ตัวแทนเกษตรกรอินทรีย์จากหลายอำเภอพร้อมกับเครือข่ายเกษตรทางเลือกจังหวัดเชียงใหม่ยื่นหนังสือผ่านผวจ.เชียงใหม่ถึงนายกฯและรัฐมนตรีเกษตร/สาธารณสุขและคณะกรรมการวัตถุอันตราย หนุนแบนสารเคมี 3 ชนิดชี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน พร้อมเรียกร้องรัฐสนับสนุนการเกษตรปลอดภัย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกร
วันที่ 21 ต.ค.62 เวลา 09.00 น.ที่หน้าอาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สันกำแพง,อ.สันทราย,อ.ดอยสะเก็ด,อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และเครือข่ายเกษตรทางเลือกจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 30 คน นำโดย ดร.ชมชวน บุญระหงส์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้และนายเกียรติศักดิ์ ฉัตร์ดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือกจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อพร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผวจ.เชียงใหม่ และสำเนาถึงรมว.เกษตรและสหกรณ์ ,รมว.สาธารณสุข,รมว.อุตสาหกรรมและกรรมการวัตถุอันตราย โดยมีนางสาวรตนพร กิติกาศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายศเนติ จิรภาสอังกูรผู้อำนวยการาศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ รับข้อเสนอการสนับสนุนการแบนสารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด และเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติโดยเปิดเผย
ดร.ชมชวน บุญระหงส์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ทางกลุ่มเกษตรอินทรีย์จากหลายพื้นที่และเครือข่ายเกษตรทางเลือกจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่นายกรัฐมนตรี รมว.เกษตร รมว.สาธารณสุขและภาคประชาสังคมได้ให้ความสำคัญกับการแบนสารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด และคาดหวังว่าในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันพรุ่งนี้( 22 ต.ค.62)ที่จะมีการพิจารณาแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดคือ พาราคอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส
“ทางกลุ่มฯที่มาเปิดโต๊ะล่ารายชื่อพร้อมกับยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการก.เกษตร,ก.สาธารณสุขและก.อุตสาหกรรมรวมถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อเรียกร้องขอให้มีการยกเลิกการใช้และการจำหน่ายสารเคมีทั้ง 3 ชนิดภายในเดือนธันวาคมปีนี้และให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติโดยเปิดเผยรวมถึงให้มีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ลงทะเบียนต้องการใช้สารเคมีทั้ 3 ชนิดนี้ต่อเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรและในระยะยาวขอให้มีการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการที่จะมีอาหารปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร”ดร.ชมชวน กล่าวและว่า
สำหรับที่จังหวัดเชียงใหม่เองมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก ทั้งในทุ่งนาและริมทางหลวง จะสังเกตเห็นง่ายๆ เวลาทีมีการใช้สารเคมีหญ้าหรือวัชพืชข้างทางจะเหลืองแห้งตาย แต่นั่นก็หมายถึงผลกระทบกับสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในดินและร่างกาย ที่ผ่านมาภาคเหนือและเชียงใหม่มีอัตราคนป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เบาหวานและพาร์กินสันก็ล้วนจากผลกระทบจากสารเคมีเหล่านี้ทั้งนั้น
จังหวัดเชียงใหม่มีเกษตรกร 1.4 แสนราย แต่เป็นเกษตรทางเลือกและเกษตรอินทรีย์ประมาณ 5-6% แม้ว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่จะส่งเสริมในเรื่องเกษตรอินทรีย์และมีกลุ่มเกษตรกรที่ทำด้านเกษตรอินทรีย์มากว่า 20 ปีซึ่งมีมากกว่า 5 พันครอบครัว แต่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จริงๆเพียง 2 พันกว่าครัวเรือนส่วนอีก 3,000 กว่าเป็นเกษตรทางเลือก ทั้งนี้เพราะยังขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ
ดร.ชมชวน กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวงเกษตรฯเองมีหลายกรม และทำงานแบบแยกส่วนและตรงข้ามกับการทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งแนวคิดดีแต่กลไกไม่เอื้อ บุคลากรรัฐไม่รู้หรือรู้ไม่จริง จิตวิญญาณจึงไม่เกิดเมื่อไปส่งเสริมด้านเดียวให้งานตัวเองบรรลุเป้าหมาย แต่การขับเคลื่อนมันต้องไปทั้งกลไกคือทั้งการผลิตและการตลาด อย่างไรก็ตามในปี 2563 จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดแผนส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์ไว้โดยจะเป็นเชียงใหม่เกษตรวิถีอินทรีย์ซึ่งได้บรรจุแผนงาน โครงการและงบประมาณสนับสนุนในการขับเคลื่อนไว้แล้ว
ทางด้านนางสาวรตนพร กิติกาศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จะนำหนังสือฉบับนี้ส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯและคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมและจะมีการรายงานผลให้กับเกษตรกรและเครือข่ายได้ทราบถึงความคืบหน้า อย่างไรก็ตามในเรื่องนโยบายเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์นั้น จะมีการขับเคลื่อนตามแผนงานให้บรรลุนโยบายของจังหวัดและรัฐบาลต่อไปด้วย.