การสะสมขยะจากแต่ละครัวเรือน เมื่อนำมาทิ้งรวมกัน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่อชุมชนและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านทุ่งวัวแดง หมู่ 3 ต.แม่ใส อ.เมือง จ.พะเยา เป็นชุมชนที่ไม่มีทั้งที่เก็บขยะ และรถเก็บขยะ ซ้ำยังอยู่ติดลำน้ำ ซึ่งเป็นสาขาของกว๊านพะเยา การจัดการใดๆ จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกว๊านพะเยา คือแหล่งน้ำดิบที่ป้อนเข้าระบบประปาของจังหวัดพายัพ ยาเย็น กำนัน ต.แม่ใส และหัวหน้าโครงการชุมชนน่าอยู่บ้านทุ่งวัวแดง เล่าว่า ในภาพรวมของ ต.แม่ใส ชาวบ้านประสบปัญหาไม่มีที่ทิ้งขยะ จึงทิ้งตามไหล่ทาง หรือทิ้งเรี่ยราดทั่วไป พอฝนตกน้ำหลาก ขยะก็ไหลกลับเข้ามาในหมู่บ้าน ซ้ำยังทำให้น้ำเสีย บ้างทิ้งลงลำคลอง จนขยะไหลไปที่กว๊านพะเยา หรือบางคนก็จัดการโดยการเผา ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น จึงได้ปรึกษากับหลายฝ่าย เพราะตระหนักดีว่าทุ่งวัวแดง เป็นหมู่บ้านต้นน้ำ“โชคดีที่ได้ทำโครงการชุมชนน่าอยู่ กับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 จึงได้งบประมาณในการจัดอบรม ให้ความรู้แก่แกนนำ และชาวบ้าน ในการคัดแยกขยะ ตลอดจนทำกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างสรรค์ ทำให้ชาวบ้านสามารถคัดแยก จัดการขยะ และมองเห็นว่าขยะสร้างรายได้ เริ่มจากขยะบุญ ที่ให้ชาวบ้านคัดแยกขยะมาบริจาค แล้วใช้เครื่องจักรบดอัด พอขายได้ก็จะมีเงินกองกลางที่นำไปใช้ในกิจการของชุมชน เช่น ซื้อของเยี่ยมผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และตอนนี้กำลังเริ่มต้นธนาคารขยะ ที่ทุกสิ้นปีจะมีการปันผลกำไรจากการขายขยะ และผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากขยะ คืนให้สมาชิก ทำให้ทุกคนมองเห็นประโยชน์จากขยะได้ชัดยิ่งขึ้น ต่อไปก็จะไม่ทิ้งเรี่ยราดอีก” กำนัน ต.แม่ใส อธิบายนอกจากนี้ ยังมีการทำประชาคมทั้งตำบล ออกกฎกติกาของ ต.แม่ใส เรื่องการทิ้งขยะ ถ้าเจอคนทิ้งข้างถนน และมีหลักฐาน จะถูกปรับ 2,500 บาท ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่าคนในตำบลไม่กล้าทิ้ง แต่มีคนจากตำบลอื่นมาทิ้ง จับได้ 6 ราย และถ้าสังเกต 2 ข้างทาง หรือบริเวณหน้าบ้านแต่ละหลัง โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านทุ่งวัวแดง ไม่มีถุงดำวางแล้ว เกือบทุกครัวเรือนคัดแยกขยะ บริหารจัดการภายในครัวเรือนและชุมชนของตนเองได้นงคราญ นักหล่อ สมาชิกสภาผู้นำชุมชนบ้านทุ่งวัวแดง และผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนน่าอยู่บ้านทุ่งวัวแดง เล่าว่า เมื่อก่อนชาวบ้านไม่รู้ ก็เผาขยะ ทิ้งขยะเรี่ยราดไปทั่ว พอเริ่มต้นทำโครงการ จึงยากพอสมควร ต้อคอยพูด แนะนำ ปรับความเข้าใจให้ตรงกันมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงใช้หลายวิธีการเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาศัยกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กับกลุ่มแกนนำ และแม่บ้าน นำร่องอบรม ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงผ้าไปจ่ายตลาด ปฏิเสธถุงพลาสติก ไปไร่ไปสวนใช้ปิ่นโตใส่กับข้าว เป็นต้นต่อมาก็ให้หัวหน้าคุ้มบ้านช่วยดูแลสมาชิกในแต่ละคุ้ม ว่ามีการคัดแยกขยะในครัวเรือนหรือไม่ ถ้าบ้านไหนยังไม่ทำ ก็ชวนเขามาคุย แนะนำว่าขยะคือเงินทอง ถ้าคัดแยกแล้วจะขายเป็นเงินได้ กลุ่มผู้นำต้องคอยให้คำปรึกษา หมั่นไปเยี่ยมเยียนที่บ้าน หากบ้านไหนทำได้ก็แสดงความชื่นชม คัดเลือกบ้านต้นแบบ พร้อมกันนั้นก็ขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มเด็ก เยาวชน ให้เข้าร่วมอบรม ความรู้ ผลกระทบจากขยะต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ เพื่อให้กระจายการปฏิบัติสู่รั้วโรงเรียน ครอบครัว ขณะเดียวกันเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ยังได้ร่วมรณรงค์ ออกเยี่ยมบ้านทุกหลังคาเรือนร่วมกับสภาผู้นำ และ อสม.อีกด้วยผู้รับผิดชอบโครงการ บอกว่า เริ่มต้นจากความพยายามจัดการขยะ แต่ตอนนี้เกิดการรวมกลุ่มอาชีพขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มแม่บ้านทำน้ำยาอเนกประสงค์ กลุ่มทำปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ กลุ่มทำน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มปลุกผักปลอดสาร หรือกลุ่มขยะรีไซเคิล ใช้ขวดน้ำ กล่องกะทิ กล่องโฟม ที่พ่อค้าไม่รับซื้อ เก็บซักล้างให้สะอาด เมื่อมีกิจกรรมในหมู่บ้าน อย่างการแข่งขันกีฬา ก็นำมาประดิษฐ์เป็นหมวก ชุดเสื้อผ้า ดอกไม้ ไว้ใช้ได้อย่างสวยงามด้าน ลออ มหาวรรณศรี ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.แม่ใส เล่าว่า เมื่อ อบต.ไปประชุมสัญจรพื้นที่ใดก็จะหยิบยกปัญหาขยะขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ตลอด เพราะชาวบ้านแอบนำไปทิ้งในที่สาธารณะ หรือพื้นที่ป่าชุมชน จนส่งกลิ่นเหม็น และยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เช่น แมลงวัน แมลงสาบ ภายหลังจากทำประชาคมในตำบลเรื่องการจัดการขยะโดยเน้นการมีส่วนร่วม และให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเอง รณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะ ใช้วิธีการขยะบุญ รับบริจาคขยะประเภทเหล็ก แก้ว กระดาษ ก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่อาจเป็นเพราะชาวบ้านคิดว่าเป็นการบริจาค จึงไม่ได้พิถีพิถันในการทำความสะอาด ทั้ง อบต.เองก็มีภาระ ต้องเข้าไปรับถุงขยะถึงบ้านเกือบ 200 หลังคาเรือนส่วนขยะประเภทอื่น เช่น ขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลาย เน้นการจัดการที่ครัวเรือน และขยะติดเชื้อ ทาง รพ.สต.จะรับดูแล ที่มีปัญหาคือขยะอันตราย เมื่อก่อนชาวบ้านนำไปทิ้งตามหัวไร่ปลายนา แต่ตอนนี้ อบต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความรู้ ว่าถ้าทิ้งเรี่ยราดก็จะไหลลงแหล่งน้ำคือกว๊านพะเยา ที่หล่อเลี้ยงคนผู้คนในท้องถิ่น กลายเป็นการสร้างมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก“ดำเนินการได้ระยะหนึ่งก็พบว่ายังมีขยะพลาสติก ที่มีปัญหาอยู่ จึงรณรงค์ให้ชุมชนเลิกใช้พลาสติก โฟม ที่มีอยู่แล้วก็ให้คัดแยก โดยประสานกับบริษัทเอกชนข้างนอกเข้ามารับซื้อ ตอนแรกชาวบ้านอ้างทำไม่ได้ เพราะไม่เคยทำมาก่อน ผู้นำต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และปรับเปลี่ยนจากขยะบุญ มาเป็นธนาคารขยะ เปิดทุกวันที่ 15 ของเดือน ซึ่งชาวบ้านจะหิ้วขยะจากบ้านมาฝากถึงที่ โดยมีเยาวชนต้นกล้าความดี ร่วมกับสภาผู้นำฝ่ายบริหารจัดการขยะ มาคอยรับขยะที่ลานธนาคารในหมู่บ้าน ช่วยลดภาระลงได้มาก” ลออ กล่าวผลลัพธ์ที่เห็นชัดเจน คือสามารถลดปริมาณขยะรีไซเคิลได้ถึง 10 ตัน ในรอบปีที่ผ่านมา ส่วนขยะอินทรีย์แม้จะยังไม่ได้คำนวณ แต่ตามหลักสากล ถ้าครัวเรือนสามารถกำจัดขยะอินทรีย์ได้ ก็เท่ากับช่วยลดขยะได้ถึง 60% ของขยะทั้งหมด ชุมชนทุ่งวัวแดงจึงสะอาด น่ามอง ด้วยความตระหนัก และร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเอง.