ท่าอากาศยานเชียงใหม่ฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน กรณีเหตุผู้ก่อการร้ายปล้นยึดอากาศยาน

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน กรณีเหตุผู้ก่อการร้ายปล้นยึดอากาศยาน

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน กรณีเหตุผู้ก่อการร้ายปล้นยึดอากาศยาน เพื่อซักซ้อมและทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติ รับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน


เมื่อคืนวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินท่าอากาศยานเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีนาวาอากาศโท รณกร เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พลอากาศตรีศรัณย์ สมคะเน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองทัพอากาศ ผู้บริหาร พนักงาน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ คณะกรรมการฉุกเฉิน ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ผู้บริหารและพนักงานจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องของ ทอท. ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล โดยกรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน หน่วยงานราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฝึกซ้อมฯ และสังเกตการณ์


การฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน ทดสอบ และปรับปรุงแผนฉุกเฉินให้มีความเป็นปัจจุบัน อีกทั้งเป็นโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความคุ้นเคยในการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ ที่กำหนดในแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวางแผน ควบคุม สั่งการ ติดต่อสื่อสาร รับทราบถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เกิดประสบการณ์ในการรับมือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เกิดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง โดยคำนึงถึงการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและคงการปฏิบัติการบินไว้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินในปีนี้ เป็นการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินแบบเต็มรูปแบบ (Full Scale Exercise) บทที่ 7 เรื่อง การกระทำอันเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อการบินพลเรือน และแผนเผชิญเหตุ บทที่ 1 เรื่อง การปล้นยึดอากาศยาน ภายใต้สถานการณ์สมมติสายการบิน ถูกผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธที่ซุกซ่อนขึ้นไปทำการปล้นยึดอากาศยาน โดยมีผู้โดยสาร นักบินและลูกเรือตกเป็นตัวประกัน และต้องการลงจอด ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่


การฝึกซ้อมครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอากาศยานจากกองทัพอากาศ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานที่ปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ หน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการบินของประเทศ เครือข่ายทางการแพทย์ หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินเชียงใหม่ (Airline Operators Committee : AOC) ที่นอกจากจะสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการฝึกซ้อมแล้ว แต่ละหน่วยงานยังได้จัดบุคคลากรเข้าร่วมฝึกซ้อมครบตามองค์ประกอบที่กำหนดไว้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ว่าท่าอากาศยานเชียงใหม่มีขั้นตอนการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลความปลอดภัยทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้ามาใช้บริการได้หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในการให้บริการของสนามบิน อันจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป

You may also like

มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ภายใต้แนวคิด The Golden of Lanna

จำนวนผู้