“ธนาคารพันธุ์ผัก”จากความมั่นคงทางอาหาร สู่การบริโภคที่ปลอดภัยของชาวบ้านหัวนา

“ธนาคารพันธุ์ผัก”จากความมั่นคงทางอาหาร สู่การบริโภคที่ปลอดภัยของชาวบ้านหัวนา

มื่อเทคโนโลยีทุกแขนงเจริญก้าวหน้า จนสร้างความสบายและอำนวยความสะดวกให้ผู้คนเคยชิน พฤติกรรมการบริโภคของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองหรือชนบท จึงเปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือข้ออ้างถึงการทำงานที่เร่งรีบ ทำให้พึ่งพาอาหารสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ และนิยมซื้อพืชผักตามท้องตลาดมาบริโภค โดยไม่คำนึงถึงสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อย่างเช่นที่บ้านหัวนา หมู่ 3 ต.ท่าน้าว อ.ภูเพียง จ.น่าน แม้จะเป็นชุมชนต่างจังหวัด แต่ที่นี่ก็ประสบกับความเปลี่ยนแปลงที่ว่าเช่นกัน

จากข้อมูลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าน้าว ได้สุ่มตรวจผักที่จำหน่ายในตลาดทุกปี พบว่ามีสารเคมีจากยาฆ่าแมลงตกค้าง ในผักหลายชนิด เช่น ผักกาด ผักชี ผักบุ้ง แตงกวา ฯลฯ  ซึ่งเมื่อปี 2553 มีผู้ป่วยด้วยอาหารเป็นพิษ จำนวน 3 คน สาเหตุเนื่องจากซื้อผักที่มีสารปนเปื้อนสารฆ่าแมลงจากตลาดมาบริโภค

ขณะเดียวกันอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.) ประจำหมู่บ้าน ได้สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2556 พบครัวเรือนที่ยังขาดความตระหนักในด้านการปลูกผักปลอดสารเคมีไว้บริโภคเองกว่า100 ครัวเรือน ไม่มีการปลูกผักไว้กินเอง ด้วยเหตุนี้ชาวชุมชนหัวนาจึงต้องเสี่ยงต่อการบริโภคผักปนเปื้อนสารเคมีและส่งผลกระทบด้านสุขภาพเรื่อยมา

สำหรับบ้านหัวนานั้น เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทอยู่ห่างจากตัวเมืองน่านเพียง 8 กิโลเมตร มีประชาการ 573 คน 154 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและค้าขาย เมื่อพบกับข้อมูลที่น่าตกใจนี้ ทางผู้นำหมู่บ้าน นำโดยประยงค์ ธนะมา กำนันตำบลท่าน้าว ได้เข้าร่วมโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคภายในครัวเรือน เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพและลดรายจ่ายในครัวเรือน และสร้างการมีส่วนร่วมของคนชุมชนในกิจกรรมต่างๆ“ผมกล้าพูดได้เลยว่า เมื่อก่อนคนบ้านหัวนาขี้เกียจ จะให้ปลูกผักไว้กินเองเป็นเรื่องยากมาก แม้จะมีเวลาว่างหลังจากการทำไร่ทำนาแล้วก็ตาม และเคยชินกับการขอจากบ้านที่ปลูกจนเคยชินกับคำว่า “ผักขอ” เราจึงอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้มี “ผักขอบคุณ” โดยส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนต้องปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคดีต่อสุขภาพ เมื่อเก็บกินเหลือก็นำไปขายที่ตลาด เป็นการใช้เวลาว่างหลังเสร็จสิ้นการทำเกษตรให้มีคุณค่ามากขึ้น” กำนันประยงค์ แห่งตำบลนาปัง ชี้ถึงสาเหตุของการริเริ่มโครงการ

สิ่งแรกที่ทำ คือการจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนเพื่อขับเคลื่อนโครงการจำนวน 25 คน ซึ่งมาจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. แกนนำกลุ่มอาชีพ องค์กร หัวหน้าคุ้ม กลุ่มเยาวชนและภาคีเครือข่าย ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางการทำงาน และต้องทำให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่าง ถ้าไปบอกอย่างเดียว ไม่มีใครเชื่อ พร้อมทั้งจัดตั้ง “ธนาคารพืชผักบ้านหัวนา” ด้วยกำนันตำบลท่าน้าว กล่าวถึงธนาคารพืชผักว่า จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นจุดแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ กล้าพันธุ์ผัก เพื่อให้ชุมชนนำไปปลูกที่บ้านของตนเอง โดยให้ชาวบ้านที่อยากได้พันธุ์ผักมาขอได้ แต่ต้องมีอะไรมาแลกเปลี่ยนกัน ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ หรือกล้าพันธุ์ก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้มีความมั่นคงทางด้านพันธุ์ผักในปีต่อๆ ไป

โดยขณะนี้มีชาวบ้านที่ปลูกผักไว้บริโภคมากถึง 70-80 หลังคาเรือน และปลูกผักไม่น้อยกว่า 20 ชนิด เช่น พริก มะเขือ ตะไคร้ ฟักทอง ผักบุ้ง คะน้า ผักกาด มะเขือเทศ ต้นหอม ผักชี คื่นช่าย ชะอม มะละกอ กล้วย เป็นต้น ซึ่งการปลูกทั้งหมดมุ่งเน้นการไว้บริโภคครัวเรือนเป็นหลัก หากเหลือจึงจะนำไปขายที่ตลาดกลางหมู่บ้าน ซึ่งเราได้จัดทำขึ้นเพื่อรองรับผลผลิตของชาวบ้าน และให้เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยแก่ผู้สนใจทั่วไป จนเป็นที่เข้าใจของคนในพื้นที่ข้างเคียงว่า จะหาผักปลอดสารต้องไปซื้อที่ตลาดบ้านหัวนา“ตอนนี้ชาวบ้านหัวนามีความสุขเพิ่มมากขึ้น ได้ปลูกผักไว้กินเอง มีอาหารที่ปลอดภัยดีต่อสุขภาพและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชนมากขึ้น ตลอดจนสามารถขยายผลไปยังหมู่บ้านข้างเคียงได้ด้วยเช่นกัน”กำนันตำบลท่าน้าว กล่าว

ด้าน ชนาทิป บัวทอง สมาชิกสภาผู้นำชุมชนบ้านหัวนา กล่าวว่า แรกๆ แทบจะไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน เพราะไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน ในฐานะเป็นผู้นำจึงก็ต้องทำเป็นตัวอย่างให้ดู เชิญชวนชาวบ้านให้ทำเองในบ้าน มีธนาคารพันธุ์ผักให้ อยากได้อะไรก็มาเบิกเอาไปปลูก ผักที่ปลูกกินเองแล้วเหลือก็นำมาขายยังตลาดที่เราได้จัดไว้ให้สิ่งที่ได้นอกจากสุขภาพที่ได้ทานผักปลอดภัยแล้ว คือเกิดการเปลี่ยนแปลง ครัวเรือนมีรายได้ ทุกคนไม่มีเวลาว่าง เพราะต่างขวนขวายปลูกในสิ่งที่ชอบ อีกทั้งชาวบ้านมีความตื่นตัว มีส่วนร่วมกันมากขึ้น ให้ความร่วมมือมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เราช่วยเขาอย่างจริงจังและจริงใจ  เราเป็นผู้นำถ้าไม่นำให้สุดก็ไม่มีบ้านหัวนาในวันนี้

ส่วน ลุงชวน นาปัญญา  ชาวบ้านหัวนา วัย 65 ปี กล่าวหลังจากเข้าร่วมโครงการว่า ช่วงแรกไม่ค่อยสนใจปลูกผักไว้กินเองเท่าไหร่ อาจจะมีบ้าง แต่ก็ไม่มาก ปลูกทิ้งปลูกขว้าง แต่เมื่อมาเข้าร่วมโครงการก็ได้กันพื้นที่หลังบ้านทำเป็นแปลงผัก 3-4 แปลง ปลูก คะน้า ผักบุ้ง ผักชี และผักตามฤดูกาลบ้าง ขณะเดียวกันก็เลี้ยงไก่ไข่เสริมไปด้วย ทำให้มีกิน เหลือก็นำไปขายที่ตลาดเมื่อถามว่าทุกคนปลูกผักกันหมดแล้วเอาไปขายให้ใคร ลุงชวน บอกว่า มีแต่คนข้างนอกทั้งนั้นที่เข้ามาซื้อ เพราะรู้ว่าผักบ้านหัวนานั้นปลอดสารเคมี เขาก็จะมาซื้อกันแทบทุกวัน

“ทุกวันนี้แทบจะไม่ต้องใช้เงินจ่ายค่ากับข้าว ได้กินผักปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพร่างกาย ขอบคุณ สสส. ที่ได้เข้ามาส่งเสริมให้พวกเรามีความสุขทั้งกายและใจ” ลุงชวน กล่าว

บ้านหัวนา หมู่บ้านที่ขับเคลื่อนด้วยสภาผู้นำที่เข้มแข็งที่ต้องการให้ชุมชนน่าอยู่ ซึ่งได้ใช้การส่งเสริมปลูกผักปลอดสารเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และเหนืออื่นใด คือคนในชุมชนมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ.

You may also like

ม้งดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้านประกาศปิดป่าตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ พร้อมทำแนวกันไฟตั้งแต่ 5-15 ก.พ.68

จำนวนผู้