เชียงใหม่ประชุมเตรียมความพร้อมก่อนประชุมพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนปี 2561 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 พ.ย.2561

เชียงใหม่ประชุมเตรียมความพร้อมก่อนประชุมพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนปี 2561 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 พ.ย.2561

จังหวัดเชียงใหม่ประชุมเตรียมความพร้อมก่อนประชุมพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนปี 2561 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 พ.ย.2561 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจได้รับทราบถึงกิจกรรม โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการขับเคลื่อนกาแฟในภูมิภาคให้บรรลุเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตและผู้ค้ากาแฟคุณภาพสูงชั้นแนวหน้าในเวทีโลก

วันที่ 7 ส.ค.61 ที่ห้องเชียงใหม่ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ภายใต้กิจกรรม การสร้างภาพลักษณ์และสร้างการรับรู้เพื่อมุ่งสู่เชียงใหม่เมืองกาแฟ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจ พร้อมมอบประกาศนียบัตรเกษตรกร ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดสรรคุณภาพเมล็ดกาแฟในกิจกรรมสร้างการรับรู้คุณภาพเมล็ดกาแฟ

นายสุรพล ปลื้มใจ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับ   ทุกภาคส่วนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ริเริมกิจกรรม และ       ต่อยอดโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟเชียงใหม่มาโดยตลอด โดยล่าสุด          ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม การสร้างภาพลักษณ์และสร้างการรับรู้เพื่อมุ่งสู่เชียงใหม่เมืองกาแฟ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจ งบพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ปีงบประมาณ 2561

โดยกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น จะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟของเชียงใหม่ ให้มีความพร้อม สำหรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติด้านอุตสาหกรรมกาแฟ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งสามารผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองกาแฟอย่างเต็มรูปแบบ และสามารถก้าวขึ้นมาเป็น coffee hub หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมกาแฟในภูมิภาคได้อย่างภาคภูมิใจในอนาคต

ด้านนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า นับตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่กาแฟต้นแรกของเชียงใหม่ ถือกำเนิดขึ้นด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 และสมเด็จพระ        นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้มีพระราชดำริ ให้ประชาชนพื้นที่สูงปลูกกาแฟ ทดแทนการปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอย

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองแห่งกาแฟ ที่มีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมกาแฟ ที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟมากกว่า 2 หมื่นไร่ ใน 19 อำเภอ ให้ผลผลิตราว 3 พันตันต่อปี และมีร้านกาแฟมากกว่า 1 พันแห่ง นอกจากนี้ ล่าสุดคู่มือการท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกอย่าง Lonely’s Planet’s global coffee tour ฉบับล่าสุดที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ยังได้จัดให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 3 เมืองกาแฟที่ดีที่สุดในเอเชีย เคียงคู่กับ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ  อิโปห์ ประเทศมาเลเซีย

รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง    ได้พยายามร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมกาแฟของเชียงใหม่มาโดยตลอด เราได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ร่างยุทธศาสตร์กาแฟจังหวัดเชียงใหม่ปี 2561 – 2565 ภายใต้ 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 2. พัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม 3. พัฒนาด้านการตลาด 4. การวิจัยและพัฒนาและกลยุทธ์ 5. การบริหารจัดการ

และในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่ท้าทายอีกก้าวหนึ่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่กำลังจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน “การประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเชียนปี 2561” หรือ “ACID 2018 : ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกาแฟในภูมิภาคอาเชียน” ซึ่งจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกาแฟใหญ่ระดับภูมิภาค ครั้งแรกในเชียงใหม่ ทางจังหวัดเชียงใหม่ โดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนอุตสาหกรรมกาแฟมาโดยตลอด ได้ริเริ่มกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในหลายด้าน ตั้งแต่ผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ        ไปจนถึงปลายน้ำ รวมถึงจัดประชุมเตรียมความพร้อมในวันนี้ เช่นกัน

ขณะที่นางชาลอต  โทณวนิก ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดประชุม การพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 ว่า การประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนครั้งที่ 1 ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการการจัดงานที่จัดตั้งจากความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งสิ้น 12 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพ  และ สมาพันธ์กาแฟอาเซียน สมาคมบาริสต้าไทย สมาคมกาแฟไทย สมาคมชาวสวนกาแฟไทย สมาคมกาแฟและชาไทย และมูลนิธิชาวสวนกาแฟ ในฐานะเจ้าภาพร่วม ตลอดจนบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน รวมทั้งพันธมิตรต่างๆ ภายใต้เป้าหมายที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กาแฟ เพื่อก้าวสู่ “เป็นผู้นำการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพในภูมิภาคอาเซียน ก้าวไกลสู่ตลาดโลกภายใต้ภาพลักษณ์กาแฟไทย” ภายในปี 2564 และสร้างโอกาสทางธุรกิจกาแฟของประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำบนเวทีวิชาการระดับอาเซียน

ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันประชุมหารือ คิดสร้างสรรค์รายการและกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ ภายในงาน โดยมีเป้าหมายหลักที่จะร่วมกันสร้างให้เกิดการพัฒนา การต่อยอดทางความคิด ในด้านต่างๆ ให้กับอุตสาหกรรมกาแฟอย่างครบทุกกระบวนการ ดังนั้น การประชุมที่จะมีขึ้นภายใน 2 วัน คือ 22-23 พฤศจิกายน 2561 จึงไม่เพียงแต่มีการประชุมที่จะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านวิชาการ และด้านธุรกิจ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายกว่า 20 ท่าน รวมทั้งผลงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วม ตลอดจนเกิดการพบปะ แลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจโดยมุ่งเน้นเรื่องการสร้างอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้มีโอกาสร่วมสร้างประสบการณ์เยี่ยมชมดูงานด้านกาแฟ อาทิ โครงการหลวง แหล่งปลูกกาแฟ โรงคั่วกาแฟ และร้านกาแฟ อันจะเสริมทั้งความรู้และความสนุกให้กับการเข้าร่วมประชุม ที่สำคัญ ภายในงาน ACID 2018 ยังมีการประกวดการแข่งขัน ACID 2018 Barista Princess Royal Cups ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 รายการ ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติที่เปิดรับทั้งผู้เข้าแข่งไทยและต่างชาติ ได้แก่ การแข่งขัน ACID 2018 Brewer Cup Championship และการแข่งขัน ACID 2018 Latte Art Championship ที่จะมีขึ้นตลอด 4 วันคือ ระหว่าง 22-25 พฤศจิกายน 2561  อีกทั้ง ในช่วง มิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังมีการจัดประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ACID 2018 ชิงถ้วยพระราชทานฯเช่นกัน โดยจะมีการประกาศผลผู้ชนะในวันแรกของงาน

และระหว่างช่วงเวลาเดียวกันนี้ ก็จะมีส่วนงานมหกรรมกาแฟนานาชาติ ASEAN Coffee Fest 2018 อันเป็นการแสดงนิทรรศการทั้งผลงานด้านวิชาการและงานแสดงสินค้าอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ได้มีโอกาสนำเสนอภาพลักษณ์ และธุรกิจขององค์กรในด้านความยั่งยืน ตลอดจนเปิดโอกาสทางการทำธุรกิจการค้า โดยถือเป็นงานที่เป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการตั้งแต่ กิจการด้านการเกษตร กิจการโรงคั่ว กิจการโรงงาน กิจการเครื่องมือและเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจกาแฟ กิจการร้านค้ากาแฟ แฟรนไชส์ และกิจการผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจกาแฟ อาทิ ชา ขนม นม น้ำตาล และอีกมากมาย รวมทั้งพาวิลเลี่ยนจากบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆ

“ในการประชุมนี้จะเป็นการให้ความรู้อันทันสมัย และสร้างความเข้าใจในการพัฒนาเพื่อสร้างโอกาสในการทำธุรกิจกาแฟภายใต้บริบทของความยั่งยืนในอาเชียนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟทุกภาคส่วน โดยงานประชุมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา  จังหวัดเชียงใหม่ “ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การประชุมฯตัวแทนสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ทั้งนี้ ในการประชุมเตรียมความพร้อมก่อน ACID 2018 มีการเสวนา 2 หัวข้อด้วยกัน ได้แก่ หัวข้อ “วิถีชีวิต วิถีกาแฟเชียงใหม่” จากมุมมองของคนกาแฟ โดย ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ และผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมกาแฟภาคเหนือ และ หัวข้อ “จุดเด่นจุดด้อยของเมล็ดกาแฟเชียงใหม่และแนวโน้มสู่ตลาดโลก” โดยคุณลลิดา สิทธิพฤษทานนท์ และ Mr. Robert Francisco จาก ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตัวแทนคณะกรรมการโครงการสร้างการรับรู้คุณภาพเมล็ดกาแฟ ได้วิเคราะห์ถึงจุดเด่นจุดด้อยของกาแฟที่ได้คะแนนสูงสุด รวมทั้งภาพรวมของกาแฟทั้ง 72 ตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ หลังจากผ่านการทดสอบคุณภาพ พร้อมทั้งแนวทางการพัฒนาให้ก้าวไกลไปถึงตลาดโลก

ภายในงานดังกล่าวยังได้เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตร Roasting foundation, Brewing foundation และ Sensory skills foundation ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะของบุคคลากรในอุตสาหกรรมกาแฟให้แก่ผู้สนใจฟรี โดยทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันระดับโลกอย่าง Torch Coffee Lab ซึ่งมีสาขาในเมืองไทยหนึ่งเดียวที่เชียงใหม่ โดยจะเปิดรับหลักสูตรละ 10 คน เท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการจะทำการคัดเลือกโดยพิจารณาตามความเหมาะสม และประประกาศผลต่อไป

ดังนั้น คณะกรรมการการจัดงานการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนครั้งที่ 1 ขอเรียนเชิญเกษตรกร ประชาชนผู้สนใจ ผู้ประกอบการ ร่วมกันให้การสนับสนุนงาน ACID 2018 ในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้งานดังกล่าวประสบความสำเร็จ อันจะเป็นการต่อยอดความมุ่งมั่นไปยังเป้าหมายที่จะนำกาแฟไทยไปสู่ความก้าวหน้าในด้านคุณภาพ สร้างอัตลักษณ์ของไทย พร้อมกับสร้างความร่วมมือกันในระดับสากล เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมกาแฟอย่างแท้จริง.

 

You may also like

Hilight ในคืนข้ามปีกับ BamBam เหล่าอากาเซ่และแบมมี่ ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์เมื่อ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา

จำนวนผู้