บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN จัดงานวันข้าวโพดหวาน ครั้งที่ 7 ขนทัพนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนเพิ่มรายได้ พร้อมโชว์ไร่ตะวันหวาน (SUN VALLEY) แลนด์มาร์กการเกษตรแห่งใหม่ ต้อนรับเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ เปิดประสบการณ์แหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรท่ามกลางธรรมชาติ บนพื้นที่ 1,074 ไร่
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.66 ณ ไร่ตะวันหวาน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่นายพีระศักดิ์ ธีรบดี นายอำเภอแม่วาง เป็นประธานเปิดงานวันข้าวโพดหวาน ครั้งที่ 7 ซึ่งบริษัทซันสวีท จำกัด (มหาชน)จัดขึ้นจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2566 โดยมีนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่,ดร.วีระพล ทองมา. อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้และตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร ประชาชนที่สนใจและนักศึกษาเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ซันสวีทหรือ SUN ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูป ภายใต้ตราสินค้า KC โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น บริษัทจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหวานให้เกษตรกร โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมทำ Contract Farming กว่า 20,000 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ
การจัดงานวันข้าวโพดหวานขึ้น ก็เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ในการทำเกษตรสมัยใหม่ และเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจ ได้เข้าถึงองค์ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 7 บนพื้นที่ไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทได้บูรณาการนวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ด้านการเกษตรต่าง ๆ และร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการเกษตร (Agri X) โดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ Smart Farming ต่อยอดสู่การพัฒนาให้เป็นแหล่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งอนาคต
สำหรับงานวันข้าวโพดหวาน ที่จัดขึ้นครั้งนี้ จะเป็นแลนด์มาร์กการเกษตรแห่งใหม่ ซึ่งมีกิจกรรมการเรียนรู้ให้ได้สัมผัสวิถีการเกษตรครบวงจร โดยจัดแสดงและสาธิตการใช้นวัตกรรมการเกษตร อาทิ เครื่องจักรกลเกษตรอัตโนมัติ รถเก็บเกี่ยว โดรนการเกษตร เทคโนโลยี loT Sensor Application ทางการเกษตร และบูธนิทรรศการจากบริษัทชั้นนำมากมาย เพิ่มเติมความพิเศษ ด้วยกิจกรรมการประกวดข้าวโพดหวาน การแข่งขันทำอาหารจากข้าวโพดหวาน และเปิดพื้นที่เยี่ยมชมโรงเรือน Greenhouse เทคโนโลยีจากเนเธอร์แลนด์ ปลูกมะเขือเทศลูกใหญ่แดงฉ่ำ ด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ที่ใช้พลังงานต่ำ อัจฉริยะที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ อีกทั้งยังได้สัมผัสธรรมชาติ เขาวงกตข้าวโพดหวาน อุโมงค์ผัก ชมทุ่งดอกทานตะวันสีสันสดใส ที่ผู้เข้าเยี่ยมชมจะได้รับความรู้และเก็บภาพประทับใจ และร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยงานจะมีขึ้น 3 วันตั้งแต่วันที่ 26-28 มกราคม 2566 โดยเปิดให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้าชมงานวันละประมาณ 300 คน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซันสวีท กล่าวอีกว่า การจัดงานครั้งนี้เป้าหมายหลักคือต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วย เพราะไม่เคยเห็นความใกล้ชิดระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกกับผู้ประกอบการ งานข้าวโพดหวานครั้งนี้ได้นำปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องทุกอย่างมาพบปะกับเกษตรกร ทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกษตรกรเอื้อมถึง จับต้องได้ เราต้องการให้เกษตรกรเมื่อลงทุนปลูกพืชผลผลิตแล้วต้องมีเงินเหลือเก็บด้วย
“ที่ผ่านมาซันสวีทสามารถผลิตข้าวโพดกระป๋องได้วันละ 300-500 ตัน ปัจจุบันก็เพิ่มเป็น 600 ตันและกำลังพัฒนาไปให้ถึงวันละ 1,000 ตัน เพราะตลาดมีการขยายตัวมากขึ้น แต่ละประเทศทั่วโลกต้องการอาหาร ซึ่งตลาดหลักของซันสวีทเกิน 50% เป็นตลาดในภูมิภาคเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน ตลาดยุโรป สแกนดิเนวี ก็โตแบบก้าวกระโดด อังกฤษก็ตั้งการอาหารมากขึ้น ตลาดตะวันออกกลางก็ขยายตัวดี ซึ่งปีนี้คาดว่าการส่งออกน่าจะโตกว่าปีก่อนอย่างน้อย 10% เพราะตั้งเป้าการผลิตและส่งออกที่ 2 แสนตันต่อปี”นายองอาจ กล่าวและว่า
ข้าวโพดหวานเป็นพืชที่เก็บฝักสด เป็นข้าวโพดที่มนุษย์รับประทาน เมื่อเก็บผลผลิตแล้วตอซังที่จะตัดทำปุ๋ยหมักและทำเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงวัว รวมทั้งนำไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งจะต่างจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะต้องรอให้แก่จัดและส่วนใหญ่ปลูกในป่าบนพื้นที่สูงอาจจะมีปัญหาเรื่องตอซังที่เกษตรกรมักจะเผาเพื่อทำเป็นปุ๋ย ซึ่งแม้จะเป็นข้าวโพดเหมือนกันแต่ก็จะไปคนละทางกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์.