่างเช่น ผัดกะเพราจากที่มีแต่หมูล้วนๆ ก็เพิ่มถั่วฝักยาวเข้าไป แกงเขียวหวานจากเมื่อก่อนใช้เนื้อไก่หรือหมู 25 กก. มะเขือ 5 กก. ก็ค่อยๆ ปรับลดลงเหลือเนื้อ 20 กก. มะเขือ 10 กก. จากนั้นค่อยๆ ลดและเพิ่มสัดส่วนจนสามเณรไม่รู้สึก จนตอนนี้สัดส่วนเนื้อและผักจะอยู่ที่ประมาณ 60 ต่อ 40 หรือ 70 ต่อ 30 จากเดิมที่แทบจะเป็น 90 ต่อ 10

เมื่อมีโครงการเป็นเงื่อนไข สามเณรหันมาบริโภคผักและผลไม้ปลดสารเคมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากเป็นผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยให้การบริหารจัดการงบประมาณอาหารสะดวกราบรื่นกว่าเดิมโดยพระมหาอินสอน บอกเหตุผลนี้ว่า เราได้รับงบประมาณอาหารจากรัฐที่ส่งผ่านมายังสำนักพุทธศาสนาเพียง 85% อีก 15ต้องหามาเติมเอง แตกต่างจากโรงเรียนในระบบที่รัฐสนับสนุน 75% แล้วท้องถิ่นสนับสนุนอีก 25% ซึ่งในส่วนของเราท้องถิ่นก็ไม่กล้าสนับสนุนเพราะไม่มีระเบียบเขียนไว้ให้ชัดเจน

ดังนั้นหากสามเณรฉันแต่อาหารประเภทเนื้อก็จะต้องใช้งบประมาณสูง แต่ถ้าฉันพวกผักมากขึ้นก็จะช่วยลดและสามารถควบคุมงบประมาณอาหารได้

ครั้งต่อไป หากไปทำบุญอย่าลืมตระหนักและใส่ใจเมนูอาหารที่จะถวายให้พระ แล้วเราจะได้บุญกุศลอย่างที่ตั้งใจ.

You may also like

มช. จัดงาน CMU Education Expo 2025 อย่างยิ่งใหญ่ ขนทัพวิทยากรชั้นนำจากทั่วประเทศมาให้ความรู้แบบจัดเต็ม ฉลองครบรอบ 60 ปี สร้างมิติใหม่ด้านการศึกษาเพื่อความยั่งยืน

จำนวนผู้