แม่ทัพภาคที่ 3 ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังพบการแพร่ระบาดยาเสพติดรุนแรงทวีคูณกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งหาวิธีการและเทคนิครู้เท่าทันกลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้า เผยเตรียมเสนอรองนายกฯประจิณหารือ ก.อุตสาหกรรมควบคุมสารโซเดียวไซยาไนด์และสารตั้งต้นอีกหลายชนิด หลังพบถูกนำไปผลิตยาบ้านอกประเทศ
วันที่ 29 ส.ค.2561 ที่โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศอ.ปส.ชน.) พร้อมด้วยพล.ท.ดำริห์ สุขพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, พล.ต.ณัฐวุฒิ ชุณหะนันทน์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 7/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศป.ปส.ชน.), พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, พล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ และคณะทำงาน ร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯโดยกล่าวในที่ประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์, พิจารณาแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง และกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากพบว่าปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดเป็นทวีคูณ ยอมรับการจับกุมได้แต่ละครั้งมากกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งเรื่องของวิธีการหรือเทคนิคต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงานที่จะต้องให้ทันกับสถานการณ์การปรับเปลี่ยนของกระบวนการผู้ผลิต ผู้ค้ายาเสพติด โดยเฉพาะการลำเลียงยาเสพติดจากแหล่งผลิตกระจายไปพื้นที่ชั้นใน ซึ่งมีการขนส่งผ่านบริษัทขนส่ง แต่ในการสกัดกั้น ตรวจค้นและจับกุมทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับการทำงานของบริษัทที่ดำเนินการด้วย
แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการประชุมในครั้งนี้เป็นเรื่องหารือถึงปัญหายาเสพติดเพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีการจับกุมยาเสพติดได้มากกว่าปี 2560 และในปริมาณที่มากด้วย จึงต้องช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่ามันเป็นเพราะความต้องการในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นหรือเป็นเพราะการบูรณาการร่วมกันทั้งงานข่าว งานปราบปรามจึงสามารถสกัดกั้นและจับกุมได้มาก และในระยะยาวจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรหากความต้องการยาเสพติดยังเพิ่มสูงขึ้น
“ในตอนนี้มีเรื่องของสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาบ้าที่มันเป็นสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้ห้ามจำหน่ายในประเทศเรา แต่จะควบคุมอย่างไรเพื่อไม่ให้สารตั้งต้นตัวนี้ถูกนำไปผลิตยาเสพติดนอกประเทศ ซึ่งทางคณะกรรมการฯจะทำหนังสือถึงพล.อ.ประจิณ จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรมเพื่อให้ท่านหารือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมในการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ และสารตั้งต้นอีกกว่า 20 ชนิดที่จะต้องควบคุม โดยจะต้องดำเนินการให้ได้ข้อสรุปและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้ง”พล.ท.วิจักขฐ์ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
ความจริงแล้วเรื่องของสารโซเดียมไซยาไนด์นี้ทางพม่าไม่ได้อนุญาตให้ขนส่งทางบก แต่ก็พบว่ามีการส่งผ่านด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก ผ่านด่านทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนและด่านแม่สาย จ.เชียงราย เพราะสารนี้ในประเทศไทยไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ทางพม่าไม่ได้ อีกประเด็นที่หารือในการประชุมครั้งนี้คือเรื่องของการสกัดกั้นวงจรเงินของกระบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งก็ยังพบว่ามีจุดอ่อนเพราะที่ผ่านมามีการควบคุมเรื่องเงินที่เข้ามา แต่ไม่มีการควบคุมเรื่องเงินที่ออกไปด้วย และประเด็นสุดท้ายคือเรื่องที่จะให้ประเทศเพื่อนบ้านติดตาม จับกุมกลุ่มนักค้ายาเสพติดที่หนีจากประเทศไทยไปหลบซ่อนตัวในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรื่องนี้จะมีการประชุม RBC ในสัปดาห์หน้าที่จะนำไปหารือด้วย
ทั้งนี้ศอ.ปส.ชน.ได้สรุปสถานการณ์ยาเสพติด ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือว่า แหล่งผลิตยาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงผลิตยาเสพติดประเภทยาบ้า, ไอซ์ และเฮโรอีน ได้เป็นจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุเนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดยังคงสามารถส่งเข้าแหล่งผลิต ยาเสพติดได้หลายทิศทางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลักลอบลำเลียงเข้าสู่เขตไทย ยังคงดำเนินการมาโดยตลอด และสามารถส่งเข้ามาทดแทนยาเสพติดที่ถูกจับกุมได้ สำหรับทิศทางการลำเลียงยาเสพติด ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปลักลอบนำเข้าทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดเชียงรายเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่เหลือจะกระจายไปทางด้านจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติด คาดว่าแหล่งผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน จะยังคงผลิตยาเสพติด อย่างต่อเนื่อง และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ จะเป็นพื้นที่นำเข้าหลักอยู่ต่อไปพื้นที่เพ่งเล็ง ได้แก่ 1.) พื้นที่ด้านตรงข้าม อำเภอเวียงแก่น และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย 2.) พื้นที่ด้านตรงข้าม อำเภอแม่สาย และอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย 3.) พื้นที่ด้านตรงข้าม อำเภอแม่อาย, อำเภอฝาง, อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ในส่วนของผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ควบคุมอำนวยการ ประสานงานให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดเชียงรายและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ห้วงตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2560 ถึง 15 สิงหาคม 2561 สรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญดังนี้
- ด้านการสกัดกั้นปราบปราม สามารถยึด ยาบ้า จำนวน 71,048,358 เม็ด,ไอซ์จำนวน 3,704.4 กิโลกรัม, เฮโรอีน จำนวน 79.1 กิโลกรัม จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 784 คน
- ด้านการป้องกัน โครงการประชารัฐร่วมใจปลอดภัยยาเสพติดปี 2561 และโครงการไทยนิยมยั่งยืน รอบที่ 2 (ตั้งแต่ 21 ก.พ. 2561)
2.1 ผลการดำเนินงานตามแผนประชารัฐฯ ปี ๒๕๖๑ การสร้างภูมิคุ้มกันและการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเด็กปฐมวัย, กลุ่มเด็กปฐมศึกษา, มัธยมศึกษา, อาชีวศึกษา, อุดมศึกษา และสถานประกอบกิจการ เป้าหมายใน ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ดำเนินการแล้ว จำนวน ๘,๘๔๕ แห่ง ของเป้าหมายทั้งประเทศ (สูงกว่าผลการดำเนินการภาพรวม) โครงการไทยนิยมยั่งยืน รอบที่ ๒ (ตั้งแต่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๖๑) ผลการสำรวจ ในพื้นที่ ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีหมู่บ้านที่นำเข้าผลสำรวจ จำนวนทั้งสิ้น ๗,๒๕๗ แห่ง พบว่าเป็นหมู่บ้านที่มีปัญหายาเสพติด จำนวน ๒,๔๕๓ แห่ง ผลการดำเนินการบำบัดรักษาและติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา เป้าหมายใน ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ดำเนินการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา ๓ ระบบ ดำเนินการติดตามช่วยเหลือแล้ว ๑๒,๐๙๐ ราย
2.2. กองทุนแม่ของแผ่นดิน จังหวัดเชียงใหม่ ขับเคลื่อนโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ปี ๒๕๖๑ ศูนย์การเรียนรู้กองทุนแม่ของแผ่นดินดีเด่น บ้านหนองปลามัน ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
2.3 จังหวัดเชียงราย ดำเนินการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในเชิงพื้นที่ (Area) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ยาเสพติดรุนแรง โดยใช้งบพัฒนาจังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ทำโครงการป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นตอนในและพื้นที่ชายแดนตามแนวทางประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ.2561
- ด้านการบำบัดรักษา สถานการณ์และสภาพปัญหาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดสูง เนื่องจากมีทั้งแหล่งผลิต แหล่งพัก และเป็นช่องทางขนส่งยาเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้เสพยาเสพติดสูง โดยตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ – ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ จังหวัดเชียงใหม่มีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด จำนวน ๗,๘๕๔ คน ซึ่งมากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร.