สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯภาคเหนือจัดเสวนา”เชียงใหม่พัฒนาเมือง คนเชียงใหม่จะร่วมสนับสนุนอย่างไร”ปลุกกระแสการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมุ่งสร้างเชียงใหม่เป็นเมืองน่ารัก น่าอยู่ สะดวกและปลอดภัย
สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภาคเหนือ จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “เชียงใหม่พัฒนาเมือง” คนเชียงใหม่จะร่วมสนับสนุนได้อย่างไร เนื่องในโอกาสครบรอบจุฬาฯ 100 ปี โดยเชิญนายกฤษณ์ ธนาวนิช รองผวจ.เชียงใหม่,นายสมหวัง บุญระยอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่,ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดยนายปราชญ์ วงศ์วรรณ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่
นายนายกฤษณ์ ธนาวนิช รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีการจัดทำแผนงานและงบประมาณในการสนับสนุนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งงบฯกลุ่มจังหวัด และมีแนวโน้มต่อไปในอนาคตการจัดทำงบประมาณจะต้องให้บูรณาการงบประมาณของจังหวัด กลุ่มจังหวัดและท้องถิ่นเข้าด้วยกันซึ่งงบฯปี 2561 ได้มีการเสนอขอตามแผนฯแล้ว โดยให้มองบริบททั้งภาคและยึดโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และยังอยู่ในชั้นจัดทำกรอบงบประมาณ โดยเสนอของบฯไป 3,200 ล้านบาท และในกรอบงบประมาณดังกล่าวได้จัดทำแผนศึกษาวางระบบพัฒนาเมืองซึ่งอยู่ในระหว่างการทำ TORโดยได้จัดทำคำของบประมาณไว้ 2 ส่วนคือ ศึกษาและออกแบบสนามบินแห่งที่ 2 และงบศึกษาและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานจัดระบบการจราจรรอบสนามบินเชียงใหม่ รวมงบประมาณ 30 ล้านบาท
ขณะที่นายสมหวัง บุญระยอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกฎหมายผังเมืองที่มีผลต่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ว่า ผังเมืองจะมีอยู่ 2 ฉบับคือผังเมืองรวมจังหวัดซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ โดยเฉพาะกฎหมายควบคุมอาคารซึ่งไม่ว่าจะมีการก่อสร้างใดๆ ก็ต้องยึดตัวกฎหมายดังกล่าวนี้ แต่ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ค่อยทราบและนำไปปฏิบัติ
ส่วนกฎหมายผังเมืองอีกฉบับคือผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ ประชากรกว่า 8 แสนคนแต่คาดว่าน่าจะมีประชากรแฝงมากกว่า 1.3 ล้านคนทั้งที่มาทำงานและเรียนหนังสือและยอมรับว่าเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการควบคุม ซึ่งกฎหมายผังเมืองจะเป็นตัวควบคุมประเภทของการใช้ที่ดินและความสูงของอาคาร สำหรับผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่จะไม่มีการหมดอายุหลังจากที่ประกาศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2557 แต่ให้ประเมินผลเพื่อปรับปรุงได้ โดยจะให้มีการประเมินผลในปี 2561 แต่สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ได้เริ่มทำการประเมินมาตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายผังเมืองรวมจังหวัดที่ประกาศบังคับใช้อยู่ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน
“กฎหมายผังเมืองรวมจังหวัดมีการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นและจัดทำผังตั้งแต่ปี 2547 แต่ใช้เวลาร่วม 10 ปีถึงประกาศ และแม้ว่าขณะนี้ทางจังหวัดได้ยื่นหนังสือขอให้มีการปรับปรุงกฎหมายผังเมืองรวมจังหวัดไปตั้งแต่ปี 2558 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่าทางกรมโยธาธิการและผังเมืองจะให้ปรับปรุงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดเวทีร่วมกับทางมช.ไปครั้งหนึ่งแล้วเป็นการรับฟังความคิดเห็นชาวเชียงใหม่ว่าต้องการอย่างไรโดยจัดเวที เชียงใหม่สักกำบ๋อซึ่งก็คาดว่าหากมีความเป็นไปได้ภายในปีนี้ก็คงจะได้รับทราบว่าทางกรมฯจะให้มีการปรับปรุงหรือไม่”โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
สำหรับทิศทางในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่มีการเรียกร้องเรื่องการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 นั้น หากบริษัทการท่าอากาศยานไทยหรือทอท.ไม่มีคำตอบให้ว่าจะมีการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ที่บริเวณไหน การปรับปรุงและวางผังเมืองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะในการวางผังเมืองจะต้องดูเรื่องของการจัดระบบจราจร ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ไว้ด้วย และที่สำคัญเชียงใหม่จะปล่อยให้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้แบบนี้อีกไม่ได้เช่นกัน
ทางด้านผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกิจการพัฒนาเมืองว่า เป็นการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง โดยต้องประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ ประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐและสถาบันการศึกษาเป็นแรงหลักในการผลักดันและร่วมกันเพื่อให้กิจกรรมพัฒนาเมืองเกิดขึ้นได้
นายณรงค์ ตนานุวัตร ตัวแทนกลุ่มเชียงใหม่พัฒนาเมือง กล่าวว่า การรวมกลุ่มเชียงใหม่พัฒนาเมืองได้วางเป้าหมายไว้ว่าจังหวัดเชียงใหม่จะต้องเป็นเมืองที่น่ารัก น่าอยู่ สะดวกและปลอดภัย แต่ปัญหาที่พบขณะนี้คือจะต้องมีการแก้ไขปัญหาเมืองเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนพร้อมๆ กันถึงจะแก้ไขได้สำเร็จ เพราะถ้าหากสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทำให้สภาพเมืองน่าอยู่ เศรษฐกิจของเชียวงใหม่ก็จะขับเคลื่อนและเดินไปได้เอง
ปัจจุบันมีถนนเข้าออกเมืองเชียงใหม่ 10 สายหลัก มีผู้มาเยือนทั้งปีกว่า15 ล้านคน โดยเดินทางเข้ามาทางสนามบินเชียงใหม่ประมาณ 9 ล้านคน ทางรถยนต์ 5 ล้านคน ทางรถไฟ 1 ล้านคน ในขณะที่ล่าสุดทราบว่าจังหวัดเชียงใหม่ได้งบประมาณใหม่ 4 พันล้านบาทเพื่อนำสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดินทั้งหมดและจังหวัดเชียงใหม่ ยังเป็นเมืองหลวงของรถมอเตอร์ไซด์ที่จดทะเบียนมากกว่า 3 ล้านคัน รถยนต์ประมาณ 2 ล้านคันและทุกคนใช้รถส่วนตัวกันเป็นส่วนใหญ่
“เชียงใหม่มีคนที่เข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มขึ้น การสร้างที่พักอาศัยขยายตัวออกไปทางทิศตะวันออก ทิศเหนือและทิศใต้ของเมือง โดยเฉพาะในเส้นทางสายเชียงใหม่-พร้าว,เชียงใหม่-สันทราย,เชียงใหม่-แม่ออนและเชียงใหม่-หางดง ถึงแม้ล่าสุดทางรมว.คมนาคมได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่าการแก้ไขปัญหาการจราจรของเมืองเชียงใหม่จะมี 3 ระยะๆ ที่ 1 จะมีการลงทุน 700-1,000 ล้านบาทในการจัดระเบียบสี่ล้อแดงและรถเมล์ ส่วนระยะกลาง-ยาวใช้งบประมาณ 14,000 ล้านบาทในการสร้างรถไฟโมโนเรลหรือ BRT และรถรางไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มหรือดำเนินการเมื่อไหร่ยังไม่ชัดเจน”ผู้ร่วมก่อตั้งเชียงใหม่พัฒนาเมืองกล่าวและชี้แจงอีกว่า
อย่างไรก็ตามเราจะต้องมาร่วมกันสร้างความสวยงามของเมืองเชียงใหม่ โดยปลูก ต้นทองกวาว รอบคูเมือง ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไปญี่ปุ่นก็จะไปถ่ายกับต้นซากุระ เพราะฉะนั้นคนมาเชียงใหม่ก็จะต้องมาถ่ายกับต้นทองกวาวที่คูเมือง เราจะต้องเร่งแก้ไขระบบขนส่งสาธารณะที่มีไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้รองรับการเติบโต จะปล่อยให้ระบบจราจรภายใน3ปีจะเป็นอัมพฤกษ์ 5 ปีจะเป็นอัมพาตไม่ได้
การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ คนเชียงใหม่ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่ผลักภาระไปให้ใครหรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง และการจัดเวทีสาธารณะเพื่อให้คนเชียงใหม่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและหาทางออกร่วมกันเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อการพัฒนาเชียงใหม่ไปสู่ความยั่งยืน.