ทุกปี เมื่อถึงช่วงฤดูฝน ชาวบ้าน และหน่วยงาน องค์กรที่อยู่ในพื้นที่ ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง มักประสบปัญหาน้ำขังใต้ถุนบ้าน และบริเวณรอบๆ บ้าน เพราะบ้านเรือนส่วนใหญ่เทคอนกรีตปิดกั้นการไหลของน้ำลงสู่ใต้ดิน เมื่อท่วมขังนานวัน ก็ส่งกลิ่นเหม็น กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อันเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก ขณะที่น้ำจากหลังคายังไหลลงมากัดเซาะร่องถนน สร้างความลำบากในการสัญจรไปมาให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ซ้ำในช่วงฤดูแล้ง ก็เกิดความแห้งแล้งจัด บางปีถึงขั้นขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค พืชผลทางการเกษตรขาดน้ำ ได้รับความเสียหาย
บุญมี ปากหวาน ผู้ใหญ่บ้านสบลืน หมู่ 7 ต.ร่องเคาะ เล่าว่า ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี เมื่อถึงวาระที่ผู้นำหมู่บ้านทุกแห่งในตำบลต้องประชุมร่วมกัน ซึ่งจัดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง ก็มีการพูดคุยกันเพื่อหาทางแก้ไข และมองไปถึงธนาคารน้ำใต้ดิน ทางองค์การบริหารส่วนตำบลร่องเคาะ จึงพาไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับธนาคารน้ำใต้ดินหลายแห่ง เพื่อให้นำกลับมาประยุกต์ใช้ในชุมชนของตนเองเมื่อกลับมาถึง แกนนำจึงได้สำรวจพื้นที่น้ำขังในชุมชนของตน แล้วร่วมมือกับชาวบ้านทำธนาคารน้ำใต้ดิน 54 แห่ง โดยขุดเจาะเป็นหลุมขนาดลึก 1 เมตร กว้าง 1 เมตร สอดท่อไว้ตรงกลาง จากนั้นวางก้อนหินไว้ บริเวณรอบๆ ท่อ และบนปากท่อ ป้องกันแมลง หรือสัตว์ต่างๆ ตกลงไป ขณะเดียวกันน้ำยังไหลลงไปได้ ปัญหาน้ำขังใต้ถุนบ้านจึงหมดไป และในภาพรวมทั้งตำบล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 17 หมู่บ้าน ก็มีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ กระจายตามพื้นที่ 21 แห่ง ทำให้น้ำไหลลงใต้ดินได้มากกว่าเดิม ยามต้องการใช้น้ำ หรือในฤดูแล้ง ชาวบ้านสามารถดูดน้ำจากธนาคารใต้ดินมาใช้ในการรดพืชผักสวนครัวได้
“สังเกตว่าเมื่อถึงช่วงฤดูแล้ง ปกติดินจะแห้งผาก ไม่มีความชุ่มชื้นเหลืออยู่เลย ถ้าปลูกพืชไว้ก็จะเหี่ยวเฉา หากเมื่อทำธนาคารน้ำใต้ดินแล้ว เบื้องต้นก็สังเกตเห็นว่าดินยังมีความชุ่มชื้นค่อนข้างมาก พืชไม่ขาดน้ำ พอถึงช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา น้ำก็ไม่ท่วมขัง ไหลซึมลงสู่ธนาคารน้ำใต้ดิน และสระน้ำที่ขุดไว้รองรับได้เร็วพอสมควร แต่จะมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องดูผลในปีต่อไป” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 อธิบายความสำเร็จที่เกิดขึ้น มาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล วัด โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แกนนำชุมชน และชาวบ้าน จึงนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของทุกคน ที่ได้ช่วยกันสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาน้ำขังใต้ถุนบ้าน รอบบ้าน ถนน รวมถึงแหล่งสาธารณประโยชน์ในชุมชน นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา ยังได้ทำตะแกรงดักเศษใบไม้ ถังเก็บเศษอาหารในครัวเรือน เป็นการดักกรองไม่ให้เศษไม้ใบไม้ และเศษอาหาร ไหลลงไปอุดตันท่อ หรือทางน้ำที่จะลงไปสู่ธนาคารน้ำอีกด้วย.