เชียงใหม่ใช้มาตรการเดียวกับกรุงเทพฯ หลังพบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มรุนแรงผู้ว่าฯลงนามประกาศปิดชั่วคราว 22 วัน เพื่อหยุดการเดินทางของผู้คน ทั้งร้านอาหาร ตลาด ร้านกาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ ให้ขายเพื่อซื้อกลับได้เท่านั้น ขณะที่ตัวเลขคนป่วยยืนยันยังเท่าเดิม 12 ราย อยู่รพ.84 ราย
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 22 มี.ค.63 ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และนายแพทย์วรเชษฐ์ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมของคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเชียงใหม่และสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีเคสผู้ป่วยใหม่เพิ่ม จึงทำให้คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเชียงใหม่ต้องเพิ่มมาตรการเพื่อปิดกั้นและลดความแออัด ไม่ให้ผู้คนไปอยู่ในที่เบียดเสียดที่เดียวกันมากๆ จึงได้มีมติยกเลิกคำสั่งประกาศฉบับที่ 1 ลงวันที่ 18 มี.ค.63 และใช้ประกาศฉบับที่ 2 ลงวันที่ 22 มี.ค.2563
โดยให้สถานที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ถือปฏิบัติเป็นการชั่วคราวตั้งแต่เวลา 18.00 น.วันที่ 23 มี.ค.ถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 13 เม.ย.63 โดยปิดสถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ปิดศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมและสถานที่จัดนิทรรศการ ปิดพื้นที่บางส่วนของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หรือห้างร้านที่มีร้านค้าย่อยในอาคารหรือบริเวณเดียวกัน เว้นแต่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สำนักงาน ธนาคาร สำหรับร้านอาหารให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น
ตลาดให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยาและสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตลาดสดถนนเดิน ร้านอาหาร เครื่องดื่มให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น ส่วนในโรงแรมให้บริการเฉพาะแขกที่พักอาศัยในโรงแรมเท่านั้น ปิดพื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหาร เครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มทุกแห่ง เป็นต้น
ทั้งนี้เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง(1)แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ.2539 ทั้งนี้ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุก 1 ปี หรือทั้งจำและปรับ
ทางด้านนายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อยืนยันของจังหวัดเชียงใหม่ 12 ราย โดยพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 11 ราย หายและกลับบ้าน(จีน) 1 ราย มีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวน 439 ราย กลับบ้าน 355 ราย อยู่โรงพยาบาล 84 ราย ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศเฝ้าระวัง(เสี่ยง) 418 ราย กักตัวที่บ้าน 153 ราย อยู่สถานกักกันของจังหวัด 16 รายและอยู่ระหว่างติดตามตัวอีก 21 ราย
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วยยืนยันใหม่ 3 ราย คนแรกเป็นหญิงไทยอายุ 57 ปี เป็นเจ้าของกิจการ เดินทางมาจากประเทศอังกฤษกับลูกสาวและหลานชาย กลับมาเชียงใหม่เมื่อ 12 มี.ค.กลับมาอยู่บ้านตลอด ผู้สัมผัสทั้งหมดได้รับการตรวจยืนยันแล้วไม่พบเชื้อ โดยเดินทางจากอังกฤษถึงสนามบินสุวรรณภูมิและนั่งเครื่องจากสุวรรณภูมิ-เชียงใหม่ สายการบินไทยสมายด์ WE176 ถึงเชียงใหม่เวลา 23.40 น.
ผู้ป่วยคนที่ 2 เป็นชายชาวสวิส อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ วัย 66 ปี เดินทางเข้ามา 18 มี.ค.มีอาการป่วย 19 มี.ค.ไม่มีผู้สัมผัสเพราะรู้ตัวว่าป่วยได้โทรศัพท์บอกให้ภรรยาเอารถไปจอดไว้ที่สนามบินและขับรถกลับเอง ส่วนผู้ป่วยรายที่ 3 เป็นหญิงไทยอายุ 35 ปี เดินทางมาเชียงใหม่ด้วยสายการบินไทยสมาย WE 164 ทำงานที่ร้านนวดแผนไทย ปิ่นแก้ว แถวร้านท็อปโชตนา ต.ช้างเผือก มีอาการป่วยและมานอนรพ.เมื่อ 19 มี.ค. มีผู้สัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวและที่ทำงานที่ติดตามได้แล้ว
“สำหรับผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ทางคณะกรรมการควบคุมโรคฯกำลังติดตามว่าไปสัมผัสกับใครบ้าง ซึ่งยังต้องมีการติดตามอีกหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมากับสายการบินไทยสมายทั้ง 2 เที่ยวบิน และผู้ที่คิดว่าสัมผัสกับผู้ป่วยรายที่ 3 ขอให้กักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน และยังไม่ต้องรีบมาตรวจหากยังไม่มีอาการ แต่หากมีอาการป่วยให้ติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านซึ่งจะมีระบบการส่งต่อและตรวจยืนยันในระบบต่อไป