อธิบดีกรมอุทยานฯจัดพิธีส่งมอบเครื่องเป่าลมดับไฟป่าพระราชทาน พร้อมซักซ้อมกำหนดทิศทางวางแผนรับมือไฟป่า หมอกควัน “ธัญญา”ชี้ไฟป่าภาคเหนือเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ย้ำทุกหน่วยลงพื้นที่ทำงานจริงจังเร่งสร้างความร่วมมือกับชาวบ้าน ครวญถูกตัดงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เตรียมชี้แจงกรรมาธิการฯถึงเหตุความจำเป็น
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.62 ที่ห้องประชุมใหญ่สวนสัตว์เชียงใหม่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานจัดพิธีส่งมอบเครื่องเป่าลมดับไฟป่าพระราชทาน ตามที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเงินเพื่อจัดหาอุปกรณ์เครื่องเป่าลมดับไฟป่าให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน 100 เครื่อง เพื่อใช้ในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้แก่ผู้บริหาร และหัวหน้าหน่วยงานสนามของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ในท้องที่ภาคเหนือ โดยมีนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ พร้อมด้วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่า รวม 260 นาย เพื่อเป็นการซักซ้อม กำหนดทิศทางและวางแผนรับมือสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในปี 2563
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเงินเพื่อจัดหาอุปกรณ์เครื่องเป่าลมดับไฟป่าให้แก่กรมอุทยานฯ จำนวน 100 เครื่อง ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้จัดซื้อเครื่องดังกล่าว ใช้งาน 500 เครื่องแล้ว รวมเป็น 600 เครื่อง พร้อมซักซ้อมกำหนดทิศทาง วางแผนรับมือสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในปีหน้า ซึ่งได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับราษฎร พร้อมสร้างจิตสำนึกเพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ จัดชุดลาดตระเวน เพื่อเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนปี 63 นั้นยังน่าเป็นห่วงด้วยสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งและปรากฏการณ์เอลนิโญ่ อย่างไรก็ตามทางกรมฯได้มีการถอดบทเรียนแล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาและได้บทเรียนจากครั้งก่อนก็ต้องมาแก้ไข ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่า ซึ่งเดิมเชื่อว่าไฟป่าเกิดจากน้ำมือมนุษย์ แต่สำหรับภาคใต้ที่เกิดไฟป่าที่ป่าพลุ พบว่าเกิดจากภัยธรรมชาติด้วยคือมีฟ้าผ่าถึง 3 ครั้ง แต่สำหรับภาคเหนือไฟป่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ 100%
“หลังจากวันนี้ถือว่าเป็นการคิกออฟของกรมอุทยานฯแล้ว สิ่งที่ได้เน้นย้ำคือการเข้าไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยบูรณาการร่วมกับทหาร ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชนเรา ต้องมีการทำแนวกันไฟ ต้องจัดระเบียบการเผา เพราะอย่างไรก็ต้องมีการลักลอบเผาวัชพืชและใบไม้ เพื่อทำการเกษตร เนื่องจากเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว แต่ทำอย่างไรไม่ให้ลุกลาม จำกัดพื้นที่ แต่ผมยืนยันได้เลยว่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ฯไม่มีการเผาเพื่อเอางบประมาณโดยเด็ดขาด ที่ผ่านมาเราสูญเสียป่า สูญเสียเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ปีนี้เราจะพยายามไม่ให้เกิดไฟป่าให้มากที่สุดแต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน”นายธัญญา กล่าวและชี้แจงอีกว่า
สำหรับพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงก็ยังคงเป็นพื้นที่ล่อแหลมที่เคยเกิดเหตุไฟป่ามาแล้ว อย่างเช่นที่ดอยหลวงเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ซึ่งตอนนี้ยังประเมินความเสียหายโดยเฉพาะพันธุ์ไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบด้วยว่าจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้หรือไม่ ตอนนี้จึงมีการปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติเดิมไว้ก่อน และสร้างความร่วมมือกับชุมชน องค์กรเครือข่าย ปีนี้ทางกรมฯได้มีการขยายเรื่องจิตอาสาด้วย
ส่วนปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำบ้านพักหรือรีสอร์ท บริเวณบ้านนาเลาใหม่หมู่ที่ 10 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวนั้น ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการเพียง 17 รายเท่านั้น ห้ามเพิ่มเติม หรือขยายที่พักรองรับนักท่องเที่ยวอีก ถ้าฝ่าฝืนดำเนินการยึดคืนและรื้อถอนทันที ซึ่งเชื่อว่าดำเนินการมาถูกทางแล้ว แม้ว่ามีการต่อต้านหรือคัดค้านก็ตาม เพราะได้ทำบันทึกข้อตกลง และขอความร่วมมือในการฟื้นฟูป่าไม้ เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันด้วย
นายธัญญา กล่าวต่อไปอีกว่า ปีนี้กรมอุทยานฯ ถูกตัดงบประมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 500 ล้านบาท ปีหน้า มีแนวโน้มถูกตัดงบประมาณลงอย่างต่อเนื่อง จากปีละ 700 กว่าล้านบาท เหลือเพียง 180 กว่าล้านบาท หายไป 400 กว่าล้านบาท จึงต้องไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เพื่อให้มีงบประมาณในการดูแลฟื้นฟูอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ เพื่อเป็นสมบัติของชาติและมรดกลูกหลานต่อไป และปีที่แล้วงบฯของกรมฯกว่า 200 ล้านบาทตกไปเพราะไม่มีการเบิกจ่าย ซึ่งถือว่ามากที่สุดตั้งแต่ตนเป็นอธิบดีฯมา ตอนนี้ได้ตั้งนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีฯเป็นหัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบฯเรื่องนี้ต้องหาคนผิดมาลงโทษให้ได้ว่าทำไม ได้งบประมาณมาแล้วแต่ยังทำให้งบฯตกไป
“ในอีกไม่นานจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่งตั้ง โยกย้าย เพราะที่ผ่านมามีการว่ากล่าวตักเตือนไปแล้วแต่หลายพื้นที่ยังเพิกเฉย การทำงานไม่ใช่อยู่ในห้อง ต้องลงพื้นที่ต้องรอบรู้ เพราะปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแล้วมีหลายเรื่องตอนนี้ที่ประชาชนส่งข้อมูลหรือร้องเรียนตรงไปยังส่วนกลาง ร้องไปในเพจ ร้องตรงไปที่รัฐมนตรี เขาไม่มาร้องที่สำนักบริหารฯหรือร้องเรียนในพื้นที่แล้ว คนที่เป็นผอ.สำนักฯอาจจะโดนโยกไปเป็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือเป็นผู้ตรวจ หัวหน้าอุทยาน หัวหน้าเขตก็อาจได้เข้ามาประจำที่สำนักงาน ผมจึงอยากให้ทุกคนปรับตัวและทุ่มเทกับการทำงาน ไม่ใช่เวลาถามมาบอกไม่มีอะไรแต่กลับมีเรื่องร้องเรียนไปที่ส่วนกลางหรือหน่วยงานอื่น”อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวและยังกล่าวชี้แจงในช่วงมอบนโยบายด้วยว่า
องค์กรทุกองค์กรถ้าหากมีการร้องเรียนกันเองไม่มีทางสงบสุข ลูกน้องร้องเรียนหัวหน้า จะได้ชำนาญการพิเศษอยู่แล้วก็ให้คนมาร้องเรียน ทำให้คนที่สำรองอันดับ 1 โชคดีได้ไป เพราะฉะนั้นเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก หลายคนสมัครรอบที่แล้วก็อย่าเพิ่งน้อยใจ ทางกรมฯไม่ได้นิ่งนอนใจกำลังเร่งรัดดำเนินการเปิดตำแหน่งอาวุโสชำนาญการอยู่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากจะฝากในครั้งนี้ขอให้ผอ.สำนักฯหัวหน้าอุทยาน หัวหน้าเขตและหัวหน้าสถานีช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การตัดไม้ทำลายป่า การค้าสัตว์ป่าในส่วนพื้นที่รับผิดชอบของตนเองด้วย
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวด้วยว่า ใครที่อยู่พื้นที่รอยต่อจังหวัดลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์และแพร่ ขอให้รีบไปตรวจสอบและสแกนพื้นที่ให้ดี เพราะขณะนี้มีพลเมืองจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตัดไม้ชินชันเพื่อเอาไปทดแทนไม้พะยูงแล้วบางส่วน และเร็วๆ นี้จะมีการแต่งตั้งหัวหน้าชุดพญาเสือคนใหม่ด้วย ซึ่งต่อไปชุดนี้จะทำงานเข้มข้นกว่าเดิม เพราะขณะนี้มีประชาชนแจ้งข้อมูลเข้ามาตลอดเวลาทั้งเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า การตัดไม้ทำลายป่า การค้าขายสัตว์ป่าทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งทางกรมอุทยานฯจะทำงานแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่.