กกร.เชียงใหม่เดินเครื่องขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองภายใต้”กฎบัตรเชียงใหม่” เผยเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐแลถะเอกชนในการปรับเปลี่ยนบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ จากให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด มาเป็นการรับผิดชอบร่วมกัน ชี้ภายใน 5 ปีเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างมาก โดยีปัจจัยเร่งจากตัวเลขนักท่องเที่ยวและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.62 ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.)จังหวัดเชียงใหม่ และประธานกฎบัตรเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง “กฎบัตรเชียงใหม่” ซึ่งกกร.จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่,สภาอุตสาหกรรมฯ, ชมรมธนาคารจังหวัดฯ ,สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ , สมาคมอสังหาริมทรัพย์ฯ, สมาคม Nohmex และสมาคมส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไทยได้ร่วมกันจัดขึ้น
ประธานกกร.จังหวัดเชียงใหม่และประธานกฎบัตรเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะกรรมการกกร. รับที่จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการยกร่างยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ นโยบาย เป้าหมายและแผนปฏิบัติการเชียงใหม่ 2029 พร้อมเป็นตัวกลางในการนำแผนปฏิบัติการสู่การปฏิบัติร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และภาคส่วนต่างๆ ซึ่งได้มีการยกร่างดังกล่าวไว้แล้ว
ในส่วนของนโยบายของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่สมัยนี้ ได้บรรจุประเด็นเรื่องกฎบัตรไว้ในเป้าหมายและยุทธศาสตร์ไว้ด้วย ทั้งนี้สิ่งที่ภาคเอกชนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องกฎบัตรเชียงใหม่ เนื่องจากจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมครั้งสำคัญระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการปรับเปลี่ยนและบูรณาการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา จากการที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด มาเป็นการดำเนินการและรับผิดชอบร่วมในการยกร่างและการนำแผนสู่การปฏิบัติ หลังจากนี้ความชัดเจน ความคมชัดในการพัฒนากฎบัตรและจัดทำแผนปฏิบัติการเชียงใหม่ (Chiangmai Action Plan) ทั้งการสร้างข้อมูลฐานจังหวัด (Chiangmai Baseline) และการวิเคราะห์ทางเลือกการพัฒนาเชิงอนาคต (Scenario Analysis) และการจัดทำแผนปฏิบัติการ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องผลักดันให้บรรลุผล
“ผมทราบว่ากระบวนการยกร่างได้ผ่านหลายขั้นตอน กระทั่งได้ประเด็นสำคัญอันจะเป็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกฏบัตรเชียงใหม่แล้ว ในการจัดประชุมระดมสมองครั้งแรก ทุกภาคส่วนมีความเห็นให้ใช้ไมซ์และเศรษฐกิจสีเขียว (MICE & Green Economy) ขับเคลื่อนพัฒนาตามกฎบัตร โดยมีสาขาการพัฒนาสำคัญๆ เช่นสาขาการจัดการฝุ่นควันและมลภาวะ สาขามรดกโลก สาขาเกษตรและอาหารปลอดภัย สาขานวัตกรรมสุขภาพ สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์”นายวโรดม กล่าวและชี้แจงอีกว่า
ในการประชุมครั้งที่สอง ที่ประชุมมติให้ยกระดับจังหวัดเชียงใหม่เป็นการท่องเที่ยวนิเวศโลก เป็นศูนย์การท่องเที่ยวที่รวมเอาทรัพยากรทางธรรมชาติ ทรัพยากรด้านวัฒนธรรม ทรัพยากรด้านมรดกโลกทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ พร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เชียงใหม่มีอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์บูรณาการเข้ากับทรัพยากรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังได้รับการพัฒนา ได้แก่ศูนย์นวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพหรือ Medical Hub ศูนย์การพัฒนาการเกษตรอาหารสมัยใหม่หรือ Food Valley และ Local Food หรือย่านนวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมืองเชียงใหม่ และอำเภอต่างๆรวมถึงนำศูนย์เศรษฐกิจอัจฉริยะของย่านนิมมาน (Nimman Smart City) พัฒนาศูนย์เศรษฐกิจใหม่รอบศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เพื่อให้เชียงใหม่จัดงานนอร์ทเทิร์นเอ็กซ์โป (Chiangmai & Northern Expo) ขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณผู้เยี่ยมเยือนจังหวัดเชียงใหม่มากถึง 20 ล้านคนในปี2572 ทำให้ผลิตภัณฑ์จังหวัดเพิ่มสูงจากปัจจุบันเป็นสองเท่า หรือ 4 แสนล้านบาท
ในส่วนแผนงานนโยบายของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้วางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับกฏบัตรเชียงใหม่ไว้ว่าจะส่งเสริมและฟื้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเชียงใหม่เชื่อมโยงตลาดการค้าการลงทุนและการบริการระหว่างประเทศ (International Trade) ในการเปิดตลาดสินค้าบริการในพื้นที่สู่ตลาดการค้าการลงทุนระดับนานาชาติเป็นเมืองที่เป็น Market Place ในระดับนาชาติ ผ่านกลไกความร่วมมือของบ้านพี่เมืองน้อง (Sisiter City) ประเทศที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อเศรษฐกิจเติบโตสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ ยกระดับสู่การค้าระดับโลก
โดยจะได้ผลักดันโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต ที่สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การเป็นนครแห่งการดูแลสุขภาพ (Wellness City) และ Long Stay-Retirement Tourism ได้แก่ โครงการเวชนคร (Medicopolis) เป็นต้นโครงการ Smart City โครงการ MICE City, การผลักดันพื้นที่เชียงใหม่เป็นมรดกโลกในโซนที่เหมาะสม (World Heritage City), การเป็นเมืองการศึกษา (University Town-Education Hub) การเร่งผลักดันให้เกิดสนามบินนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 ตลอดจนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อมโยงทุกภูมิภาคของประเทศ และระหว่างประเทศ
นายวโรดม กล่าวด้วยว่า กกร. เชียงใหม่เชื่อว่า ภายใน 5 ปีจังหวัดเชียงใหม่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในโครงสร้างของเมือง เนื่องจากจะมีขยายตัวของเมือง ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ขึ้น ทั้งการพัฒนาโครงการสนามบินนานาชาติแห่งเดิมและแห่งที่สอง โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โลจิสติกส์ซึ่งจะดึงดูดให้เกิดการลงทุนการขยายตัวของเขตเมืองมากยิ่งขึ้น โดยมีปัจจัยเร่งคือตัวเลขนักท่องเที่ยวและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดการวางยุทธศาสตร์ภายใต้กฎบัตรเชียงใหม่ให้มีความคมชัดเกิดแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เชียงใหม่ในอนาคตจะเป็นมหานคร ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจนานาชาติในภูมิภาคนี้ต่อไป.