เสียงเพรียกสิทธิที่ดิน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

เสียงเพรียกสิทธิที่ดิน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

าหารแบบง่ายๆ แต่หลากหลายตามธรรมชาติ ถูกจัดเตรียมไว้ให้คนที่มาร่วมงานกินข้าวใหม่ ที่บ้านห้วยลุหลวง ซึ่งเป็นบ้านบริวารบ้านพนาสวรรค์ หมู่ 13 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้รับประทาน หลังจากเสร็จสิ้นพิธีขอบคุณพระเจ้า เช่นเดียวกับพืชพรรณ ผลผลิตทางการเกษตร ที่นำมามอบให้พระเจ้า ก็จะถูกแบ่งปันแจกจ่ายอย่างทั่วถึงดวงดี  จะนู  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยลุหลวง  บอกว่า ผลผลิตทางการเกษตรที่ชาวบ้านเพาะปลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ฟักแก้ว ฟักทอง แตงกวา ถั่ว มัน ฯลฯ ก่อนที่จะนำมาบริโภค ต้องให้พ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านกินก่อน รวมทั้งแบ่งส่วนหนึ่งถวายให้กับพระเจ้าตามความสมัครใจ เช่น ได้ข้าว 100 ถัง อาจแบ่งถวายพระเจ้าสัก 10 ถัง เป็นการขอบคุณที่ทำให้ได้ผลผลิตเจริญงอกงาม ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เกิดผลพลอยได้ คือช่วยให้คนในหมู่บ้าน กับเด็ก เยาวชนรุ่นใหม่ ได้มองเห็นความสำคัญ และจดจำพิธีกินข้าวใหม่ไว้สืบทอดต่อไป นอกจากนี้ภายในงาน ยังไม่ได้มีแค่ชาวบ้านในชุมชนเท่านั้น หากได้เชิญแขกเหรื่อจากหมู่บ้านอื่นเข้าร่วมด้วย ทำให้พิธีนี้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ทั้งระหว่างคนในชุมชน และเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดีอาหารการกินที่ถูกเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนา หรือดนตรี วัฒนธรรม นับเป็นกลวิธีหนึ่งที่ทำให้ชุมชน เด็ก และเยาวชน เห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร หากปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้นั้น คือสิทธิในการบริหารจัดการที่ดิน ซึ่งสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่ามายาวนาน มักจะประสบปัญหาถูกประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ หรือได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า พวกเขาจึงได้ออกมา รณรงค์ขับเคลื่อนสิทธิในที่ดิน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการที่ดินได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสุพจน์ หลี่จา  ผู้จัดการโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่าสำหรับพี่น้องชาติพันธุ์ ที่ดินคือชีวิต เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร แต่ทุกวันนี้พี่น้องชนเผ่าทั่วโลกได้รับผลกระทบจากผลพวงของการพัฒนา เช่น กฎหมายต่างๆ ที่ลิดรอนสิทธิทำกิน หรือการส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว พืชเศรษฐกิจ พี่น้องชนเผ่าจึงออกมารณรงค์สิทธิด้านที่ดินต่อรัฐบาล เพื่อให้รัฐมองเห็นว่าที่ดินมีความสำคัญต่อการดำรงชีพ การจัดการที่ดินหรือสิทธิการถือครองที่ดิน จะช่วยส่งเสริมให้มีการสร้างความมั่นคงทางอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ และพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองคนอยู่ป่า ย่อมตระหนักดีว่าต้องรักษา จัดการที่ดิน ป่า น้ำ อย่างยั่งยืน โดยองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้าไปทำงานกับชาติพันธุ์เอง ก็เชื่อว่าการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตของตนเอง ภูมิใจในภูมิปัญญาจัดการดิน น้ำ ป่า ก็จะทำให้เขาสามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน และมั่นคง ท่ามกลางสังคม วัฒนธรรม ที่เปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วด้านเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ย้ำว่าสหประชาชาติได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศที่เป็นสมาชิก ในการทำให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน และสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อขจัดความหิวโหย เพราะนับเป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน รัฐบาลของทุกประเทศจึงต้องกำหนดนโยบายเรื่องความมั่นคงในสิทธิที่ดินทำกินให้กับประชาชนทุกคน รวมถึงพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองด้วย    เนื่องจากชนเผ่าพื้นเมืองมีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่ผูกพันกับธรรมชาติ เป็นมิติทางจิตวิญญาณที่เหมือนกันหมดทั่วโลก เช่น ปฏิญญาซีแอตเทิล (Seattle Declaration) ผู้นำอินเดียนแดงกล่าวว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของ Mother Earth หรือธรรมชาติที่เป็นแม่ของเรา ถือเป็นเจตนารมณ์ร่วม หรืออัตลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก ที่ต่างจากมนุษย์ในยุคทุนนิยมเสรี ซึ่งเอาที่ดินมาเป็นสินค้า เพื่อเก็งกำไร ในขณะที่ชนเผ่าพื้นเมืองถือว่ามนุษย์ขอใช้ที่ดินช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อผลิตอาหาร เพื่อเลี้ยงชีวิตอย่างพอเพียง         “ถ้ารัฐบาลตระหนักในแนวทางนี้ ก็จะเห็นว่าที่ไหนที่มีชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังคงดำรงอัตลักษณ์ทางภูมิปัญญาเอาไว้ได้ ที่นั่นจะมีสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ และต่อมาก็ได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่การรักษาป่ากลับเป็นโทษ คนที่อยู่ในที่ดั้งเดิมของตนเองแล้วรักษาป่าอย่างดี กลับถูกกฎหมายมาจำกัดสิทธิ เช่น สิทธิในการเก็บอาหารหรือสมุนไพรจากป่าที่เขาดูแลมาเองกับมือ” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อธิบาย              ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ควรจะถือหลักการบริหารจัดการร่วม ไม่ถือว่าป่าเป็นของรัฐ แต่ป่าเป็นสิทธิที่มนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชนเผ่าพื้นเมือง ควรจะได้สิทธิในการดูแลรักษาร่วมกับรัฐ และใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน.

You may also like

ครึ่งเดือนแรกม.ค.เชียงใหม่อนุมัติคำร้องชิงเผากว่า 1 พันไร่อีกเกือบ 2 หมื่นไร่จ่อคิว

จำนวนผู้