ชลประทานเชียงใหม่ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ครั้งที่ 2 หลังผ่านเวลามากว่า 55 ปี ยังไม่มีแหล่งน้ำสำรองทำให้เกิดความเสียหายมากหากเกิดภัยแล้งและอุทกภัย เผยเฉพาะงบซ่อมบำรุงปีละกว่า 50 ล้านบาท ต้องเร่งแก้ปัญหาจัดระบบใหม่ เพื่อเก็บกักน้ำในห้วงฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วม
ที่ห้องประชุมเอราวัณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ นายณัฐวุฒิ นากสุก ผอ.ส่วนวิศวกรรม สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 (การพิจารณาทางเลือก) โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยมีประชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก
นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการเชียงใหม่ กล่าวรายงานว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง เป็นโครงการที่ดำเนินงานมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทั้งเรื่องของแหล่งน้ำต้นทุนที่ไม่แน่นอน ขาดแหล่งเก็บกักน้ำ ระบบชลประทานและอาคารที่มีการใช้งาน มานาน เกิดการสูญเสียน้ำมาก และสภาพการใช้น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน อีกทั้งในพื้นที่ อ.แม่แตง ก็ไม่มีอ่างเก็บน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำท่าและทำให้เกิดปัญหาในฤดูแล้งที่ต้องอาศัยปริมาณน้ำท่าเป็นหลัก และแหล่งน้ำอื่นได้แก่ บ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล ลำเหมืองธรรมชาติ ฝาย หากน้ำมากก็เกิดปัญหาน้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำช่วงที่มีน้ำน้อย ได้มีการกำหนดส่งน้ำแบบหมุนเวียนในคลองสายใหญ่เมื่อปริมาณน้ำน้อย ทำให้ต้องใช้เวลานานในการเดินทางของน้ำไปถึงปลายคลอง และการแบ่งน้ำอาจไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะช่วงปลายคลองที่น้ำไปถึงช้าและคลองส่งน้ำมีขนาดเล็ก
นอกจากนี้ความต้องการน้ำประปามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากร ประกอบกับสภาพอาคารชลประทานในปัจจุบันซึ่งมีอายุใช้งานนาน มีสภาพเก่าวัสดุหมดอายุ อาจเกิดการรั่วหรือชำรุดได้ง่าย อาคารประเภทท่ออาจมีอุดตัน อาคารปากท่อส่งน้ำไม่มีบานประตู ยากในการควบคุมปริมาณน้ำและการรับน้ำตามรอบเวร งบประมาณการบำรุงรักษาตามปกติไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และงบประมาณมีจำกัด
ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า จากสภาพปัญหาที่ยาวนานและปัจจุบันการดำเนินงานผ่านมากว่า 55 ปี ตั้งแต่ปี 2505 ยังดำเนินการไม่ได้ทั้งหมด และปัจจุบันมีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ทั้งด้านการเกษตร แบ่งเป็นปลูกข้าวนาปี ประมาณ 66,210 ไร่ ปลูกพืชฤดูแล้ง ประมาณ 35,500 ไร่ ไม้ผล 27,925 ไร่ บ่อปลา 1,019 ไร่ ด้านอุปโภค-บริโภค ส่งน้ำให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กองบิน 41 และราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ด้านการประปาก็ส่งน้ำให้กับการประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ ประมาณ 4.32 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และสนับสนุนกิจกรรมของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น ส่งน้ำสนับสนุนสวนหลวง ร.9 และศูนย์สมุนไพรกองบิน 41 ด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรม ได้ส่งน้ำเข้าคูเมืองเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์
ดังนั้น การทำแก้มลิงจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ปัญหาทั้งภัยแล้ง และอุทกภัยทั้งในพื้นที่แม่แตง และในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ โดยพื้นที่แก้มลิงฝั่งซ้ายของฝายแม่แตง มีสภาพภูมิประเทศเป็นท้องน้ำแม่แตง พื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตรอยู่ในการดูแลของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง เป็นพื้นที่ที่จะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิง 2 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่ด้านเหนือน้ำของทำนบดินประมาณ 360 ไร่ และพื้นที่ด้านท้ายน้ำของทำนบดินประมาณ 340 ไร่ รวมความจุประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม.
ขณะนี้อยู่ในห้วงของการขุด ซึ่งแล้วเสร็จไปแล้วประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ รวมพื้นที่ทั้งหมด 16 ไร่ จะมีความจุน้ำ 1 แสน ลบ.ม. แต่เพื่อให้เกิดการเก็บกักน้ำที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จึงคิดว่าควรมีการเสริมสันฝายแม่แตงให้สูงขึ้นอีก 1 เมตร ความจุที่ได้ประมาณ 570,000 ลบ.ม. ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากขึ้น เพราะจะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่มากขึ้น จึงนำมาสู่การประชุมหารือครั้งที่ 2 ในวันนี้ โดยมีแนวทางให้เลือกทั้งหมด 3 แนวทาง
คือ 1.กรณีสภาพปัจจุบัน ระบบชลประทานของโครงการมีสภาพเก่าใช้งานมานานประมาณ 50 ปี และมีแนวโน้จะชำรุดทรุดโทรม เพราะโครงสร้างอาคารหมดอายุการใช้งาน ต้องเสียงบซ่อมแซมบำรุงปีละ 50 ล้านบาท ในฤดูแล้งสามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 30,000 ไร่ ทางเลือกที่ 2.กรณีที่มีการซ่อมแซมอาคารชลประทานทั้งหมดให้กลับคืนสภาพ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และต้องมีการบำรุงรักษาปกติ จะทำให้ระบบชลประทานมีอายุการใช้งานอีก 30 ปี โดยในฤดูแล้งจะปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 30,000 ไร่ และทางเลือกที่ 3.ปรับปรุงอาคารกลางคลองส่งน้ำสายใหญ่ ขยายคลองซอยและคลองแยกซอยบางสาย เพื่อส่งน้ำแบบหมุนเวียนในระบบคลองซอย ทำให้มีการกระจายน้ำได้อย่างเท่าเทียมกันเมื่อปริมาณน้ำท่าน้อยในฤดูแล้ง และจะปลูกพืชไร่ ซึ่งใช้น้ำน้อยได้แทนพื้นที่ข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่
สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาและแนวทางเลือก ในการปรับปรุงโครงการ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและปรับปรุงโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เป็นที่ยอมรับของประชาชน และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและส่วนรวมในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งกรมชลประทานและคณะผู้ศึกษาพร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ แม้ว่าจะอยู่ในขั้นตอนแรกที่สำรวจความคิดเห็นก็ตาม แต่หากไม่เริ่มในตอนนี้ก็จะสูญเสียงบประมาณการซ่อมแซมบำรุงที่เพิ่มขึ้น.