กรมโยธาธิการและผังเมืองลักไก่  ปลุกผีผนังคอนกรีตกั้นน้ำปิงแนวคิดเดิมสมัย”ทักษิณ”ให้ศึกษาออกแบบโครงการฯเพื่อป้องกันน้ำท่วม

กรมโยธาธิการและผังเมืองลักไก่  ปลุกผีผนังคอนกรีตกั้นน้ำปิงแนวคิดเดิมสมัย”ทักษิณ”ให้ศึกษาออกแบบโครงการฯเพื่อป้องกันน้ำท่วม

เชียงใหม่ – กรมโยธาธิการและผังเมืองลักไก่  ปลุกผีผนังคอนกรีตกั้นน้ำปิงแนวคิดเดิมสมัย”ทักษิณ”ให้ศึกษาออกแบบโครงการฯเพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งที่เคยโดนรุมคัดค้านจนต้องล้มพับไปเมื่อปี 49 ล่าสุดจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำแบบสอบถามชาวบ้าน โดยมีข้อมูลและภาพประกอบทางเลือกการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพียง 3 หน้ากระดาษ A4 ขณะที่ชาวชุมชนย้ำจุดยืนชัด ไม่เอาด้วยเหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.67  ที่วัดเกตการาม ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยบริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาผู้รับจ้างออกแบบศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ระยะที่ 5 (พื้นที่ชุมชนเมืองเชียงใหม่ (ฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง) และชุมชนต่อเนื่อง จังหวัดเชียงใหม่)จัดการประชุมชาวบ้านและผู้ประกอบการย่านชุมชนวัดเกต และถนนเจริญราษฎร์ เพื่อตอบแบบสอบถามความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งบริษัททำการนัดหมายชาวบ้านและผู้ประกอบการตามที่กำหนดไว้จำนวน 18 ราย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประกบการตอบแบบสอบถามแบบตัวต่อตัว

ทั้งนี้ชาวบ้านในชุมชนวัดเกตและใกล้เคียงที่ทราบข่าว ต่างพากันเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้องการทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เพราะเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ผู้คน และเมืองเชียงใหม่ ขณะที่ทางบริษัทมีเอกสารประกอบการให้ข้อมูลเป็นเพียงกระดาษA4 จำนวน 3 หน้า ที่แสดงภาพนำเสนอทางเลือกแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำ(พื้นที่ชุมชนเชียงใหม่) ประกอบด้วย การก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมรูปแบบกำแพงตัวแอลมีทางเดินเท้าหินเรียงหน้าคัน การก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมรูปแบบการยกถนนในถนนเจริญราษฎร์ และถนนเชียงใหม่-ลำพูน,การปรับปรุงรางระบายน้ำเดิมริมถนนเลียบทางรถไฟ,ก่อสร้างสถานีสูบน้ำเสีย และก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสีย

โดยตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาฯ กล่าวในการพูดคุยกับชาวชุมชนว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับจัดสรรงบประมาณให้ทำการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน 5 พื้นที่ของภาคเหนือ ซึ่งเชียงใหม่ได้รับเลือกให้ดำเนินการระยะเวลาประมาณ 500 วัน โดยอย่างแรกต้องถามคนในพื้นที่ในพื้นที่ก่อนว่าต้องการหรือไม่ อย่างไร และที่ผ่านมามีการประชุมไปแล้วครั้งหนึ่ง พร้อมประสานกับทางเทศบาลนครเชียงใหม่ให้แจ้งประชาชนและชุมชนทราบเกี่ยวกับการดำเนินการ ซึ่งในครั้งนี้เป็นการมาสอบถามเกี่ยวกับทางเลือกที่มีให้ และมีข้อเสนอแนะอย่างไร เพื่อนำไปสู่การออกแบบแล้วนำกลับมาหารือกันอีกครั้งในช่วงเมษายน 2568 ที่สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อหาข้อสรุปว่าพื้นที่ต้องการหรือไม่ อย่างไร หากไม่ต้องการก็อาจโยกงบประมาณไปดำเนินการในพื้นที่อื่น.

ด้านชาวบ้านและผู้ประกอบการย่านชุมชนวัดเกตและชุมชนใกล้เคียงที่เข้าร่วมการพูดคุยในครั้งนี้ ต่างมีความคิดเห็นไปในทิศทางืเดียวกันว่าไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างพนังคอนกรีตหรือยกระดับถนนเจริญราษฎร์ เพื่อเป็นแนวกั้นป้องกันน้ำในแม่น้ำปิงล้นตลิ่ง โดยเห็นว่าเป็นการสร้างทัศนอุจาด และไม่เชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างแท้จริง รวมทั้งอาจจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นตามมาอย่างไม่จบสิ้น และมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในหลายพื้นที่ว่าการดำเนินการเช่นนี้ไม่ได้ผล พร้อมตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหลังน้ำท่วมหนักในตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2548 แล้วทางกรมโยธาธิการและผังเมืองเคยผลักดันโครงการนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ถูกชาวเมืองเชียงใหม่คัดค้านและมีการติดป้ายต่อต้านไปหลายจุดทั่วเมือง จนกระทั่งต้องล้มเลิกโครงการไปในที่สุด จึงเกิดคำถามขึ้นมาเหตุใดอยู่ๆ จึงมีความพยายามผลักดันโครงการนี้อีกครั้ง ทั้งๆ ที่หน่วยงานราชการและคนเชียงใหม่ไม่ได้ร้องขอหรือมีความต้องการ

ขณะที่รองศาสตราจารย์ชูโชค อายุพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำปิง  และหัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า เมื่อปี 2548 ได้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ครั้งใหญ่ ซึ่งหลังจากนั้นในปี 2549 ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เคยมีความพยายามมาแล้วครั้งหนึ่งที่จะผลักดันโครงการก่อสร้างพนังคอนกรีตริมแม่น้ำปิงช่วงไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อป้องกันน้ำท่วม อย่างไรก็ตามได้ถูกชุมชนและชาวเชียงใหม่ต่อต้านคัดค้านจนต้องล้มเลิกโครงการไปในที่สุด ขณะที่โดยส่วนตัวในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะดำเนินโครงการนี้ เพราะเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าโครงการดังกล่าวมีข้อดีเพียงอย่างเดียวคือการป้องกันน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมได้ในระดับความสูงที่ออกแบบไว้ อย่างไรก็ตามกลับพบว่ามีข้อเสียหลายประการ เช่น ไม่สามารถป้องกันน้ำล้นตลิ่งได้มากกว่าที่ออกแบบไว้,ทำให้เกิดปัญหาแรงดันยกของน้ำ,กีดขวางทางระบายน้ำจากตัวเมืองและส่งผลกระทบต่ออาคารชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ

นอกจากนี้เป็นอุปสรรคต่อการขุดลอกและขนย้ายตะกอนในอนาคต ตลอดจนทำลายระบบนิเวศและทัศนียภาพที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ซึ่งหากสูญเสียไปแล้วจะเรียกกลับคืนมาไม่ได้ และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แถมอาจเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น ขณะที่ปรากฏการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่อย่างรุนแรงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ และมักจะท่วมแค่เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากกว่าเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหานี้นั้น คือ ควรปรับปรุงสภาพลำน้ำของแม่น้ำปิงให้สามารถรองรับน้ำได้มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือนภัยน่าจะดีกว่าการสร้างพนังคอนกรีตที่อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

You may also like

SUN ขับเคลื่อนนวัตกรรมเกษตรครบวงจร และจัดพิธีบวงสรวงพระพิรุณ ประจำปี 2567

จำนวนผู้