ทีเส็บจัดงาน Thailand Domestic MICE Mart 2018 ขณะที่เชียงใหม่เปิดตัว 7 อัศจรรย์หวังใช้เป็นตัวกระตุ้นตลาด พัฒนาศักยภาพไมซ์สู่ภูมิภาค ด้านสสปน.เผยตัวเลขกลุ่มตลาดไมซ์ 3 ไตรมาสปีนี้โตกว่าปีก่อนถึงร้อยละ 20 มีรายได้กว่า 7 หมื่นล้านบาท
วันที่ 15 ส.ค.61 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน งาน Thailand Domestic MICE Mart 2018 หรือ TDMM 2018 ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางและเป็นเวทีให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในฐานะผู้จัดประชุมสัมมนาจากทั่วประเทศ ได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าและบริการด้านการประชุม สัมมนากับผู้ประกอบการไมซ์ อาทิเช่น โรงแรม รีสอร์ท ศูนย์ประชุม สถานที่ท่องเที่ยว สายการบินและสถานที่พิเศษที่สามารถรองรับกลุ่มประชุมสัมมา ตลอดจนพันธมิตรต่างๆ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดการประชุมสัมมนาในประเทศเพิ่มขึ้น
จากนั้นนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผวจ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยนายนายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาดในประเทศ สสปน.และดร.ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า การจัดงานนี้ก็เพื่อเป็นเวทีสำคัญทางการตลาดในการส่งเสริมโอกาสและพัฒนาศักยภาพไมซ์สู่ภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์ได้มีโอกาสนำเสนอสินค้า และบริการไมซ์ในประเทศ โดยทีเสบ ได้ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ มหาลัยวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang MICE) จัดงาน Thailand Domestic MICE Mart หรือ TDMM2018 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยภายในงานมีทั้งงานสัมมนาเพื่อส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไมซ์ กิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Trade Meet) และงานเลี้ยงรับรอง โดยมีจำนวนผู้ขายกว่า 50หน่วยงาน และจำนวนผู้ซื้อกว่า 100 คน
ผู้อำนวยการสสปน. กล่าวอีกว่า ไทยเป็นที่หนึ่งผู้นำในอาเซียนของอุตสหกรรมไมซ์ และเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคก้าวทันอุตสาหกรรมไมซ์และแนวโน้มของตลาดในประเทศ ทีเส็บได้พัฒนางาน Thailand Domestic MICE Mart หรือ TDMM 2018 ให้มีรูปแบบใหม่ แตกต่างกว่าทุกครั้ง จากเดิมที่เป็นงานปิดและเป็นงาน B2B ให้มีลักษณะเป็นงาน B2C โดยจัดตั้งพื้นที่ใหม่เรียกว่า ไทยประชุมไทย รองรับงานแบบ B2C ของงาน TDMM 2018 และเข้าไปจัดตั้งไว้ภายในงานไทยเที่ยวไทยในเดือนกันยายนนี้ เพื่อนำเสนอแพ็กเกจการประชุมสัมมนาให้กับลูกค้าพร้อมๆ กับให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และสร้างโอกาสธุรกิจให้ผู้ประกอบการไมซ์ครบวงจร โดยในปีนี้เริ่มที่เชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร
“ตลาดไมซ์ในประเทศไทยเมื่อปี 2560 มีมูลค่ากว่าห้าหมื่นล้านบาท ทั้งงานแสดงสินค้า การประชุมองค์กรและสมาคมต่างๆ และการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล แต่รายได้กว่าร้อยละ 80 ยังคงมาจากงานที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ปีนี้ทีเส็บจึงเปิดกลยุทธ์ดันธุรกิจไมซ์สู่ภูมิภาค โดยเป้าหมายคือขายไมซ์เมืองหลักและเที่ยวเมืองรองและขายแพคเกจร่วมกับกลุ่มจังหวัด โดยเริ่มจากการผลักดันงานเทรดโชว์ออกสู่เมืองไมซ์ ได้แก่ เชียงใหม่ พัทยา ขอนแก่น และภูเก็ต ขยายสู่การจัดประชุมในเมืองที่มีศักยภาพใกล้เคียง เช่น เชียงราย ระยอง อุดรธานี อุบลราชธานี กระบี่ และส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวหลังจบงานไปยังเมืองรองที่เข้าถึงจากเมืองไมซ์ได้สะดวก เช่น ลำปาง จันทบุรี หนองคาย ร้อยเอ็ด พังงา เป็นต้น”นายสราญโรจน์ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
ใน 3 ไตรมาสแรกปีนี้ตลาดไมซ์ในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีผู้เข้าร่วมงานประชุมกว่า 9 แสนคนและมีรายได้จากตลาดไมซ์นี้กว่า 7 หมื่นล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 20 และตลาดที่โตมากที่สุดคือกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ซึ่งโตถึงร้อยละ 20 ขณะเดียวกันตัวรายได้จากกลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10
ขณะที่นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และแหล่ท่องเที่ยวชุมชน ทั้งยังมีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมล้านนา ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี มีโรงพยาบาลในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และมีค่ารักษาที่คุ้มค่ากว่าการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ เป็นศูนย์กลางการศึกษาทางภาคเหนือ โดยมีสถานศึกษาชั้นนำจำนวนมาก มีศูนย์ประชุมที่รองรับการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังมีสถานที่พักที่ได้มาตรฐานจำนวนมาก หลายระดับและมีการให้บริการที่ดี และที่สำคัญสามารถเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองได้สะดวกรวดเร็ว มีจำนวนสายการบินจำนวนมาก
“จังหวัดเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นเมืองเป้าหมายให้เป็นเมืองไมซ์ซิตี้ และมียุทธศาศตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนาไมซ์ซิตี้ใน 4 กลยุทธ์คือส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาดไมซ์แบบมุ่งเป้าตลาดเอเชีย ยกระดับการบริการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว สร้างโอกาสในกิจกรรมไมซ์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม พัฒนา ยกระดับบุคลากรที่มีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่และยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการจัดกิจกรรมไมซ์”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าว
ส่วนทางด้านดร.ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกของประเทศที่ประกาศแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ และได้ตั้งกลุ่มเชียงไมซ์ขึ้นมา โดยเป้าหมายไม่ใช่แค่เชียงใหม่หรือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ได้ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่น รวมทั้งจังหวัดและกลุ่มจังหวัดอื่นๆ รวมไปถึงการทำงานข้ามภาคด้วย โดยปี 2560 ได้มีการพัฒนาหลักสูตรขึ้นมา 5 หลักสูตรใน 5 วิชา มีภาคเอกชนและนักศึกษาได้เรียนเกี่ยวกับเรื่องไมซ์โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและพัฒนาแมคโครโมเดลขึ้นมา จากตัวเลือก 20 กว่าอย่าง ได้มีการคัดเลือกเหลือเพียง 7 อย่างที่เราเรียกว่า 7 อัศจรรย์แห่งล้านนาหรือ 7 Wonder โดยทั้ง 7 อัศจรรย์นี้เป็นโอกาสและตัวกระตุ้นตลาดการประชุม สัมมนาและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มไมซ์รู้สึกและสัมผัสได้ว่ายังมีสิ่งใหม่ๆ ไม่ซ้ำซากและน่าค้นหาหากมาประชุมสัมมนาและท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการมา 2 ปีและปีนี้ได้เริ่มทำการตลาด โดยในเดือนกันยายนนี้ก็จะไปร่วมจัดแสดงนิทรรศการถึง 3 งานด้วยกัน.