อบจ.เชียงใหม่จับมือสนง.สาธารณสุขจังหวัด,มช.และภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์ “เชียงใหม่เพื่อลมหายใจที่ดีกว่า”สร้างการตระหนักรู้ผลกระทบpm2.5 และการป้องกันตนเองในช่วงวิกฤตฝุ่นควัน
วันที่ 28 ก.พ.63 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า แอร์พอร์ต เชียงใหม่ นายวีระพันธ์ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่,นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันเปิด
โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ Chiang Mai Better Breathing 2020 “เชียงใหม่ เพื่อลมหายใจที่ดีกว่า” ซึ่ง อบจ.เชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้น โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนจากสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เชียงใหม่และคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,
หน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงานจำนวนมาก
นายวีระพันธ์ ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าด้วยปัจจุบันสถานการณ์หมอกควันและมลพิษในอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ มีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ เกิดจากหลายปัจจัยได้แก่ การเผาในที่โล่งในช่วงฤดูแล้ง ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม ฝุ่นละอองจากถนน การก่อสร้าง เขม่าจากน้ำมันดีเซล รวมถึงปัญหาไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มน้ำโขง ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กสะสมในชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง ประกอบกับสภาพภูมิประเทศซึ่งมีภูเขาล้อมรอบ ทำให้มลพิษต่าง ๆ ถูกกักไว้และแผ่ปกคลุมทั่วเมือง สะสมจนมีค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานส่งผลให้ปริมาณผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลสถิติของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม – 16 มีนาคม 2562 พบผู้ป่วยใน 4 โรคเฝ้าระวังที่เกิดจากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมด 91,182 ราย แบ่งเป็น โรคตาอักเสบ 2,661 ราย โรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด 38,857 ราย โรคทางเดินหายใจทุกชนิด 48,037 ราย และโรคผิวหนังอักเสบ 1,627 ราย ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงต้นปี 2562 เกิดวิกฤตการณ์ ที่รุนแรง เว็ปไซต์ www.airvisual.com ซึ่งวัดคุณภาพอากาศของโลก พบว่า จากการเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพอากาศหรือค่า US AQI จากหัวเมืองใหญ่จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกพบว่า ค่ามลพิษในอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ติดต่อกัน 6 วัน
ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งซักซ้อมแนวทางปฏิบัติ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ และให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพ รวมถึงการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และการดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ที่ทำให้เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองอันเป็นการสร้างเหตุรำคาญแก่ประชาชนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ.2535 กำหนด รวมทั้งแจ้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วม ความตระหนัก และปรับพฤติกรรมประชาชนในการลดการเผาในที่โล่ง พื้นที่การเกษตร และการเผาขยะในชุมชน/เมือง และได้จัดส่งแผนการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยสำหรับกลุ่มเสี่ยงรวม 5 กลุ่ม จำนวน 539,599 ราย เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมในการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย ประกอบกับปัจจุบันเกิดการระบาดของไวรัสโคโลนา (COVID -19) ส่งผลให้หน้ากากอนามัยขาดตลาด หาซื้อยาก และมีราคาสูงขึ้น ดังนั้นนอกจากการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน การให้ความรู้แก่ประชาชนในการทำหน้ากากอนามัยด้วยตัวเอง จึงเป็นอีกวิธีในการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
ด้านนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันได้เกิดจุดความร้อน (Hotspot) หลายพื้นที่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ประกอบกับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 ในหลายพื้นที่สูงเกินมาตรฐานซึ่งอาจก่อให้เกิด
ปัญหาด้านสุขภาพต่อประชาชนโดยทั่วไป จังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งชักซ้อมแนวทางปฏิบัติ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการป้องกันและแก็ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 โดยการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงสถานการณ์ค่ฝุ่นละอองในพื้นที่ และให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพ รวมถึงการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตลอดถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการป้องกันตัวเอง
ให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดทำโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ Chiang Mai Better Breathing 2020″เชียงใหม่ เพื่อลมหายใจ
ที่ดีกว่า” ขึ้น ทั้งนี้ความสำเร็จของการดำเนิงานดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนจึงจะประสบความสำเร็จได้.