ศอญ.จัดจิตอาสา 150 ชุดลงระดับหมู่บ้าน-ตำบลพร้อมอุปกรณ์ครบ เป็นประตูชุมชนเฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่าดอยหลวงเชียงดาว เร่งแผนปั้น”ดอยหลวงโมเดล”ป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าซ้ำได้อีก ขณะที่นายอำเภอเชียงดาวยอมรับมีไฟที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับจนท. ด้านผู้ว่าฯเชียงใหม่ยัน 30 เม.ย.ได้ข้อสรุป
วันที่ 8 เม.ย.62 ที่ห้องประชุมภายในอาคาร SME ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานประชุมร่วมกับตัวแทนกองทัพภาคที่ 3 มณฑลทหารบกที่ 33 กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ ชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการจัดทำ “ป่าเปียก”ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในผืนป่า
พ.อ.กฤต พันธะสา ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 3 ผู้แทนกองทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากกองทัพภาคที่ 3 ให้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและประชุมร่วมกับทุกฝ่าย โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้รายงานสถานการณ์การแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง
ทั้งนี้ได้มีข้อสั่งการลงมา ให้ทางกองทัพฯและจังหวัดจัดทำโครงการดอยหลวงโมเดล เป้าประสงค์คือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าขึ้นมาอีก โดยเฉพาะการทำป่าเปียก โดยศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสา พระราชทานตามแนวพระราชดำริ (ศอญ.) กำหนดให้ศูนย์จิตอาสาลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ ทรงมีพระราชทานชุดดับไฟป่าประมาณ 150 ชุดๆ ละ 13 คนพร้อมอุปกรณ์ดับไฟทั้งเครื่องเป่าลม หน้ากากและไม้ตบไฟ เพราะฉะนั้นชุมชนจะต้องเฝ้าระวังเป็นประตูในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไฟป่าได้อีก
ผอ.กกล.กองทัพภาคที่ 3 กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อสั่งการในส่วนของการฟื้นฟูระบบนิเวศน์บริเวณดอยหลวงอย่างถาวร ซึ่งจะมอบหมายให้กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16)เป็นหน่วยงานหลักว่าในช่วง 9 เดือนจากนี้ไปจะทำอย่างไร แต่ทั้งนี้ควรจะหาพื้นที่ที่ทำป่าเปียกที่ประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนก่อนเพื่อศึกษารูปแบบ การดำเนินงานมาใช้ที่ดอยหลวงเชียงดาว เพราะที่จังหวัดลำปางเองก็กำลังเริ่มทดลองและเป็นพื้นที่ไม่กว้างใหญ่ ประกอบกับกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นตามทฤษฎีศาสตร์พระราชา ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 3 ขอให้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะสามารถนำไปใช้กับดอยหลวงโมเดลได้
“ข้อสั่งการจากผู้บังคับบัญชาอีกเรื่อง ซึ่งในส่วนของการปฏิบัติงานในช่วงวิกฤต(7 วันลดจุดความร้อนในพื้นที่และบรรเทาผลกระทบจากหมอกควันไฟป่า)นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จ จุดความร้อนหรือ Hot Spot ลดลง ซึ่งกองทัพภาคที่ 3 ขอให้หน่วยงานที่ปฏิบัติงานร่วมกันขอให้ทำอย่างต่อเนื่องและชัดเจน โดยเฉพาะจากนี้ไปอีก 9 เดือนขอให้คิดถึงสิ่งที่นำไปสู่ความยั่งยืนด้วย ไม่ใช่พอฝนตกหมอกควันจางหายก็จบภารกิจ”พ.อ.กฤต กล่าวและว่า
สำหรับดอยหลวงโมเดลนั้น เมื่อกำหนดพื้นที่และขอบเขตแล้ว จะเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า และที่สำคัญคือเรื่องของคน ทำอย่างไรไม่ให้คนไปเป็นปัจจัยทำให้เกิดไฟป่า สิ่งสำคัญคือปากท้อง เศรษฐกิจ การสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ต้องทำ รวมทั้งพัฒนาและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ซึ่งนั่นคือการทำป่าเปียก และสุดท้ายคือบทบาทของภาครัฐ และเอกชน ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพภาคที่ 3 ต้องการทำให้เป็นดอยหลวงโมเดล
พ.อ.อโณทัย ชัยมงคล รองผบ.มทบ.33 กล่าวว่า อยากให้มีการจัดตั้งกองอำนวยการร่วมในการขับเคลื่อนดอยหลวงโมเดล โดยมีตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยกัน มีการวางแผนงานของแต่ละหน่วยงาน ทั้งการป้องกัน การอนุรักษ์ การส่งเสริมอาชีพ การอบรมและการสร้างความเข้าใจ ซึ่งจำเป็นต้องมีเจ้าภาพหลักมาดำเนินการในเรื่องนี้
ขณะที่นายชัชวาลย์ พุทโธ นายอำเภอเชียงดาว กล่าวว่า ลักษณะดอยหลวงเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูน สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2,235 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ซึ่งการที่คิดจะทำฝายไว้ข้างบนดอยหลวงอาจจะทำไม่ได้ เนื่องจากลักษณะภูมิศาสตร์และภูมิประเทศ ประกอบกับไม่มีแหล่งน้ำด้านบน ซึ่งการจะนำโมเดลป่าเปียกจากที่อื่น ซึ่งทำแล้วสำเร็จมาใช้กับที่ดอยหลวงเชียงดาวอาจจะไม่เหมาะสม และเห็นด้วยกับรองผบ.มทบ.33 ว่าการจะขับเคลื่อนดอยหลวงโมเดลให้สำเร็จได้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วมฯและมีเจ้าภาพหลักด้วย
“ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ดอยหลวงเชียงดาว ต้องแก้ที่คน ซึ่งต้องยอมรับว่าในพื้นที่มีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น อย่างที่บ้านนาเลา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปจับกุมและรื้อรีสอร์ท ที่มีการขยายและบุกรุกป่าจนต้องเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการรื้อถอนและทำข้อตกลงกันไว้ แต่ตอนนี้แม้กระทั่งที่รีสอร์ทบ้านระเบียงดาวก็ไม่มีใครเข้าไปพัก เพราะตั้งแต่มีไฟไหม้ ก็ปิดหมด นอกจากนี้ยังจะต้องหาวิธีการจัดการเกี่ยวกับขยะของนักท่องเที่ยวที่เข้าไปพักอาศัยในรีสอร์ทที่เชียงดาว เพราะที่ผ่านมารีสอร์ทก็ไม่มีที่ทิ้งและกำจัดขยะ จะใช้วิธีลักลอบเอาไปทิ้งในป่าและจุดไฟเผาอีก ต้องแก้ไขกันหลายอย่าง”นายอำเภอเชียงดาว กล่าว
ทางด้านนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่ป่าเปียกที่ทำสำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างในการศึกษาและนำมาใช้กับดอยหลวงเชียงดาว อย่างไรก็ตามจากการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมมาใช้ ซึ่งก็มอบหมายให้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจพื้นที่บนดอยหลวงเชียงดาวก่อนว่าจะทำวิธีการใดได้มาก เพราะทั้งของชลประทาน ของป่าไม้ก็เคยทำป่าเปียกในพื้นที่อื่นบ้างแล้ว ก็จะได้ปรับมาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ป่าดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเรื่องนี้จะต้องได้ข้อสรุปภายใน 30 เม.ย.นี้และจากนั้นก็จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ด้วย.
ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ