ค่าฝุ่น pm2.5 สูงต่อเนื่อง รองแม่ทัพภาคที่ 3 จี้กอ.รมน.จังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ยอมรับส่งผลกระทบต่อประชาชน ขณะที่หลายพื้นที่เริ่มบริหารจัดการเชื้อเพลิง
จากการเฝ้าตรวจสอบสภาพอากาศและจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือของกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า พบว่า มี 2 พื้นที่ ได้แก่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก และ อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่เริ่มมีค่า pm 2.5 pm 10 และ AQI เกินค่ามาตรฐานติดต่อกันหลายวันในช่วงนี้
พลตรี ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะรองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ได้ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเข้าตรวจสอบสาเหตุของสภาพอากาศในแต่ละจังหวัด พร้อมแนวทางการแก้ไขในแต่ละจุดเพื่อควบคุมไม่ให้สภาพอากาศส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้จากการบินสำรวจของกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่า บางพื้นที่ทางโซนเหนือ ด้าน อ.เวียงแหง อ.ฝาง อ.ไชยปราการ มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ที่มีการควบคุมเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อปริมาณฝุ่นละออง เนื่องจากข่วงนี้สภาพอากาศนิ่ง ความกดอากาศสูง จึงต้องควบคุมเป็นพิเศษ
ทางด้าน พ.อ.วัชรพงศ์ แก้วแจ้ง รอง ผอ.รมน.จังหวัด กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก นายธีรัชสิทธิ์ วงศ์วาน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก และหน.ฝ่ายประสานการปฏิบัติฯ กอ.รมน.จังหวัดพิษณุโลกได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมือง ผลการตรวจวัด สภาพอากาศช่วงเช้า พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งสาเหตุเกิดจากเกิดจุดความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่การเกษตรของ อ.วัดโบสถ์ อ.บางกระทุ่ม อ.บางระกำ และ อ.พรหมพิราม โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ อ.วัดโบสถ์ ป่าสงวน อ.ชาติตระการ ประกอบกับช่วงนี้อากาศหนาวเย็นลง ความกดอากาศสูง ส่งผลให้ค่าปริมาณฝุ่นละอองสูงขึ้น โดยในขณะนี้ กอ.รมน.จังหวัดพิษณุโลกได้จัดเจ้าหน้าที่ของจังหวัด และ อำเภอ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำกับ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และ ประชาชน ห้ามเผาป่า พื้นที่การเกษตร และให้ช่วยกันดูแลป่า เพื่อสุขภาพของตนเองและผู้อื่น