ครึ่งเดือนแรกม.ค.เชียงใหม่อนุมัติคำร้องชิงเผากว่า 1 พันไร่อีกเกือบ 2 หมื่นไร่จ่อคิว “ผศ.ดร.ชาคริต”เผยเปิด Line OAให้สังคมได้ร่วมตรวจสอบ ชี้ใช้ดาวเทียม 2 ดวงติดตามจุดความร้อนวันละ 10 รอบ พบมีบางพื้นที่แอบเผากลางคืนส่งสัญญาณแจ้งจังหวัดให้ตรวจสอบแล้ว
ผศ.ดร. ชาคริต โชติอมรศักดิ์ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (RCCES)อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ กล่าวถึงระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล (FireD) ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล ลดปัญหาการเผาที่ขาดการควบคุม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 และมลพิษทางอากาศ ซึ่งปีนี้ทางมช.ได้รับการสนับสนุนการต่อยอดพัฒนาระบบให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยระบบ FireD จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลผ่าน เว็บแอปพลิเคชัน โมบายแอปพลิเคชัน และ Line OA ที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมสามารถใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลงทะเบียนผู้ใช้งาน บันทึกคำร้อง สรุปรายงานคำร้อง และการติดตามสถานะต่าง ๆ
ผศ.ดร. ชาคริต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีคำร้องขอจัดการเชื้อเพลิงของจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาในระบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นมาจำนวน 289 รายการเนื้อที่บริหารจัดการเชื้อเพลิง 18,698 ไร่ โดยเป็นคำร้องที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 41 คำร้อง 1,357 ไร่ และรออนุมัติ 239 รายการ 17,330 ไร่ ที่ดำเนินการไปแล้ว 9 รายการเนื้อที่ 11 ไร่ ซึ่งในระบบนี้จะมีรายละเอียดของการขอดำเนินการด้วยว่าอยู่ในห้วงวันไหนถึงเมื่อไหร่ และสามาถดูรายละเอียดต่างๆ ได้
“ในระบบ FireD นี้จะใช้ดาวเทียม 2 ดวงในการติดตามจุดความร้อนวันละ 10 รอบ ทำให้มองเห็นว่าจุดความร้อนไหนเป็นจุดความร้อนที่ไม่ได้ลงทะเบียนขอบริหารจัดการเชื้อเพลิง ช่วงนี้ก็เห็นที่ผิดปกติอยู่และได้ทักท้วงให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ไปตรวจสอบแล้ว เพราะมีการเผากลางคืนด้วยต่อเนื่องมาหลายวัน ซึ่งช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์นี้กลางคืนอากาศปิด ลมนิ่งเพราะความหนาวเย็นจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการเผา ส่วนเดือนมีนาคมก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ฝุ่นควันคงจะพุ่งสูงเพราะเป็นช่วงที่เชื้อเพลิงมีมากและแห้งจัดแล้วด้วย แต่หากการชิงเผาดำเนินการตามที่กำหนดคิดว่าปัญหาไฟลามข้ามคืนข้ามวันจะลดลง ทางเราก็เป็นเพียงฝ่ายวิชาการที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหา และตอนนี้ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็นำระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านการลงทะเบียนใน FireD ไปใช้แล้ว คาดว่าในหลายจังหวัดในภาคเหนือก็เริ่มตื่นตัวก็คาดหวังว่าอนาคตระบบ FireD จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อให้สถานการณ์ปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นฯดีขึ้นได้”ผศ.ดร.ชาคริตกล่าว.