ด่านชุมชน”หนองอ้อ” ลดอุบัติเหตุบนจุดเสี่ยง

ด่านชุมชน”หนองอ้อ” ลดอุบัติเหตุบนจุดเสี่ยง

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า บริเวณทางหลวงหมายเลข 1201 สวรรคโลก-ป่ากล้วย ตัดกับ 1305 หนองอ้อ-สารจิตร จ.สุโขทัย ซึ่งนอกจากจะเป็นสามแยกแล้ว ยังเป็นทางโค้งด้วย ทำให้คนนอกพื้นที่มักจะขับหลงเลี้ยวซ้ายจากทาง ต.สารจิตร อ.ศรีสัชนาลัย เข้ามา จนเกิดเหตุหลุดโค้งบ่อย สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน“ครั้งหนึ่ง คนแก่กำลังเดินทางไปวัด ถูกรถชนอัดติดกับต้นไม้เสียชีวิต เพราะไม่มีไฟส่องสว่าง ไม่มีไฟกระพริบ และไม่มีเส้นสัญลักษณ์ใดๆ ที่บ่งบอกว่าเป็นทางแยก รถนอกพื้นที่จึงมักจะไม่รู้ว่าเป็นสามแยก ซึ่งจากการสังเกตพบว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลัง 2 ทุ่ม และผู้ขับเป็นคนต่างถิ่น แต่คนในพื้นที่เป็นผู้รับปัญหา หลายหนที่รถแฉลบไปชนบ้าน ชนรั้ว หรือต้นไม้ ที่อยู่ใกล้สามแยก และรถที่ชนส่วนใหญ่ก็เป็นรถปิ๊กอัพ หรือรถ 10 ล้อ บรรทุกอ้อย มีมอเตอร์ไซด์น้อยมาก เมื่อดูข้อมูลลึกลงไปมักจะไม่ใช่คนเมา บางครั้งผู้หญิงขับด้วยซ้ำ” ชนะพล ผูกพัน ผู้ใหญ่บ้านหนองอ้อ หมู่ 4 ต.หนองอ้อ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เล่าถึงจุดเสี่ยงในพื้นที่ทางแกนนำชุมชน จึงได้หาทางออก ด้วยการทำประชาคมหมู่บ้าน โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หน่วยกู้ชีพ และชาวบ้านมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ลงมติ จนพบจุดที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน คือ ในการตั้งด่านชุมชนเพื่อบรรเทาอุบัติภัยบนท้องถนนแต่ละครั้ง ยังขาดอุปกรณ์สำคัญ ได้แก่ ไฟไซเรน กับเสื้อสะท้อนแสง และกรวย ที่ต้องทำเรื่องยืมเป็นครั้งๆ ไป พอเลิกด่านก็รีบคืน ทำให้คณะทำงานขาดความสะดวกในการปฏิบัติงานนอกจากนี้ในบริเวณสามแยก ยังมีต้นไม้รกครึ้มบดบังทัศนวิสัย ซ้ำไม่มีแสงสว่างเพียงพอในช่วงกลางคืน ไฟกระพริบ สัญลักษณ์ต่างๆ ก็ยังจำเป็นต้องจัดหา พอเริ่มทำโครงการ “การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชนบ้านหนองอ้อ” กับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการโครงการ จึงได้ทำหนังสือไปที่นายอำเภอ เพื่อส่งต่อไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และแขวงการทาง ขอให้ทางแขวงเข้ามาดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง สัญญาณไฟกระพริบ ทำลูกคลื่น ตั้งหลักกลางถนนชะลอรถ และตัดต้นไม้“ไม่น่าเชื่อว่าพอทางอำเภอและจังหวัดเห็นด้วย งานจะเดินหน้าเร็วมาก แค่วันเดียวทุกอย่างก็ถูกดำเนินการเรียบร้อย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านเคยร้องขอไปหลายครั้ง บางครั้งมีการเข้ามาทำไฟฟ้าส่องสว่าง แต่ติดได้วันเดียวกับดับอีก ไม่เหมือนครั้งนี้ ที่เกิดความร่วมมือร่วมใจกัน พอหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ชาวบ้านก็เข้าไปช่วยกันปรับปรุงภูมิทัศน์ ทาสีขาว-แดงยางรถเก่า เพื่อนำมาวางตามขอบถนนเพิ่มจุดสังเกต  รวมทั้งเก็บกวาดกิ่งไม้ที่ถูกตัดด้วย” ชนะพล อธิบายด้านอุดร ช้าอยู่ กำนัน ต.หนองอ้อ เล่าว่า โชคดีที่โครงการนี้ สอดคล้องกับนโยบายของอำเภอศรีสัชนาลัย ที่ให้ 34 หมู่บ้าน ทำ 34 ด่านชุมชนอยู่แล้ว โดยอำเภอกำหนดให้แต่ละหมู่บ้านเลือกตัวแทนหมู่บ้านละ 10 คน มาฝึกวิธีการเรียก การโบกรถกับเจ้าหน้าที่ทหารที่เชิญมาเป็นวิทยากร เมื่อถึงเวลาเข้าเวรด่านตรวจ ซึ่งทางนายอำเภอจะออกปฏิทินให้ตำบลละ 1 วัน คนที่ว่างและผ่านการอบรมมาแล้ว ก็จะมาเข้าเวร“การที่คนหนองอ้อลุกขึ้นมาเอาจริงเอาจัง จัดการจุดเสี่ยง ด้วยการตั้งด่านในชุมชน ช่วง 18.00-24.00 น. ก็ทำให้ลดอุบัติเหตุอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อคนขับรถเข้ามาเห็นว่ามีด่านตั้งอยู่ก็จะชะลอความเร็ว ระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้น แถมยังเป็นจุดที่สามารถสกัดคนเมาไม่ให้ออกสู่ถนน ผู้นำชุมชนสามารถยึดรถได้ ถ้าพบว่าผู้ขับขี่มึนเมา หรือมีสิ่งผิดกฎหมายอยู่ภายในรถ ยิ่งช่วงเทศกาล อย่างสงกรานต์ หรือปีใหม่ ทุกหมู่บ้านก็จะตั้งด่านในชุมชนของตนเอง ทำให้การขับขี่ยวดยานพาหนะปลอดภัยยิ่งขึ้น” กำนัน ต.หนองอ้อ กล่าวย้ำสถานการณ์ก่อนและหลังการแก้ไขจุดเสี่ยงในชุมชนจึงแตกต่างกันมาก โดยก่อนหน้านี้ปี 2558-2559 เกิดอุบัติเหตุ 6 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 9 ราย แต่หลังจากเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งเริ่มทำโครงการกับ สสส. เกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง รถยนต์วิ่งตัดหน้ามอเตอร์ไซด์บริเวณที่เป็นสามแยก ทำให้เกิดการชนท้าย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย โชคดีที่สามแยกจุดเสี่ยงอยู่ห่างจากโรงพยาบาลแค่ 1 กิโลเมตร ทำให้ส่งผู้ป่วยได้รวดเร็ว บรรเทาความรุนแรงของการบาดเจ็บได้ระดับหนึ่งแม้การแก้ไขอุบัติเหตุบนท้องถนนจะเป็นเรื่องยาก แต่ความพยายามของชาวบ้านที่ต่อเนื่องและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อไม่สามารถจัดการโดยตรง เช่น ตัดต้นไม้ ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง หรือแม้กระทั่งเก็บป้ายโฆษณาต่างๆ ได้ด้วยตัวของคนในชุมชนเอง เพราะมีหน่วยงานรัฐรับผิดชอบ แต่การขับเคลื่อนผ่านนโยบายของอำเภอ ก็นับเป็นอีกยุทธวิธีหนึ่งที่ได้ผล ช่วยให้อุบัติเหตุลดน้อยลงอย่างน่าพึงพอใจ.

 

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้