ชี้งบฯจำกัดถอดบทเรียนแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าเสนอใช้งบกลาง สร้างเครือข่ายเพิ่ม

ชี้งบฯจำกัดถอดบทเรียนแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าเสนอใช้งบกลาง สร้างเครือข่ายเพิ่ม

สรุปถอดบทเรียนหมอกควัน ไฟป่า เสนอใช้งบกลางบูรณาการจัดสรรลงทุกพื้นที่ ใช้ระบบซิงเกิ้ลคอมมาน จัดระเบียบการเผา สร้างและขยายเครือข่ายจิตอาสา ขณะที่ปัญหาหมอกควันข้ามแดนใช้แผนอาเซียนปลอดหมอกควัน ตั้งเป้าลดจุดความร้อนและลดการเผาในพื้นที่

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)พร้อมด้วยนายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.),นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังประชุมสรุปผลและถอดบทเรียน(After Action Review:AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือปี 2562

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาพื้นที่ภาคเหนือและกรุงเทพฯประสบปัญหาวิกฤตหมอกควัน ซึ่งในอดีตจะใช้ค่า PM10 แต่ปีนี้มีการตื่นตัวและใช้ค่า PM2.5 ซึ่งค่าตรวจวัด PM10 ในปี 2562 ขึ้นสูงถึง 74%หลังจากที่ 2 ปีก่อนค่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ 10-37% และจำนวนวันที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 59 วัน และปัญหาดังกล่าวรัฐบาลก็ให้ความสำคัญเพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ปัญหาหมอกควัน ไฟป่ารุนแรงเนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูแล้งเร็วและผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. มีการฝ่าฝืนกฎหมาย การลักลอบเข้าไปจุดไฟเผาป่าและความแห้งแล้ง รวมไปถึงหมอกควันข้ามแดนด้วย การประชุมในครั้งนี้จึงมาทบทวนบทเรียน เดิมมีระบบแก้ปัญหาเชิงพื้นที่โดยมีผู้ว่าฯเป็นผู้กำกับเหตุการณ์ แม้จะทำอย่างเต็มที่ก็ยังเกิดวิกฤต เกิดการสูญเสียทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เข้าไปดับไฟ ปัญหาหลักๆ ที่พบคืองบประมาณซึ่งมีจำกัดในบางพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมเสนอว่าควรจะมีงบกลางลงตามพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ตำบลเป็นงบบูรณาการโดยให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้รวบรวมจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ เหมาะสมกับภารกิจของทุกหน่วยงาน และทันต่อสถานการณ์

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกสำหรับการบริหารจัดการ ให้ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มีกระทรวงมหาดไทย (มท.)  เป็นหน่วยงานหลัก มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการสั่งการตามระบบ Single Command            กระทรวงทรัพยากระรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานประสานงาน       และมีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ส่วนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ให้มีการจัดระเบียบการเผาคือเผาแบบควบคุมไฟไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้างและเหลื่อมเวลาการเผาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ มีการจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ เฝ้าระวังการเผาหลังพ้นห้วงเวลาห้ามเผา ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดการเผาและสนับสนุนให้มีการนำเศษวัสดุจากการเกษตรมาใช้ประโยชน์ ขยายเครือข่ายหมู่บ้านป้องกันไฟ (อส. ปม.)   สนับสนุนงบประมาณให้เครือข่ายอย่างต่อเนื่องเพิ่มจำนวนเครือข่ายหมู่บ้านให้ครอบคลุมพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ที่มีไฟไหม้ซ้ำซาก

เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานเครือข่าย       สร้างความรู้ความเข้าใจเชิงวิชาการ ที่ถูกต้อง ตรงกันปรับรูปแบบการรายงานข้อมูล/ สถานการณ์ ให้เข้าถึงได้ง่าย และน่าสนใจ สื่อสารการดำเนินงานของภาครัฐสู่สาธารณะ เป็นระยะอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการศึกษาวิจัย นวัตกรรม ร่วมกับภาคการศึกษา  NGOs ภาคประชาสังคมและเครือข่ายอื่นๆ การขยายเครือข่ายจิตอาสาพระราชทาน ในข้อ 4 รวมทั้งงบประมาณที่จะจัดหาเพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์ป้องกันดับไฟ และที่สำคัญป้องกันด้านความปลอดภัยให้ผู้ลาดตระเวน

นายวิจารย์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดนในเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับหลายประเทศ และมีแผนงานที่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนเห็นชอบภายใต้โรดแมพอาเซียนปลอดหมอกควันในปี 2563 Haze Free ASEAN Roadmap โดยทุกประเทศต้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกันและเมื่อมีแผนใหญ่แล้วในแต่ละประเทศก็ต้องไปขับเคลื่อนในประเทศของตัวเองด้วย ในส่วนของโซนเหนือก็จะมีกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชาและเมียนมา โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งมีเป้าหมายลดจุดความร้อนจาก 75,000 จุดให้เหลือ 25,000 จุดภายในปี 2020หรือปี 2563 นี้

“เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาผมไปประชุมหารือกับทางกัมพูชามาแล้ว และในเดือนหน้าอธิบดีกรมควบคุมมลพิษก็จะไปหารือกับทางบรูไนเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันทางตอนใต้ ซึ่งอธิบดีกรมอุทยานฯก็ใช้แนวทางการทำงานในการแก้ไขปัญหาทางภาคเหนือโดยจัดชุดลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งตอนนี้สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมกันทำแนวกันไฟ ไทยยังได้ไปติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศให้ลาว เมียนมาร์และกัมพูชาด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสถานการณ์ปีหน้าคือสภาพความแห้งแล้งและการเกิดไฟ แต่ทั้งนี้ปริมาณเชื้อเพลิงในป่าปีที่ผ่านมาถูกเผาไปค่อนข้างมาก ปีหน้าอาจจะไม่รุนแรงมากก็เป็นได้”ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวในที่สุด.

You may also like

เริ่มแล้วกับงาน“AMAZING CHIANG MAI COUNTDOWN 2025”เข้าชมฟรีททท.คาดเงินสะพัด3.5 พันล้านบาท เผยยอดจองที่พักพุ่งกว่า 91%

จำนวนผู้