นโยบายควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน และมีระยะห่างจากโรงเรียนใกล้เคียงไม่เกิน 6 กิโลเมตร ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. จำนวน 10,971 โรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งต้องดิ้นรนเพื่อให้สามารถเปิดสอนต่อไปได้ ท่ามกลางความกดดันทั้งด้านงบประมาณที่ถูกตัดทอน จำนวนครูไม่เพียงพอกับชั้นเรียน ทั้งยังต้องทำให้เด็กมีคุณภาพ ผ่านการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตอีกด้วยที่โรงเรียนพงสะตือ (รัฐ-ประชาสรรค์) ต.บ้านแก่ง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ มีเด็กนักเรียนเพียง 77 คน แต่มติของครู ผู้ปกครอง ตลอดจนชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการให้ยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่น เพราะจะทำให้เด็กต้องเดินทางไกล มีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ที่สำคัญคือเด็กจะไม่ได้รับการปลูกฝังให้รักษารากเหง้าของตนเอง รวมทั้งเมื่อเด็กไปเรียนรวมกันในปริมาณมาก คุณภาพทางการศึกษาอาจจะด้อยลงด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเด็กแห่งชาติ ทางสภาผู้นำชุมชนบ้านพงสะตือ ที่จัดขึ้นตามโครงการชุมชนน่าอยู่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่มาจากตัวแทนของทุกกลุ่ม ทุกองค์กรในหมู่บ้าน จะถือเป็นวาระสำคัญ ให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมระดมทุน เพื่อใช้เป็นค่าตอบแทนครูอัตราจ้าง อย่างน้อย 4 อัตรา และพัฒนาโรงเรียน ให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพสมรส มั่นกำเนิด ผู้ใหญ่บ้าน และสภาผู้นำชุมชนบ้านพงสะตือ เล่าว่า ผู้ปกครองไม่อยากให้เด็กไปเรียนที่อื่น ขณะที่ชาวบ้านก็เห็นด้วย เพราะเป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2511 สอนคนมาอย่างน้อย 3 รุ่นแล้ว คือคนรุ่นแรกมีลูก ก็ยังส่งมาเรียนในโรงเรียนพงสะตือ (รัฐ-ประชาสรรค์) พอถึงรุ่นหลาน เขาก็อยากให้เรียนที่เดียวกัน ยังมั่นใจในระบบการเรียนการสอน และการปลูกฝังที่ดีของโรงเรียนใกล้บ้านแห่งนี้อยู่ เพียงแต่สภาพสังคมยุคใหม่ ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเรื่อยๆ ส่งผลให้นักเรียนมีจำนวนน้อยลงดังนั้นนอกกิจกรรมของเด็กแล้ว ในงานจึงมีกิจกรรมที่ชาวบ้าน ตั้งแต่ศิษย์เก่า ผู้ปกครอง และผู้เฒ่าผู้แก่ มาช่วยกันทำ ช่วยกันขาย และช่วยกันซื้ออย่างแข็งขัน ทั้งขนมจีน ข้าวหลามเผา ไก่อบถัง ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ รวมทั้งจัดแข่งขันวอลเลย์บอล เพื่อระดมทุนให้ได้มากที่สุด เนื่องจากโรงเรียนมีเด็กน้อยกว่า 120 คน อยู่ในเกณฑ์จะถูกยุบรวมในปี 2563 และไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อพัฒนาโรงเรียน หรือส่งครูมาเพิ่มหลังจากที่ครูประจำการหลายคนเกษียณไปแล้ว ทำให้ทั้งโรงเรียนมีครูแค่ 3 คน ขณะที่มีชั้นเรียนถึง 7 ระดับ ตั้งแต่อนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6เชวงศักดิ์ ไทยแท้ ผู้อำนวยการโรงเรียนพงสะตือ (รัฐ-ประชาสรรค์) กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเข้ามาช่วยตลอด โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมเพื่อหาทุนช่วยเหลือโรงเรียน ไม่ใช่แค่วันเด็ก แต่ยังมีการจัดทอดผ้าป่า ส่วนในประเพณีตานข้าวใหม่ ก็จะนำข้าวเปลือกมาทำบุญรวมกันแล้วขายเป็นทุนช่วยโรงเรียน รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกตามวาระโอกาสจึงถือเป็นโชคดี ที่สภาผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง และชาวบ้าน เห็นความสำคัญของโรงเรียนใกล้บ้าน ยืนหยัดที่จะช่วยกันทุกวิถีทาง โดยให้โรงเรียนใช้กองทุนที่ชาวบ้านระดมให้ ในการจัดหาครูอัตราจ้าง ซึ่งเป็นลูกหลานของคนในท้องถิ่น ที่จบครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือเอกที่ตรงกับความต้องการ และมีใบประกอบวิชาชีพตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ในอัตราเดือนละ 5,000 บาท/คน ซึ่งแม้จะต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ หากครูทุกคนที่เข้ามาก็ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คะแนนค่าเฉลี่ยโอเน็ตของเด็กจากโรงเรียนพงสะตือ (รัฐ-ประชาสรรค์) มีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าเกณฑ์ของประเทศอย่างต่อเนื่องมา 7 ปีแล้วรัชดารินทร์ คำก้อนแก้ว ครูอัตราจ้าง โรงเรียนพงสะตือ (รัฐ-ประชาสรรค์) ย้ำว่า เข้ามาทำหน้าที่ครู เพราะตนจบชั้นประถมศึกษาจากที่นี่ จึงมีความผูกพันกับโรงเรียน และยังอยู่ใกล้บ้าน แม้จะเงินเดือนน้อย แต่ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน หรือแม้แต่อาหารกลางวันก็รับประทานเหมือนเด็กๆ ที่โรงเรียน“สอนมาเกือบ 2 ปีแล้ว ช่วงแรกสอนชั้น ป.2 พอโรงเรียนจ้างครูเพิ่ม จึงย้ายไปสอนชั้นอนุบาลแทน เพราะอยากให้โรงเรียนมีครูสอนครบชั้น จะได้ช่วยกันพัฒนาเด็กๆ ที่เป็นญาติพี่น้องภายในหมู่บ้านเดียวกัน ให้มีพัฒนาการ เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันกับสถานการณ์ทั้งในสังคมชุมชน ประเทศ และสังคมโลก” ครูอัตราจ้าง อธิบายนับเป็นตัวอย่างเล็กๆ ของความมุ่งมั่น ที่จะประคับประคองโรงเรียนไว้ โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย เพื่อเป้าหมายคือการปลูกฝังลูกหลานให้เป็นอนาคตที่ดี มีคุณภาพของชาติ โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของตนเอง.