กรมอุทยานฯยกระดับหลังมลพิษฝุ่นควันพุ่ง ทำภาคเหนือวิกฤต ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติ 8 แห่งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่นที่มีจุดความร้อนและไฟเกิดถี่มาก อ้างเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ซ้ำ
เมื่อเวลา 14.45 น.วันที่ 16 ก.พ.66 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษแถลงข่าว “การยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM2.5 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ”ผ่านระบบออนไลน์ Live facebook กรมควบคุมมลพิษว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยปัญหาฝุ่นpm2.5 กระทบสุขภาพของประชาชน และรมว.ทรัพย์ฯได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าฯและรองผู้ว่าฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและหามาตรการให้ประชาชนได้รับผลกระทบลดลง
ในฐานะผอ.ศูนย์ฯ แถลงข่าว ซึ่งสถานการณ์จุดความร้อน 17 จังหวัดค่าpm2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพหลายพื้นที่ของประชาชน ปัญหาสำคัญมาจากจุดความร้อน ข้อมูลล่าสุด 16 ก.พ.มีมากกว่า 793 จุด และ93.82%เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า ตั้งแต่ม.ค.เป็นต้นมาพบ จุด และคาดการณ์pm2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนไปจนถึงวันที่ 22 ก.พ.66 นี้
ปีนี้คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะรุนแรงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา และก็ตรงกับที่คาดการณ์ไว้ ตั้งแต่ปลายม.ค.ค่าฝุ่นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและก.พ.เริ่มรุนแรงและแนวโน้มไปจนถึงสิ้นเดือนก.พ. ทั้งนี้จุดความร้อนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เกิดในพื้นที่ป่า และแม้จุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาผลกระทบไม่ได้เกิดจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากลมพัดไปทางทิศเหนือไม่ได้พัดเข้าประเทศไทย
“ตั้งแต่ 1 ต.ค.65-15ก.พ.66 พบจุดความร้อนในป่าอนุรักษ์ 17 จังหวัดภาคเหนือ 26,972 จุดจากการประเมินจุดความร้อน กรมอุทยานฯได้สั่งการประเมินความเสี่ยงและลดจุดความร้อนอุทยานแห่งชาติ 8 แห่งทั้งออบหลวง อมก๋อย ลุ่มน้ำปาย ผาแดง ถ้ำผาไท แม่ปิง ศรีน่านและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น อ.อมก๋อย เห็นพ้องให้ยกระดับอุทยานฯที่มีจุดความร้อนและจุดความเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ปลอดภัย จึงประกาศปิดอุทยาน 8 แห่ง ยกเว้นการให้บริการท่องเที่ยว เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการสะดวก นอกจากนี้ได้ประเมินความเสี่ยงเสนอผู้ว่าฯเพื่อควบคุมเส้นทางป่าสงวนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความร้อน โดยพื้นที่ป่าสงวนฯจะแจ้งให้ทราบต่อไป”อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวและว่า
นอกจากนี้ยังเน้นสื่อสารประชาชนถึงมาตรการที่เข้มข้นขึ้น อาจจะกระทบประชาชนในพื้นที่บ้าง แต่กรมอุทยานฯยังเน้นย้ำทำงานกับประชาชนในพื้นที่และจังหวัด โดยให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุดและขอให้ประชาชนในพื้นที่สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นpm2.5 ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 60%