“ดีพร้อม” เร่งยกระดับอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่ภาคเหนือดันโปรเจกต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 450 ราย คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 273 ล้านบาท และนำร่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศมุ่งสู่เป้าหมาย 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีตามเป้าของกระทรวงอุตสาหกรรม
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.67 ที่โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) จัดขึ้น โดยมีนายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงานและ”ท็อป” พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ร่วมบรรยายพิเศษ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 250 คน
นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสีเขียวให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ผ่านกลไก 3 ด้าน คือ 1) GreenProductivity 2) Green Marketing และ 3) Green Finance เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมคำนึงถึงความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนือด้วยโปรเจกต์กรีนต่าง ๆ ได้แก่ 1) เชียงใหม่เมืองคาร์บอนต่ำ2) การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3) Let’s plant meat 4) การนำกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ และ5) กลุ่มถิ่นนิยม ผ่านการจัดกิจกรรม “Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา” มุ่งการใช้นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากของเสียด้วยกระบวนการอัพไซเคิล โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 450 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 273 ล้านบาท
ทางด้านนายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความเสี่ยงและความผันผวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้เกิดปรากฏการณ์ภาวะโลกเดือด ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญพร้อมทั้งมองเห็นโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรมที่จะสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจและตอบโจทย์ตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกกรม จึงสั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งเดินหน้าผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย ผ่านกลไก 3 ด้าน คือ1) Green Productivity 2) Green Marketing และ 3) Green Finance ขานรับการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
นายภาสกร กล่าวต่อว่า ทิศทางการขับเคลื่อนทั้ง 3 ด้าน สอดรับกับการดำเนินงานของดีพร้อมที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ภายใต้นโยบาย “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) การสร้างการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนผ่าน โครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCGที่มุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการ การใช้ทรัพยากร และการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด
สำหรับกิจกรรม “Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา” ในพื้นที่ภาคเหนือในวันนี้เป็นกิจกรรมที่ช่วยเร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือเกิดความตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดเป็น Moving Green Career สร้างโปรเจกต์กรีน ดีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มรายได้ จากแนวคิดความสำเร็จของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือผ่านโปรเจกต์กรีนต่าง ๆ ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้
ได้แก่ 1) เชียงใหม่เมืองคาร์บอนต่ำ ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงพลังของทุกภาคีเครือข่ายสู่การทำงานร่วมกันเรียนรู้ร่วมกัน มองเห็นสาเหตุและเข้าใจภาพรวมของปัญหาPM2.5 จนเกิดเป็นกระบวนการแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน 2) การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากฟางข้าว มาสร้างสรรค์สู่ผลิตภัณฑ์ตกแต่งผนังที่มีความสวยงาม มีคุณสมบัติพิเศษสามารถดูดซับเสียงและเป็นฉนวนกันความร้อน ซึ่งช่วยลดมลพิษจากการเผาฟางข้าวได้ 3) Let’s plant meat โปรตีนทางเลือกโดยวัตถุดิบที่ทำจากพืช โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ช่วยสร้างความยั่งยืนในมุมมองของวัตถุดิบอาหาร 4) การนำกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะจากซองกาแฟ ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ จึงมีแนวคิดนำกลับมาใช้ใหม่โดยออกแบบเป็นกระเป๋าอัพไซเคิล กระเป๋าแฮนด์เมดจากซองกาแฟ และ 5)กลุ่มถิ่นนิยม ที่สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักและอยากพัฒนาชุมชนของตัวเองด้วยการพัฒนาให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับชุมชน พร้อมทั้งช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือ สร้างความยั่งยืนให้ระบบนิเวศอย่างสมดุล โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 450 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 273 ล้านบาท และนำร่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศมุ่งสู่เป้าหมาย 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีตามเป้าของกระทรวงอุตสาหกรรม“ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 2 หลังจากเปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 โดยภายในงานวันนี้ จัดให้มีการเรียนรู้เทรนด์ธุรกิจ องค์ความรู้ต่าง ๆ และมุมมองการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ครบทุกมิติ ขณะเดียวกัน ยังมีการบรรยายและเสวนาจากองค์กรและบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรมสีเขียว กิจกรรมคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานพันธมิตรที่มาจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้แนะนำสินเชื่อสำหรับธุรกิจรักษ์โลกจากสถาบันการเงินต่าง ๆ และกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นอีก 2 ครั้ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายในเดือนกรกฎาคมนี้” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย.