กรมชลประทานจัดกิจกรรมสื่อสัญจร ดูพื้นที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ปิงโค้ง

กรมชลประทานจัดกิจกรรมสื่อสัญจร ดูพื้นที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ปิงโค้ง

กรมชลประทานจัดกิจกรรมสื่อสัญจร ดูพื้นที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว ก่อนจะจัดปัจฉิมนิเทศรายงานผลการศึกษาต่อประชาชนผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียและส่วนราชการในพื้นที่ ด้านนายกเทศมนตรีต.ปิงโค้งเผยประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยเพราะได้ทูลเกล้าฯถวายฏีกาตั้งแต่ปี 30 เชื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและมีแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตรรวมถึงมีแหล่งน้ำสำหรับดับไฟป่าด้วย

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2567 จัดกิจกรรมสื่อสัญจรโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำแม่มาศอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 23-24 พ.ค.67 ซึ่งกรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ 29 มิ.ย.66 และสิ้นสุดสัญญา 22 มิ.ย.67 รวมระยะเวลา 360 วันนั้น

โดยเช้าวันเดียวกัน ที่เทศบาลตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว นายทศพัฒน์  เลาจาง นายกเทศมนตรีตำบลปิงโค้ง ได้กล่าวต้อนรับ นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน และนายนคร ศรีธิวงค์ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม กรมชลประธาน และ ดร.ชญาทัต เนียมแสวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน พร้อมคณะสื่อมวลชนที่เดินทางลงพื้นที่และนำเสนอความเป็นมาของโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 บ้านปางโม่ ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2530 ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานโครงการอ่างเก็บน้าห้วยแม่มาศ ต่อมาทางกรมชลประทานได้เนื่องจากจุดที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง อ.เชียงดาว จากนั้นในปี พ.ศ. 2560 สำนักงานชลประทานที่ 1 เข้าสำรวจสภาพพื้นที่จุดที่ตั้งโครงการอีกครั้งหนึ่งพบว่าราษฎรบ้านแม่ป๋าม ยังคงมีความต้องการให้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศอยู่ เนื่องจากในพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง ต้องการแหล่งน้ำเก็บกักสำหรับอุปโภค บริโภคของราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ บ้านแม่ป๋าม บ้านปางเฟือง บ้านปางโม่ บ้านแม่มะกู้ บ้านห้วยน้ำริน และบ้านไตรสภาวคาม ในเขตตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงด้านอาหารมีผลผลิตและรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น

ทางฝ่ายพิจารณาโครงการ สำนักงานชลประทานที่ 1 พิจารณาเลื่อนจุดที่ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ มาทางด้านท้ายน้ำเพื่อให้อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ พร้อมศึกษาวางโครงการแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่าจุดที่ตั้งหัวงานอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว บริเวณป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (โซน C) ประมาณ 202.57ไร่ เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 เรื่อง การทบทวนการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการของหน่วยงานรัฐที่ต้องเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (13 กันยายน 2537)

จากนั้นกรมชลประทาน ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอสเค แมเนจเมนท์ แอนด์ แพลนนิง จำกัด , บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ไทยคอนซัลแตนท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อดำเนินงานโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. 66 สิ้นสุดวันที่ 22 มิ.ย. 67 รวมระยะเวลา 360 วัน ในครั้งนี้ กรมชลประทานสรุปผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า สามารถเก็บกักน้ำได้ 2.57 ล้านลูกบาศก์เมตร มีค่าลงทุนโครงการรวมทั้งสิ้น 182.189 ล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้ 4,227 ไร่ ซึ่งมีมูลค่าผลประโยชน์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 152,000 บาทต่อครัวเรือน โดยผลประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ 4,128 ไร่ ประกอบด้วย หมู่ที่ 2 บ้านปางเฟือง หมู่ที่ 8 บ้านปางโม่ หมู่ที่ 3 บ้านแม่ป๋าม หมู่ที่ 12 บ้านแม่มะกู้ หมู่ที่ 16 บ้านห้วยน้ำริน และหมู่ที่ 5 บ้านไตรสภาวคาม รวมทั้งสิ้น 1,646 ครัวเรือน ในเขตพื้นที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินด้านการเกษตรจากปัจจุบันร้อยละ 116.79 เป็น ร้อยละ 122.39 ซึ่งมีมูลค่าผลประโยชน์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 152,035 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้น 8,565 บาทต่อครัวเรือนต่อไร่ และการสร้างอ่างเก็บน้ำ จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนในท้องถิ่นและจังหวัด เป็นการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนและชุมชนโดยรอบได้อีกด้วย

จากนั้นคณะทั้งหมดได้ลงพื้นที่ฝายแม่ป๋าม และฝายแม่ป๋ามตัวบน และฝายแม่มาศ ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้พื้นที่หัวงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังกล่าว โดยนายกเทศมนตรีตำบลปิงโค้ง และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างมาก เพราะจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในหลายหมู่บ้าน ทั้งในด้านอุปโภค -​ บริโภค และการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีแหล่งกักเก็บน้ำ ในช่วงที่มีไฟป่าที่ผ่านมาต.ปิงโค้งขาดแหล่งน้ำทำให้เฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถตักน้ำมาช่วยดับไฟได้ จึงทำให้ตำบลปิงโค้งติดอันดับต้นๆ ที่ฤดูแล้งที่ผ่านมาเกิด Hotspot หรือจุดความร้อนที่มากอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ หากมีอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ จะสามารถให้ ฮ.มารับน้ำไปดับไฟป่าได้ และที่สำคัญยังจะช่วยให้ชาวบ้านและเกษตรกรนำน้ำไปทำการเกษตรสร้างอาชีพที่มั่นคงต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 พ.ค.67 กรมชลประทานจะจัดปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลปิงโค้ง โดยมีผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียและตัวแทนหน่วยราชการในพื้นที่และสื่อมวลชนเข้าร่วมด้วย.

 

You may also like

กกท. จัดการแข่งขันกรีฑาระดับโลก “Golden Fly Series Qualifier Chiang Mai 2024 presented by SAT”หวังสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่น

จำนวนผู้