เปิดเวทีโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน HAZE FREE THAILAND 2018 รวมงานวิจัยทุกด้านจาก 8 มหาวิทยาลัยหวังลดปัญหาหมอกควันใน 5 ปี เผย 2 ปีใช้เงินไปกว่า 88 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.61 ที่ห้องป่าสักน้อย โรงแรมปางสวนแก้ว ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานโครงการ HAZE FREE DAY 2018 โดยมี นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่,รศ.ดร.ปิยะพงษ์ เนียมทรัพย์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.ในฐานะผู้จัดการโครงการวิจัยร่วมให้การต้อนรับ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวว่า สำหรับโครงการประเทศไทยไร้หมอกควันหรือ HAZE FREE THAILAND 2018 เป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติหรือวช.ให้การสนับสนุนงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาโดยให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแกนหลักร่วมกับอีก 7 มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเกษตรในภาคประชาชนและสร้างอาชีพใหม่ๆ ที่ช่วยเสริมและทดแทนอาชีพเพิ่มที่ปลูกพืชหมุนเวียนที่ต้องเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดปัญหาหมอกควันของทุกปี
“โครงการประเทศไทยไร้หมอกควันเป็นตัวอย่างที่เอางานวิจัยทุกด้านมาแก้ไขปัญหา มารวมกันเป็นโครงการวิจัยท้าทายไทยไร้หมอกควัน ตั้งเป้าหมายไว้อย่างน้อย 5 ปีที่จะลดปัญหาต่างๆ ให้น้อยลง ซึ่งในทีมวิจัยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ลดการเผา เช่นปรับพื้นที่การเพาะปลูก หาพืชอื่นทดแทน บริหารจัดการแปลงเพื่อลดการเผา อีกกลุ่มจะเป็นการบริหารจัดการช่วงเวลาการเผาในกรณีที่จำเป็นต้องเผาเพื่อลดผลกระทบซึ่งทางจังหวัดได้เริ่มไปแล้ว และกลุ่มสุดท้ายคือผลกระทบด้านสุขาภาพและเศรษฐกิจจะลดปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร”เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวและชี้แจงว่า
สำหรับงบประมาณในการดำเนินโครงการปีที่ 1 และ 2 ใช้งบประมาณปีละ 44 ล้านบาท ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 เป็นการบูรณการงานวิจัยของมช.กับ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบนใช้งบประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งเราก็มีความตั้งใจว่าจะทำให้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ลดลง และไม่ใช่ปัญหาหลักของภาคเหนืออีกต่อไป ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมานอกจากบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังมีการประสานการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะให้เข้าใจและรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
ขณะที่รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.ในฐานะผู้จัดการโครงการวิจัย กล่าวว่า ในปีแรกที่เริ่มโครงการสิ่งที่เห็นผลเป็นรูปธรรมคือจำนวนจุดความร้อน Hot Spot ลดลง จำนวนวันที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานก็ลดลง ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนก็ลดลงตามไปด้วย ซึ่งการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันคงต้องใช้เวลาอีกนานในการที่จะลดผลกระทบในด้านต่างๆ ลงไป แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ในสว่นของภาควิชาการเองมีมหาวิทยาลัย 7-8 แห่งเข้ามาร่วมเพื่อสร้างโมเดลในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในเรื่องการของพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจากที่เคยปลูกในป่าก็หันไปลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแต่ปลูกป่าและปลูกต้นไม้ใหญ่ทดแทน ส่งเสริมการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่นปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งขณะนี้ในส่วนของชุมชนพื้นที่ก็ให้ความร่วมมือดีขึ้นด้วย.