“แก่อย่างมีคุณภาพ” พลังสร้างสรรค์จากผู้สูงอายุ ต.ยุหว่า

“แก่อย่างมีคุณภาพ” พลังสร้างสรรค์จากผู้สูงอายุ ต.ยุหว่า

 

อยยิ้ม และความเบิกบานของผู้สูงอายุ ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ทำให้ทุกวันพุธมีความหมาย และเป็นวันที่ผู้สูงวัยเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ เพื่อมาร่วมกิจกรรมในศูนย์สร้างเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพชุมชน ต.ยุหว่า ที่ตั้งอยู่ภายในวัดสันป่าตอง♣ “ทำทุกอย่าง” เพื่อให้ได้ผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ

แม่ครูบัวแก้ว กัณทวี  ครูใหญ่โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลยุหว่า (บ้านกิ่วแลหลวง) ในวัย 85 ปี บอกว่าจากการสำรวจ พบว่าประชากรบ้านกิ่วแลหลวง หมู่ 4 ต.ยุหว่า เป็นผู้สูงอายุถึง 282 คน จากประชากรทั้งหมด 348 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 73  ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง สามารถร่วมกิจกรรมชุมชนได้ 232 คน อยู่ติดบ้าน 191 คน และติดเตียง 1 คน  ขณะเดียวกันส่วนหนึ่งยังขาดสุขภาวะที่ดี มีโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง บางคนมีภาวะโรคซึมเศร้า ทั้งยังขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง การทำกิจกรรมในผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งปี 2550 ทางสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงประกาศให้ชมรมผู้สูงอายุที่สนใจ สมัครร่วม “โครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยชมรมผู้สูงอายุระดับชุมชน” เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีอายุยืนยาว พร้อมๆ กับมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทาง สสส.จะสนับสนุนงบประมาณ 2 ปี จากนั้นให้เทศบาลในท้องถิ่นรับช่วงต่อ ชมรมผู้สูงอายุ ต.ยุหว่า เห็นว่าเป็นการส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีศักยภาพในตัวเองทุกด้าน จึงขอร่วมโครงการ และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา“สำหรับศูนย์สร้างเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพชุมชน ต.ยุหว่า เปิดดำเนินการปี 2553 ทำกิจกรรมทุกวันพุธ มีการคัดกรองผู้สูงอายุตามกลุ่มศักยภาพ ตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) และมีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) ที่ผ่านการอบรมจากสหวิชาชีพ จำนวน 60 คน แบ่งออกเยี่ยมผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง ร่วมกับสหวิชาชีพ และนักกายภาพบำบัด เดือนละ 2 ครั้ง พูดคุยถึงอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว การฟื้นฟูเบื้องต้น รวมถึงคอยให้กำลังใจ ขณะเดียวกัน อผส.1 คน จะดูแลให้ข้อมูลผู้สูงอายุ 5 คนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนอีกด้วย” แม่ครูบัวแก้ว เล่าถึงความเป็นมาในปี 2555 แม้จะหมดงบประมาณของ สสส.แล้ว แต่ทางเทศบาลตำบลยุหว่า ได้เข้ามาสนับสนุนต่อตามเงื่อนไข และตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลยุหว่า (บ้านกิ่วแลหลวง) เปิดทุกวันศุกร์ เน้นกิจกรรมนำวิชาการ แล้วประมวลเป็นหลักสูตร เช่น งานใบตอง กระดาษ ประดิษฐ์ตุง โคม ตามประเพณี หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นครูใหญ่คนเดิม ย้ำว่าทำกิจกรรมทุกอย่าง เพราะอยากให้ผู้สูงอายุ เป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ สร้างพลัง ไม่สร้างภาระ จะทำอย่างไรให้มีพลัง ก็ต้องดูแลตัวเอง ยึดหลัก 3 อ. ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ และอยากให้ผู้ที่ยังไม่สูงอายุเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพด้วย โดยจุดมุ่งหมายในการทำงานคืออยากให้ผู้สูงอายุมีความสุข เป็นพลังของสังคม♣ สิ่งแวดล้อมใหม่ กระตุ้นผู้ป่วยติดเตียงฟื้นฟูศักยภาพ

พ่อวิรัตน์ วงศ์คำ อายุ 76 ปี เล่าว่า หลายปีก่อนเคยทำงานเป็นยามให้บริษัทแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ พอออกงานช่วงเช้า ก็ขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน มาถึงใกล้ตลาดหารแก้ว อ.หางดง ถูกรถเก๋งชนอย่างแรง หมดสติถึง 2 วัน ชาวบ้านคิดว่าไม่รอดชีวิตแน่นอน ถึงขนาดระดมกันมาปัดกวาดศาลาวัดเตรียมจัดงานศพให้ขณะที่เจ้าตัวนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ถึง 2 เดือน แล้วย้ายกลับมาอยู่โรงพยาบาลสันป่าตองอีก 2 เดือน พอออกจากโรงพยาบาลจึงหนีไม่พ้นสภาพผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่ในบ้านเพียงคนเดียว แม้จะมีลูกสาวมาเฝ้าดูแลตอนป่วยหนัก แต่เธอก็มีครอบครัวของตัวเอง และแยกไปอยู่อีกที่หนึ่ง กลางวันต้องทำงาน ซ้ำยังไม่ใช่ลูกสาวที่แท้จริง เป็นเพียงลูกติดภรรยาพ่อวิรัตน์ อธิบายว่า ความคิดในขณะนั้นอยากจะตายให้สิ้นเรื่อง มีชีวิตอยู่ด้วยความไม่มั่นใจ ในร่างกายมีแต่เหล็กดาม รู้สึกสูญเสียทั้งทางกายและใจ กระทั่งพยาบาลจากโรงพยาบาลสันป่าตองมาเยี่ยมบ้าน และพบว่ามีอาการซึมเศร้า ร้องไห้ จึงให้ทีม“หมอหล้า” (จิณณพัต สิงห์คำปุก – กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการปฐมภูมิ รพ.สันป่าตอง) เข้ามาดูแทน ก็เห็นว่ายังร้องไห้อยู่ในห้องนอน ด้วยสภาพเหมือนอยู่ตัวคนเดียว หมอและทีมอาสาสมัครที่มาด้วยกัน พยายามชวนพูดคุย และถามว่าจะพาไปที่ศูนย์สร้างเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพชุมชน ต.ยุหว่า จะไปได้ไหม ทุกคนช่วยกันประคองขึ้นรถตู้จนมาถึงวัด ก็มีการประคบ ทำกายภาพบำบัด ใช้เวลาราว 2 เดือน จึงเดินได้โดยใช้อุปกรณ์ช่วย“ผมเริ่มมาที่ศูนย์ฯ ทุกวันพุธ ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2559 ได้พูดจากับผู้สูงอายุคนอื่นๆ และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลสันป่าตอง จนมีกำลังใจฮึดสู้ว่าไหนๆ ก็ไม่ตาย ซ้ำบ้านไม่มีใคร ก็ต้องสู้และช่วยเหลือตนเองให้รอด จึงฝึกฝนตัวเองอย่างหนักให้สามารถเดินได้ แม้ตอนแรกจะรู้สึกเจ็บ ในที่สุดก็ทำได้ โดยวันนี้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยแล้ว เหมือนได้ชีวิตใหม่ที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจมาก จึงอาสาตอบแทนเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกัน เช่น นำไหว้พระสวดมนต์ในตอนเช้าก่อนเริ่มกิจกรรม ช่วยจัด-เก็บเก้าอี้ จัดสถานที่” พ่อวิรัตน์ กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม   เช่นเดียวกับคุณยายอำนวยศรี ชัยชนะ วัย 73 ปี อดีตเสมียนสหกรณ์ครู ที่ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันช่วงใกล้เกษียณ พอเกษียณก็ถูกมรสุมด้านสุขภาพซ้ำเติม ด้วยมะเร็งปากมดลูก จึงเก็บเนื้อเก็บตัวไม่ค่อยเข้าสังคม กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่กับบ้าน มีถังรองปัสสาวะ กับข้าว และยา วางไว้รอบตัว ในยามที่ลูกหลานออกไปทำงานนอกบ้านพอชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมที่วัดทุกวันพุธ โดยรับ-ส่งถึงที่ ตอนแรกต้องนั่งรถเข็น ระยะหลังได้รับการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จากเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดโรงพยาบาลสันป่าตอง, อสม.บ้านกิ่วแลหลวง และอาสาสมัครที่หมุนเวียนกันเข้ามาช่วยงาน จึงค่อยๆ ฟื้นฟูสมรรถภาพ สามารถเดินแบบใช้ไม้เท้า 4 ขาช่วย และตอนนี้แค่มีคนจูงมือ ก็เดินได้แล้ว และที่สำคัญคือมีสีหน้าร่าเริง ยิ้มง่ายขึ้น พยายามเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ เช่น การออกกำลังกาย แม้จะต้องนั่งทำบนเตียง เพราะยืนด้วยตนเองลำบาก♣ เติมเต็มทั้งกาย ใจ สังคม

จิณณพัต สิงห์คำปุก หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า“หมอหล้า” พยาบาลเทคนิคชํานาญการ กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการปฐมภูมิ รพ.สันป่าตอง กล่าวว่าปัจจุบันความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการเสื่อมถอยของร่างกายตามวัย และยังมีโรคเรื้อรังและอุบัติเหตุ จนเกิดภาวะพึ่งพิง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ลดน้อยลง สังเกตได้จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อภาวะผู้ป่วยล้น และโรงพยาบาลยังมีงบประมาณจำกัด ทำอย่างไรจึงจะลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานเชิงรุก ออกมาทำงานร่วมกับชุมชน เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลยุหว่า (บ้านกิ่วแลหลวง) หนุนให้ทุกคนช่วยกันดูแลตัวเองและคนในชุมชน โดยคัดกรองผู้สูงอายุตามกลุ่มศักยภาพ ตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) แบ่งเป็นกลุ่ม 1, 2, 3 โดยกลุ่ม 1 คือผู้สูงอายุที่พึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่น ชุมชนและสังคมได้ กลุ่ม 2 ผู้สูงอายุที่ดูแลตนเองได้บ้าง เรียกว่ากลุ่มติดบ้าน กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มติดเตียง หมายถึงผู้สูงอายุกลุ่มที่พึ่งตนเองไม่ได้ พิการ หรือทุพพลภาพ“กิจกรรมทุกอย่างในโครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยชมรมผู้สูงอายุระดับชุมชน โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลยุหว่า (บ้านกิ่วแลหลวง) ไม่ว่าจะเป็นการไหว้พระสวดมนต์ การออกกำลังกาย ตรวจวัดความดัน การนวดประคบ ทำกายภาพบำบัด งานประดิษฐ์ รวมถึงการพูดคุย รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน จึงเป็นการเติมเต็มทั้งทางกาย ใจ สังคม ทำให้ผู้สูงอายุกลุ่ม 3 ฟื้นฟูมาอยู่กลุ่ม 2 หรือ 1 ได้ เช่นเดียวกับกลุ่ม 1 ก็ต้องพยายามรักษาฐานอยู่ในกลุ่มนี้นานๆ อย่าให้กลายเป็นกลุ่ม 2 และ 3 เร็วเกินไป” หมอหล้า อธิบายวันนี้กลุ่มผู้สูงอายุ จึงไม่ใช่คนแก่ที่เป็นภาระของลูกหลาน หากพวกเขายังมีพลังกาย ใจ และสติปัญญา ที่สร้างสรรค์ให้สังคมก้าวไปข้างหน้าอย่างถูกทิศทาง และช่วยให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข.

You may also like

ท่าอากาศยานเชียงใหม่เผยช่วงเทศกาลนำผู้โดยสารเพิ่มจากปกติเกือบ20%

จำนวนผู้