สมาคมระหว่างประเทศ UIA ดึงสมาชิกจากทั่วโลกประชุมที่เชียงใหม่ครั้งแรก ด้านทีเส็บเปิดความพร้อมเสน่ห์เชียงใหม่ไมซ์ล้านนา ชูศักยภาพทุกด้านรองรับการประชุมนานาชาติได้เป็นอันดับ 2 รองจากเมืองหลวง เผยปีงบฯ 60 สามารถดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้าไทยกว่า 27.1 ล้านคนสร้างรายได้กว่า 155,000 ล้านบาท
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 21 ก.ย. 60 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน นาย กฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายซีริล ริทชี ประธานสมาคม Union of International Associations นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดประชุม UIA Associations Round Table Asia Pacific 2017 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2122 กันยายนนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่
นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การที่จังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก และจังหวัดเชียงใหม่ก็มีความพร้อมในการรองรับงานประชุมนานาชาติ และได้รับความไว้วางใจให้เป็นสถานที่จัดประชุมนานาชาติจำนวนมากขึ้นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะมีทั้งความสะดวกในการเดินทางในเรื่องของสายการบินภายในประเทศ และบินตรงกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย มากกว่า 50 เที่ยวบิน มีสถานที่จัดงานที่รองรับงานประชุมได้ทุกขนาด มีห้องพักระดับ 3 – 5 ดาว รวมถึงเกสท์เฮ้าส์ และที่พักอื่นๆ รวมกันกว่า 30,000 ห้อง
นอกจากนี้เชียงใหม่ยังมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พร้อมกับความเป็นเมืองสมัยใหม่ของการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค การเป็นเมืองสร้างสรรค์ศิลปะสมัยใหม่ เมืองยอดนิยมของกลุ่มดิจิตอล นอร์แมท (digital nomads) มีแหล่งเรียนรู้ผ่านโครงการพัฒนาจำนวนมาก ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีขีดความสามารถ ในการสร้างความสำเร็จและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับงานประชุมนานาชาติ มีศักยภาพในการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานและสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่จะรองรับงานประชุมในอนาคตได้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถรองรับได้มากกว่า 20 ล้านคนต่อปี และหากมีการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ในอนาคต ซึ่งขณะนี้ก็กำลังเร่ผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่ หากเกิดขึ้นได้เร็วก็จะทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น และจะมีประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้น การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า ปัจจุบันการประชุมนานาชาติได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยถือเป็น 1 ในฐานเศรษฐกิจใหม่ของโมเดลไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาวิชาชีพ ที่ผู้ร่วมประชุมสามารถใช้เป็นฐานพัฒนาขีดความสามารถ สำหรับต่อยอดนำไปพัฒนาสินค้าและบริการ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายของผู้ร่วมสาขาวิชาชีพเดียวกันต่อยอดไปสู่การร่วมมือในการพัฒนาในอนาคต
“การดึงการประชุมสมาคมระหว่างประเทศ UIA มาจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมงานจากนานาชาติกว่า 100 คน ยิ่งไปกว่านั้น จะเกิดความร่วมมือของทีเส็บและจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านองค์ความรู้ เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการนำกิจกรรมไมซ์ไปจัดในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคและชุมชน ซึ่งในปี 2559 จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่เข้าเกณฑ์ของ ICCA จำนวน 20 งาน ถือเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 5 ปี ทำให้ติดอันดับ 6 จาก 21 เมืองทั่วภูมิภาคอาเซียน และเมื่อเทียบกับเมืองในภูมิภาคอาเซียน โดยไม่นับเมืองหลวงแล้วถือเป็นอันดับ 2 ของการเป็นเมืองที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติ และเป็นอันดับที่ 125 ของโลก ที่ทุกคนยอมรับ
ด้านนายซีริล ริทชี ประธานสมาคม Union of International Associations กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำหรับสมาคมหรือองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ได้เปิดโอกาสเรียนรู้และพัฒนาบริหารจัดการองค์กรให้เข้มแข็ง ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิคเมื่อปี 2556 มีตัวแทนจาก 91 สมาคมทั่วโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ใน 37 ประเทศเข้าร่วม
สำหรับประเทศไทยนั้น ทาง UIA เคยมาจัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในปี 2558 ครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศมากที่สุด หรือสูงกว่า ร้อยละ 50 นับตั้งแต่เคยจัดมา ผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศต่างยกย่องและจดจำในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานไมซ์ที่มีมาตรฐานระดับสากล การบริการดีเยี่ยม ความเป็นมิตรของคนไทย รูปแบบการจัดงานที่น่าประทับใจ และอาหารไทยที่มีเอกลักษณ์ ตลอดจนความเป็นมืออาชีพของทีเส็บที่ทำงานอย่างหนักร่วมกันจนงานประสบความสำเร็จ
“ในปีนี้ UIA จึงเลือกมาจัดประชุมที่ประเทศ และทีเส็บเสนอที่เชียงใหม่ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นมาจากสมาคมต่างๆ ถึง 85 คนหรือจาก 85 สมาคมจาก 22 ประเทศ และในประเทศไทยนี้ก็มีหลายองค์กรมากกว่า 200 แห่งที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทยและมีสมาชิกหลักพันที่ทำงานอยู่ที่นี่ ซึ่ง UIA เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เก็บรวบรวมองค์กรที่ทำงานระหว่างประเทศมาอยู่ด้วยกัน ปัจจุบันมีกว่า 7 หมื่นองค์กร และ UIA ได้เก็บรวบรวมงานวิจัยหรือข้อมูลขององค์กรระหว่างประเทศไว้ ซึ่งก็มีทั้งนักวิชาการและผู้สนใจที่เข้ามาค้นคว้าข้อมูลและหนังสือที่หน่วยงานและองค์กรของ UIA รวบรวมไว้ไปใช้ และการประชุมครั้งนี้ก็เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ขององค์กรในการทำงาน ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ UIA จะจัดปีละ 2 ครั้งคือที่ในยุโรปและในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งปีนี้ก็จัดที่เชียงใหม่ ประเทศไทย” ประธานสมาคม UIA กล่าว
ทั้งนี้ในแต่ละปีทีเส็บให้การสนับสนุน การจัดงานประชุมนานาชาติทั้งองค์กรในประเทศไทยและองค์กรต่างประเทศ มากกว่า 100 งาน และสามารถสนับสนุนให้สมาคมวิชาชีพของไทย ประสบผลสำเร็จในการประมูลสิทธิ์จัดงานประชุมนานาชาติรวมประมาณ 20 งานต่อปี และคาดว่าในปี 2560 จะมีนักเดินทางจากกลุ่มไมซ์เดินทางเข้าในประเทศไทยรวม 27.1 ล้านคน สร้างรายได้ 155,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,109,000 คน สามารถสร้างรายได้ 101,000 ล้านบาท และนักเดินทางกลุ่มโดเมสติกไมซ์ 26 ล้านคน สร้างรายได้ 54,000 ล้านบาท
ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวด้วยว่า จังหวัดเชียงใหม่มีการเติบโตของตลาดการประชุมและสัมมนาอย่างมาก ปี 2016 มีถึง 20 งาน ขณะที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งชูเรื่องไมซ์ซิตี้เช่นเดียวกันแต่มีงานประชุมเพียง 13 งาน และเชียงใหม่ยังเป็นตลาดสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ที่คนจีนสนใจเข้ามามากด้วย ในส่วนของงานประชุมนานาชาตินั้น จังหวัดเชียงใหม่ยังจะมีงานใหญ่ที่จะจัดขึ้นในห้วงระหว่างวันที่ 22 – 24 พ.ย. 2560 และในวันที่ 23 – 25 ก.พ. 2561 ถือเป็นงานประชุมขนาดใหญ่ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้าอีกหลายงานด้วย.