สองมือสร้างสุข…ที่บ้านป่าไผ่กลาง จ.เชียงใหม่

สองมือสร้างสุข…ที่บ้านป่าไผ่กลาง จ.เชียงใหม่

ะยะทางที่ห่างจากใจกลางอำเภอเพียง 1 กิโลเมตร ทำให้สังคมของชาวบ้านป่าไผ่กลาง หมู่ 7 ต.แช่ช้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เหมือนกับสังคมเมือง ที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจเพื่อนบ้าน แม้จะรั้วชิดติดกัน เห็นหน้าแทบทุกวัน หากน้อยครั้งที่จะเอ่ยทักทายปราศรัย ช่องว่างระหว่างคนในชุมชนถูกถ่างให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเทศบาลตำบลสันกำแพง ดึงหมู่บ้านป่าไผ่กลางเข้าร่วมโครงการชุมชนปลอดขยะ และได้รับรางวัล ขนาดไซด์แอล (L) ระดับประเทศ ทำให้แกนนำเกิดความมั่นใจ ในการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศทางและต่อเนื่องการุณย์ กันจา ผู้ใหญ่บ้านป่าไผ่กลาง เล่าว่า ป่าไผ่กลาง มี 350 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 1,120 คน แต่มีประชากรแฝงอีกราว 300 คน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมาคือค้าขาย อุตสาหกรรมในครัวเรือน มีเกษตรกรรมบ้างแต่ก็ไม่มากนัก ทำให้วิถีการดำรงชีวิตเป็นไปอย่างรีบเร่งเพื่อความอยู่รอด และแม้ว่าที่ผ่านมาชาวบ้านจะให้ความร่วมมือรักษาความสะอาดในบ้านและชุมชนด้วยดี หากยังมองไม่เห็นรอยยิ้ม ที่จะทำให้หมู่บ้านเข้มแข็งไปพร้อมๆ กับชาวบ้านมีความสุขเมื่อสำรวจชุมชนอย่างจริงจังก็พบหลายปัญหา เช่น น้ำประปาไม่ค่อยเพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้รายรับกับรายจ่ายยังไม่ค่อยสมดุลกัน ชาวบ้านไม่ปลูกพืชผักสวนครัว อาศัยซื้อกินเป็นหลัก   ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการบริโภค มีปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งโรคความดัน เบาหวาน ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็เห็นว่าชาวบ้านกำจัดขยะ โดยใช้ใบไม้ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์อยู่แล้ว จึงสนใจโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำต้นทุนที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นมาดำเนินการให้ต่อเนื่อง และต่อยอดไปสู่การพัฒนาในจุดอื่นๆ ได้   ♣ สุขแบบเรียบง่าย ด้วยการปลูกผัก

มูล ชมภูจันทร์ คุณตาวัย 80 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มปลูกพืชผักและผลไม้ปลอดสารเคมี ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักในโครงการ บอกว่าเพิ่งเริ่มปลูกผักสวนครัวมาปีเศษ ก่อนหน้านี้ช่วยลูกดูแลปั๊มน้ำมัน แต่ไม่มีหน้าที่ชัดเจน ซ้ำยังเจอมลพิษจากการสันดาปของเครื่องยนต์เกือบตลอดเวลา จึงค่อนข้างเครียด เมื่อมีโอกาสย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านป่าไผ่กลาง และได้รับการชักชวนให้ปลูกพืชผักสวนครัว จึงใช้พื้นที่ว่างในบริเวณบ้านปลูกผักกาดอย่างเดียว จำนวน 2 แปลง ภายหลังได้เรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพ นำมาใช้แทนปุ๋ยและยาได้ จึงปลูกหลายอย่างมากขึ้น ทั้งผักกาด ผักเชียงดา มะเขือ ถั่วฝักยาว ฟักทอง ฟักเขียว ผักบุ้ง มะนาว มะละกอ ดีปลี ตะไคร้ มะกรูด โหระพา พริกขี้หนู ฯลฯ

“พื้นที่บ้าน 100 แค่ตารางวาเศษ เหลือปลูกผักไม่ถึงครึ่ง ตอนแรกแอบซื้อปุ่ยเคมีมาใส่เหมือนกับเพื่อนสมาชิกอีกหลายคน ที่กลัวผลผลิตไม่งอกงาม ปรากฏว่าเมื่อเก็บผักแล้ว ปล่อยทิ้งไว้นานจะช้ำและเน่าง่าย แตกต่างจากผักที่ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ มีความสดนานกว่า ทุกคนจึงเลิกใช้ปุ๋ยเคมีโดยอัตโนมัติ แต่ผักก็ยังให้ผลผลิตดี เก็บกินเท่าไหร่ก็ไม่หมด จนต้องแบ่งให้เพื่อนสมาชิก บางครั้งโรงเรียนอนุบาลไผ่แก้ว ที่อยู่ในชุมชนก็ซื้อเข้าโรงเรียนทำอาหารกลางวันให้กับเด็ก และบางส่วนก็มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงบ้าน ช่วงแรกนำไปขายต่อที่ตลาดนัดสีเขียวทุกวันพฤหัสบดี ปรากฏว่าพ่อค้าแม่ค้าในกาดแลงบ้านป่าไผ่ (ตลาดที่เปิดขายเฉพาะช่วงเย็น) ได้รับความเดือดร้อนยอดขายลด ภายหลังจึงยกเลิกตลาดนัดสีเขียว นำไปขายในกาดแลงแทน มีรายได้รวมเดือนละหลายพันบาท” ตามูล อธิบายพร้อมกับหัวเราะ ก่อนเล่าต่อไปว่ารู้สึกบ้านคึกคัก มีชีวิตชีวากว่าเดิม มีคนไปมาหาสู่เข้ามาศึกษาดูงาน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีทั้งคนในหมู่บ้าน และต่างถิ่นให้ความสนใจ เพื่อนสมาชิกกลุ่มปลูกพืชผักก็แวะเวียนมาคุยด้วย มีสังคมกว้างขวางขึ้น ซึ่งทราบว่าในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ใช้โทรศัพท์และเทคโนโลยี จะใช้แอปพลิเคชั่นไลน์กลุ่มคุยกัน เวลามีพืชผักงอกใหม่ก็จะอวดกันว่าของใครสวยกว่า ผักบ้านใครงอกก่อน หรือถ้าพบปัญหาก็จะปรึกษากัน เช่น ในช่วงฤดูฝนมีหอยแพร่ระบาด และกัดกินใบผักจนเหลือแต่ก้าน บางคนก็ใช้ใบสะเดา หรือใบขี้เหล็ก แช่น้ำให้มีรสขมแล้วนำไปรดผัก บ้างก็โขลกพริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มาผสมน้ำก่อนฉีดพ่น พบว่าได้ผลดีทั้งคู่ เมื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง คนอื่นๆ ก็จะเลือกใช้แนวทางที่สามารถทำตามได้ง่ายๆ♣ สังคมใหม่…ใส่ใจซึ่งกันและกัน        

ทัศนีย์ กงจักร์ ผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่บ้านป่าไผ่กลาง เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าชาวบ้านลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้มาก จากเดิมซื้อกินทุกอย่าง พอปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง ช่วยประหยัดเดือนละหลายพันบาท บางคนยังเหลือขายสร้างรายได้ด้วย ที่สำคัญคือชาวบ้านหันมาใส่ใจสุขภาพ เลือกบริโภคผักปลอดสารพิษที่ปลูกไว้ในบ้าน ร่างกายก็แข็งแรงมากขึ้น อาการเจ็บป่วย หรือโรคเรื้อรัง อย่างความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดลดลง  เริ่มจากงบประมาณแค่ 5,000 บาท ซื้อเมล็ดพันธุ์ครั้งแรก แล้วเพาะในศูนย์เรียนรู้พืชผักสมุนไพร แจกจ่ายต้นกล้าแก่เพื่อนสมาชิก ซึ่งครั้งแรกเน้นในกลุ่มแกนนำประมาณ 35 ครัวเรือน เพื่อให้ชาวบ้านเห็นตัวอย่าง พอผักรุ่นแรกเริ่มให้ผลผลิตก็มีคนสนใจทำตามมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้พบว่าชาวบ้านปลูกผักปลอดสารเคมีถึงร้อยละ 80 บางบ้านไม่มีพื้นที่ก็ปลูกในกระถาง บางครอบครัวทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลาทำกิจกรรม หรือเข้าร่วมโครงการ ก็ปลูกผักไว้กินเองในบ้าน “วันนี้โครงการ สสส.ปิดไปแล้ว แต่กลุ่มยังอยู่ โดยเริ่มเปิดให้สมาชิกออมทรัพย์ร่วมกันอย่างต่ำเดือนละ 100 บาท หรือ 2 หุ้น (หุ้นละ 50 บาท) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมา เพื่อเกี่ยวพันกันไว้ หากครบ 1 ปี จะมีการพิจารณาว่าควรนำเงินออมไปใช้ประโยชน์อย่างไร ด้านไหนบ้าง ซึ่งที่วางแผนไว้เบื้องต้นคือจะทำผักปลอดสารแบบออแกนิค เพื่อหนีปัญหาศัตรูพืช โดยเฉพาะหอยที่ระบาดหนัก” ทัศนีย์ กล่าวและระหว่างนี้ก็มีการประชุมทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง ซึ่งกลุ่มสมาชิกจะกระตือรือร้นที่จะพบปะกัน แม้จะนัดช่วงกลางคืน และย้ายที่ประชุมไปเรื่อยๆ ตามฐานต่างๆ อาทิ ฐานศูนย์เรียนรู้ส่วนกลาง กลุ่มหูกวาง กลุ่มประชาสุขสันต์ กลุ่มรอบวัดรวมใจ กลุ่มเหนือวัดรวมใจสามัคคี กลุ่มซอยกาญจนาภิเษก หมุนเวียนกันไป แต่สมาชิกต่างรอเวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมักจะคุยกันถึงเคล็ดลับการปลูกผักให้โตเร็ว ได้ผลผลิตเยอะ การแบ่งปุ๋ยอินทรีย์ให้กันใช้ ตลอดจนปัญหาที่กระทบต่อการปลูกผัก เช่น สภาพอากาศ ภัยแล้ง น้ำท่วม วิธีจัดการกับศัตรูพืช รวมไปถึงการซื้อขาย แบ่งปัน บ้านไหนเพาะต้นกล้าผักไว้ ก็จะบอกแจกจ่ายแก่สมาชิกที่ต้องการด้วยนั่นแสดงถึงความสุขของการได้ร่วมคิด ร่วมทำกิจกรรมโครงการ แตกต่างจากเดิมที่ใช้ชีวิตเหมือนสังคมเมือง ชาวบ้านไม่ค่อยสนใจกัน แต่พอได้พูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกัน ก็เกิดความรักสามัคคี กลายเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อแบ่งปันแบบพี่น้องเข้ามาแทนที่.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้