ถกทางแก้ราคาลำไยเครียดอินโดฯยังไม่เปิดรับออเดอร์ ล้งจีนลังเลกงสุลใหญ่จีนแนะเพิ่มช่องทางทำตลาดและปชส.ให้มาก

ถกทางแก้ราคาลำไยเครียดอินโดฯยังไม่เปิดรับออเดอร์ ล้งจีนลังเลกงสุลใหญ่จีนแนะเพิ่มช่องทางทำตลาดและปชส.ให้มาก

- in headline, จับกระแสสังคม

แก้ปัญหาราคาลำไยเครียด จังหวัดเชิญกงสุลใหญ่จีนและผู้ประกอบการร่วมหารือหวังกระตุ้นการรับซื้อ หวั่นเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดช่วงเดือนส.ค.นี้เหตุลำไยเชียงใหม่-ลำพูนออกพร้อมกันกว่า 7 หมื่นตัน ขณะที่อินโดฯยังไม่เปิดรับออเดอร์นำเข้าผู้ส่งออกเก็บยัดห้องเย็นรอ ด้านกงสุลใหญ่จีนแนะเปิดช่องทางตลาดใช้อีคอมเมิร์ซและร่วมงานแฟร์ที่จีนเพื่อประชาสัมพันธ์ ชี้หานวัตกรรมลดน้ำตาลในลำไยระบุกินมากร้อนใน

วันที่ 18 ก.ค.60 ที่ห้องประชุม POC อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประชุมในการหารือแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตลำไยปี 2560 จังหวัดเชียงใหม่ โดยเชิญนายเหริน ยี่เซิง  กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่และนายจาง จื้อ เหวิน กงสุลฝ่ายพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้ประกอบการรับซื้อและส่งออกลำไยทั้งไทยและจีน รวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากบริษัทประชารัฐ สามัคคีเชียงใหม่เข้าร่วม

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากปริมาณผลผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่ปีนี้น่าจะมีถึง 1.34 แสนตันเศษ และจากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ทราบว่าผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นลำไยที่ผลิตจากโซนกลางประมาณ 4 หมื่นกว่าตัน แต่เนื่องจากจะไปตรงกับช่วงที่ลำไยของจังหวัดลำพูนออกสู่ตลาดประมาณ 33,900 ตันจะทำให้ช่วงดังกล่าวมีผลผลิตออกมาพร้อมกัน 7.6 หมื่นตัน ซึ่งหากใช้วิธีการจัดการปกติคือ 60% สำหรับแปรรูปเป็นลำไยกระป๋อง ลำไยอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งสีทอง นอกจากนั้นก็เป็นการส่งเสริมให้เกิดการบริโภคสดภายในประเทศประมาณ 1.6 หมื่นตัน และส่งออกอีก 12%หรือ 38,000 ตัน

“อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องการส่งออก ตลาดส่งออกหลักซึ่งมีจีนกับอินโดนีเซียที่บริโภคลำไยสดยังมีปัญหา ที่อินโดนีเซียยังส่งออกไปไม่ได้ และราคารับซื้อลำไยจากช่วงต้นฤดูซึ่งราคาดีมากกิโลกรัมละ 35-38 บาท แต่ผลผลิตของเชียงใหม่เพิ่งเก็บเกี่ยวได้ 8-10% ปรากฏว่าขณะนี้ราคาลดลงกว่าครึ่ง ทางบริษัทประชารัฐสามัคคีจึงได้ขอความร่วมมือกับทางผู้ประกอบการส่งออกจีนมาหารือในครั้งนี้ เพราะถ้าหากผู้ประกอบการรับซื้อจีนเปิดรับซื้อเร็วก็จะทำให้กลไกตลาดไปได้ และราคาที่ตกลงก็น่าจะดีขึ้น”นายปวิณ กล่าว

นายประมวล เครือมณี หน.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยปี 2560 มีเป้าหมายบริหารจัดการลำไยในฤดูทั้งหมด 134,106 ตัน โดยใช้กลไกในการขับเคลื่อน 2 ส่วนคือกลไกตลาดปกติและกลไกกระตุ้นการบริโภคลำไยสด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตลาดในประเทศประมาณ 12% หรือ 1.692 ตัน ที่เหลือ 28% ส่งออก ในการส่งเสริมในประเทศให้บริโภคสดบ.ประชารัฐฯได้ประสานกับทางท็อปซุปเปอร์มาเก็ตกับบิ๊กซีไว้ โดยปีที่แล้วท็อปฯรับซื้อลำไยที่สารภี 53 ตันและในปีนี้คาดว่าจะสามารถช่วยรับซื้อได้ถึง 80 ตัน ส่วนบิ๊กซีก็กำลังเจรจากับผู้ปลูกลำไยแปลงใหญ่ใน อ.ไชยปราการอยู่

นอกจากนี้บ.ประชารัฐมีแผนกระจายผลผลิตโดยประสานกับทางปตท.ที่จะเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำลำไยไปขายได้ในปั้มปตท.ทั่วประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรชาวสวนลำไยจะไปขายที่ไหน ส่วนแผนการโรดโชว์เดิมกำหนดไว้ที่หาดใหญ่ จ.สงขลาและจ.นครราชสีมาเนื่องจากระยะเวลาจำกัดและไม่มีงบประมาณจึงตัดแผนงานส่วนนี้ออกไป หรือแต่การกระจายผ่านทางภาคเอกชนซึ่งทางหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้หารือกับบ.ประชารัฐฯแล้วโดยขอให้ทำแพคเกจน้ำหนักไม่เกิน 3-5 กิโลกรัมและขอความร่วมมือหอการค้าทั่วประเทศรับซื้อ

“ทางสภาหอการค้าฯยังจะนำลำไยไปวางจุดขายที่สนามบินเชียงใหม่ด้วย รวมทั้งได้ประสานกับทางสมาคมโรงแรมและภัตราคารในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว โดยขอความร่วมมือให้โรงแรม ภัตราคารร้านอาหารนำลำไยไปจัดเป็นอาหารว่าง ซึ่งจะทำให้แผนส่งเสริมการบริโภคสดตามแนวทางที่กำหนดไว้ร้อยละ 40 หรือ 53,643 ตันน่าจะทำได้”หน.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาพรวมการเก็บผลผลิตลำไยในพื้นที่ภาคเหนืออยู่ที่ 5% เฉพาะเชียงใหม่ประมาณ 8-10% แต่ปัญหาที่พบตอนนี้คือตลาดส่งออกที่อินโดนีเซียยังไม่สามารถส่งออกได้เพราะยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า ทราบว่าทางรัฐมนตรีของอินโดนีเซียเพิ่งจะกลับจากต่างประเทศ ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ทูตพาณิชย์ประสานอยู่คาดว่าน่าจะทันภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามทางผู้ประกอบการส่งออกไปตลาดอินโดนีเซียได้มีการรับซื้อผลผลิตลำไยไปก่อนหน้านั้นแล้ว 1 หมื่นกว่าตันและเก็บเข้าห้องเย็นไว้ ตอนนี้ก็รอใบอนุญาตนำเข้า

“เมื่อส่งออกไปอินโดนีเซียไม่ได้ทำให้การรับซื้อลำไยสดตอนนี้เกิดการชะลอ ประกอบกับผู้ประกอบการรับซื้อลำไยเพื่อนำไปอบแห้งก็ยังรอดูท่าที เพราะคาดการณ์ว่าสถานการณ์ราคาลำไยน่าจะลดลงกว่านี้จึงจึงไม่มีการรับซื้อส่งผลให้ราคายิ่งตกลง ทั้งนี้สิ่งที่เร่งด่วนที่คณะกรรมการระดับจังหวัดจะดำเนินการคือกระจายผลผลิตลำไยสดในประเทศให้มากที่สุด”พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ทางด้านนายเหริน ยี่ เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ กล่าวว่า วันนี้ได้เจอหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนซึ่งก็ทราบว่าลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญต่อทั้ง 8 จังหวัด อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศจีนเองก็มีปัญหาเรื่องผลผลิตทางการเกษตรเช่นเดียวกันเช่น ปลูกข้าวหรือผลไม้ซึ่งบางครั้งผลผลิตออกมาพร้อมกันมากๆทำให้ราคาไม่ดี และผู้ประกอบการจึงไม่มีรายได้สูง แต่เมื่อทราบแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตลำไยของรัฐบาลไทยที่ต้องการส่งเสริมการบริโภคลำไยสดในประเทศเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องราคาผลผลิต

สำหรับตลาดส่งออก ซึ่งจริงๆ แล้วนอกจากตลาดสำคัญนอกจากจีน อินโดนีเซียแล้ว ยังมีเขตพิเศษฮ่องกงจีนและเวียดนามที่นิยมบริโภคลำไยจากไทยด้วย ทางจีนเองก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการส่งออกไปตลาดจีน เอเชียหรือยุโรป แต่ทั้งนี้ปัญหาอยู่ที่การขนส่ง เพราะถ้าหากจะขนส่งลำไยสดจากไทยไปจีนโดยเฉพาะในตอนกลางของประเทศ ยังเป็นไปด้วยความลำบากในการขนส่งที่ยังเป็นอุปสรรค แต่ถ้าหากมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงได้จะทำให้การขนส่งได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ไทยจะต้องรักษาระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้ดีด้วย อย่างไรก็ตามทางไทยน่าจะมีการส่งเสริมให้มีการผลิตลำไยแปรรูปเช่นอบแห้งหรือลำไยกระป๋องเพื่อส่งออกไปจีนได้

“ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือเมื่อผลผลิตออกพร้อมๆ กันน่าจะมีการแปรรูปให้มากขึ้น เพราะจากสถิติของเราในปี 2558 เนื่องจากข้อมูลปีที่แล้วยังไม่มี มีการส่งออกลำไยสดไปจีนกว่า 4 แสนตันคิดเป็นมูลค่าถึง 9,700 ล้านบาท และลำไยแปรรูป(อบแห้ง)อีก 7 หมื่นกว่าตันประมาณ 4,800 ล้านบาทซึ่งจะเห็นว่ามูลค่าจากการแปรรูปดีกว่าลำไยสดมาก”กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่กล่าว รัฐบาลไทยควรจะไปออกโรดโชว์ต่างประเทศ โดยเฉพาะที่จีน

นายจาง จื้อ เหวิน กงสุลฝ่ายพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนอยู่เชียงใหม่มานานรับรู้ตลอดเรื่องปัญหาราคาลำไย ซึ่งขณะนี้ในการทำการตลาดในจีนจะใช้อี-คอมเมิรซ์ รัฐบาลไทยก็ควรจะใช้ช่องทางนี้ในการทำการตลาดส่งออกทั้งในและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่นงานลานนาเอ๊กซ์โปที่จัดกันในปีหน้าควรจะมีงานฟู้ดแฟร์และเชิญผู้ซื้อต่างประเทศมาร่วมงานและเปิดเจรจารับซื้อด้วย

“ปีนี้มีตัวแทนจากจีนมาร่วมงานลานนาเอ๊กซ์โปด้วยจากมณฑลยูนนาน แต่คงเป็นเพราะพื้นที่จัดงานจำกัดจึงจัดได้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจริงๆ มีบริษัทจากยูนนาน เสฉวน ฉางซีก็สนใจที่จะรับซื้อลำไยและมีตัวแทนจากจีนมาเชียงใหม่ หลายมณฑลก็เป็นบ้านพี่เมืองน้องกับจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ก็น่าจะคุยหรือเจรจาธุรกิจกันซึ่งจะนำหารือกับกงสุลใหญ่จีนฯ เพราะเขาก็อยากนำเข้าลำไยจากไทยไปจีน เพราะลำไยเป็นที่นิยมในจีนมาก”กงสุลพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่กล่าวและว่า

ปัญหาตอนนี้คือเรื่องของคุณภาพลำไย อยากจะให้มีการรักษาระดับคุณภาพ รสชาตและขนาดด้วย ตอนนี้เรารู้แต่ข้อมูลปริมาณผลผลิตของเชียงใหม่และลำพูน แต่อีก 6 จังหวัดภาคเหนือละ จึงอยากได้ข้อมูล ปริมาณผลผลิตทั้งหมดเพื่อนำเสนอข้อมูลนี้เผื่อผู้ประกอบการทางจีนจะสนใจ นอกจากนี้ทางรัฐบาลไทยควรจะส่งตัวแทนไปจรจาการค้า โดยเฉพาะตลาดใหญ่ๆ ในจีน ซึ่งที่เมืองใหญ่ๆ จะมีการจัดงานแสดงสินค้าเป็นประจำ อย่างเช่นตอนนี้ที่กวางโจว กวางสี ทางไทยน่าจะส่งตัวแทนไปร่วมงานเพื่อจะได้ประชาสัมพันธ์ด้วย

กงสุลพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่กล่าวอีกว่า ปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ทางรัฐบาลไทยส่งคณะใหญ่ไปจีนหลายเมือง ทั้งปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้และทุกเมืองมีการจัดงานใหญ่ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ซึ่งคราวนั้นก็มีการรับซื้อลำไยจากไทยไปกว่า 1 แสนตัน

ขณะที่นายเหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจีนที่มาประเทศไทยนิยมซื้อหมอนยางพาราและลำไยอบแห้งเป็นของฝาก และที่จีนก็นิยมลำไยอบแห้งของไทย แต่ปัญหาคือต้องให้ข้อมูลกับตลาดจีนถ้าหากไทยอยากจะเพิ่มยอดการจำหน่ายลำไยอบแห้งสีทองให้มากขึ้น เพราะในความคิดของจีนตอนนี้คือกินลำไยมากแล้วจะร้อนใน ดังนั้นรัฐบาลไทยควรจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ทำให้ลดปริมาณน้ำตาลในลำไยลง และหาอุปกรณ์ เทคโนโลยีที่จะผลิตลำไยแปรรูปให้ได้มากขึ้น ที่รู้ตอนนี้คือมีโรงงานอบแห้งเล็กๆ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ เทคโนโลยีไม่ทันสมัยก็น่าจะมีความร่วมมือในการพัฒนาทำลำไยอบแห้งให้เก็บไว้ได้ 2 ปี

“อย่าลืมว่าตอนนี้จีนใช้ตลาดอีคอมเมิรซ์ ซึ่งทางจีนเอง ทางอาลีบาบาก็มีการลงนามใน MOU กับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ไปฉบับหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว น่าจะใช้กลไกหรือช่องทางนี้ด้วย และทางอาลีบาบาก็ยังมีความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ของไทย น่าจะใช้ช่องทางนี้ให้เกิดประโยชน์ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามอยากให้ทางจังหวัดมีหน่วยที่ช่วยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลำไยไว้ด้วย สำหรับจีนเองตอนนี้ก็มีสถาบันข้อมูลประจำชาติของจีนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจีนกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่ ทางเชียงใหม่มีศูนย์ข้อมูลกลางในเรื่องลำยก็จะทำให้ช่วยในการวางแผนการผลิตและส่งออกได้ หรือจะทำเป็นศูนย์ผลิตลำไยอัจฉริยะร่วมกันก็ได้ เพราะทราบว่าลำไยมีปัญหาตลอด”

ด้านอาจารย์ดร.ดนัยรัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง กรณีที่ทางพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่าการขนส่งลำไยสดไปจีนส่งไม่สามารถส่งทางเครื่องบินได้นั้น จริงๆ แล้วน่าจะเป็นข้อมูลคลาดเคลื่อน ซึ่งทางจีนจะมีหน่วยงานด้านโรคพืชอยู่และจะกำหนดว่าด่านไหนที่มีพืชผลทางการเกษตรผ่านเข้ามาได้ อย่างกรณีชิงเต่า กวางโจว อาจจะไม่มีด่านกักกันและหน่วยตรวจโรคพืชนี้ คงจะมีบางสนามบินเท่านั้น เพราะที่กุ้ยหลินหรือเฉินตูจะมีด่านนี้อยู่ก็สามารถส่งออกพืชผักผลไม้ไปทางเครื่องบินได้

นายสมหมาย คำมาสาร ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนเกษตรกรกล่าวว่า สิ่งที่ต้องตระหนักในขณะนี้คือเรื่องของราคาที่จำหน่ายได้กับต้นทุนของเกษตรกร ปัจจุบันราคารับซื้อลำไยรูดร่วงเกรด AA 20 บาทต่อกก.A 15 บาท B 10 บาทและ C 5 บาท เฉลี่ยต้นทุนอยู่ที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อวานนี้(17 ก.ค.)ราคาอยู่ที่ 17-15-5-2 บาท ซึ่งเกษตรกรก็ยังพอรับได้อยู่ แต่ถ้าราคาลงต่ำกว่านี้เดือดร้อนแน่นอนและไม่รับประกันว่าจะมีการประท้วงหรือไม่ สิ่งที่อยากรู้คือทำไมจีนไม่รับซื้อสถานการณ์ในจีนมีปัญหาหรือไม่ แล้วล้งจีนที่มารับซื้อหน่วยงานไหนมีข้อมูลบ้างว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ทำไมไม่มีการรับซื้อเลย

ขณะที่นายประจวบ ทาก้า ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านปุ๊ก อ.สันป่าตอง กล่าวว่า ขณะนี้ที่ในตำบลและหมู่บ้านมีการเก็บ ส่งลำไยออกทุกวัน แต่ยอมรับว่ามีการรับซื้อน้อยลงโดยเฉพาะล้งจีนมาน้อยมากปีนี้ ของกลุ่มวิสาหกิจฯทำลำไยสดส่งออกมาเลเซียประมาณ 10 กว่าตู้คอนเทรนเนอร์และขณะนี้ทางมาเลเซียได้สั่งหยุดการรับซื้อไปเพราะมาเลเซียเองก็ส่งลำไยไปขายที่อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามพบว่าในช่วงที่ราคาลำไยตกมีคนออกมารับซื้อลำไยวันเดียว 1 แสนกิโลกรัมราคาAAอยู่ที 17 บาทต่อกก.A 13 บาท/กก.B 7 บาทและ C 2 บาท แต่วันนี้ฝนตกเก็บผลผลิตไม่ได้คาดว่าพรุ่งนี้(19 ก.ค.)ราคาน่าจะดีขึ้น

ราคาลำไยจะมีปัญหาตลอดในช่วงในฤดู เพราะช่วงนอกฤดูคนจีนยังซื้อได้ก.ก.ละ 50 บาท แต่ทำไมคนจีนไม่นิยมลำไยในฤดู ลำไยรูดร่วงที่ซื้อกันทุกวันนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 16 บาท ซึ่งทางผู้ประกอบการรับซื้อเองก็อยากรู้ว่าใครเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อ และปีนี้ก็ต้องขอบคุณล้งจีนที่เอาบุคลากรของเขามาเองในการมาตรวจคุณภาพลำไย อย่างเช่นเปิดตะกร้าตรวจดูหากไม่มีคุณภาพก็ไม่เอาทั้งหมดเลย แบบนี้แหละที่ทำให้เกษตรกรต้องทำลำไยให้มีคุณภาพมากขึ้น

ตัวแทนเกษตรกรและผู้รับซื้ออีกรายกล่าวว่า อยากให้รัฐช่วยเรื่องภาษีนำเข้าที่จีน เพราะตอนนี้ทางนายใหญ่ที่จีนก็ไม่ขยับเพราะเจอปัญหาเมื่อปี 2557 เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะตีราคาตามเกรดที่ส่งออก และในนามตัวแทนเกษตรกรอยากจะร้องขอภาครัฐให้ช่วยทำอย่างไรไม่ให้ราคาลำไยตกไปกว่านี้ เพราะปัจจุบันราคาที่รับซื้ออยู่ที่ 16-11-5-2 ขณะที่ต้นทุนในการเก็บลำไยอยู่ที่กิโลกรัมละ 2-3 บาท ถ้าราคารับซื้อต่ำสุดอยู่ที่ 2 บาทต่อกิโลกรัมก็ขาดทุนแล้ว เกษตรกรอยู่ไม่ได้

อย่างไรก็ตามนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้กล่าวสรุปในที่ประชุมว่าจากการหารือครั้งนี้ขอยืนยันว่าปริมาณผลผลิตลำไยปีนี้ไม่ได้มากหมาย มีกว่า 4 แสนตันซึ่งยังน้อยกว่าปี 2558 แต่ยอมรับว่ามากกว่าปี 2559 แต่การที่มีการสื่อสารออกไปว่าปีนี้ผลผลิตลำไยมีมากจึงทำให้ผู้รับซื้อชะลอการซื้อสำหรับที่จะนำไปแปรรูป แต่ครั้งนี้ได้ข้อแนะนำจากกงสุลใหญ่จีนหลายๆ เรื่องทั้งการเพิ่มคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่จะต้องนำไปวางแผนต่อไป อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายวันนี้(18 ก.ค.)ก็จะมีการหารือระหว่างทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่กับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ซึ่งน่าจะทำให้กระตุ้นตลาดลำไยได้มากขึ้น.

ส่วนทางด้านนายมงคล พวงทอง ชาวบ้านข่วงเปาใต้ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อค้าลำไย เปิดเผยว่า ช่วงนี้ลำไยในฤดูของจังหวัดเชียงใหม่ กำลังออกสู่ท้องตลาดโดยมีนายทุนชาวจีนเปิดล้งรับซื้อรับใยสดซึ่งต้องใส่ตะกร้ารวมน้ำหนัก 12 กิโลกรัม สถานการณ์ราคาลำไยช่วงนี้ราคาลำไยถูกมาเฉลี่ยกิโลกรัมล่ะ 15 บาท โดยช่วงต้นเดือนจะเป็นราคาลำไยนอกฤดูราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมล่ะ 50-60 บาท ทำให้ต้องนำคนงานเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้มากที่สุดเนื่องจากราคาลำไยอาจจะลดลงมากไปกว่านี้ประกอบกับผลผลิตลำไยเริ่มสุกเต็มที่และร่วง ซึ่งต้องใช้คนงานรวมกว่า 20 คนเก็บเกี่ยวผลิตผลิตให้เร็วที่สุดโดยใช้วิธีจ้างเหมาใส่ตะกร้าลำไยเป็นคู่ 2 คนตกตะกร้าล่ะ 55 บาท แทนการจ้างเหมาเป็นรายวันเนื่องจากจะได้ผลผลิตน้อย โดยก่อนที่ผลผลิตลำไยจะสุกได้ติดต่อซื้อลำไยเหมายกสวนจากเจ้าของสวนเนื่องจากเจ้าของสวนบอกว่าต้นทุนในการเก็บเกี่ยวลำไย ค่อนข้างสูง ทั้งค่าขนส่ง ค่าแรงคนงาน และอาจจะเก็บไม่ทัน หากเก็บผลผลิตเองเองจะขาดทุนอย่างแน่นอน

จากการสอบถามไปยังพ่อค้าลำไยรายหนึ่งทราบว่าช่วงนี้ราคาลำไย แบบใส่ตะกร้าซึ่งเป็นลำไยรับประทานสดราคาสูงสุดจะอยู่ที่ 22 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาต่ำสุดอยู่ที่ 6 -7 บาทต่อกิโลกรัมแล้วแต่ขนาด ราคาเฉลี่ยลำไยทั้งตะกร้า 12 กิโลกรัมจะอยู่ที่ กิโลกรัมล่ะ 15 บาท ซึ่งราคาตกลงมาอย่างมากจากช่วงต้นเดือนที่เป็นลำไยนอกฤดูซื้อขายกันที่กิโลกรัมล่ะ 50-60 บาท ส่วนราคาลำไยร่วง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการนำไปแปรูรูปเป็นลำไยอบแห้ง ราคาที่เกรด AA ราคากิโลกรัมล่ะ 17 บาท A 12 บาท B 7 บาท และถูกสุดเกรด C กิโลกรัมล่ะ 2 บาท อย่างไรก็ตามพ่อค้าลำไยกล่าวว่าราคาลำไยที่พอจะให้ชาวสวนและพ่อค้าอยู่ได้น่าจะประมาณ 30 บาทต่อกิโลกรัม หากสถานการณ์ราคาลำไยยังคงตกลงอย่างต่อเนื่องแบบนี้ มีหวังต้องคืนเงินค่ามัดจำซื้อลำไยกับชาวส่วนอย่างแน่นอนเนื่องจากต้นทุนในการเก็บเกี่ยวผลผลิตค่อนข้างสูงยิ่งไปเหมาซื้อลำไยจากพื้นที่ไกลๆทำให้มีค่าขนส่งสูงและต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้คนงานที่ขนส่งลำไยไปที่ล้ง รับซื้ออีกด้วย

 

 

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้